ความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมในยุคนี้ไม่ได้เน้นแค่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างเดียวอีกแล้ว แต่ต้องใส่ใจถึงการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนด้วย การจะบรรลุเป้าหมายนี้ได้ ภาครัฐต้องประกาศความชัดเจน ภาคเอกชนให้ความร่วมมือ ประชาชนตื่นตัว เรียนรู้ และมีส่วนร่วม
แนวทาง การปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย (Industrial Reform) ที่ คุณเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม วางนโยบายไว้เพื่อสร้างโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงของโลก มี 3 พันธกิจสำคัญเร่งด่วน ประกอบด้วย 1.จัดการกากอุตสาหกรรมตกค้างอย่างเข้มงวด พร้อมยกระดับการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ 2.ปกป้องอุตสาห กรรมไทยจากการทุ่มตลาด ช่วยผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการทะลักของสินค้าไม่ได้มาตรฐาน และยกระดับขีดความสามารถของเอสเอ็มอีไทย 3.สร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคต สร้าง new S-Curve ด้วยสินค้าเกษตรเทคโนโลยีสูง พลาสติกชีวภาพ โอลีโอเคมี ยานยนต์ EV ชิปเซมิคอนดักเตอร์ และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ
ใน 3 พันธกิจเร่งด่วนดังกล่าว พันธกิจที่ต้องทำให้เห็นผลเป็นรูปธรรมอันดับแรกคือ การจัดการกากอุตสาหกรรมตกค้างทั้งระบบ เพราะปัญหาลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรมทำให้เกิดสารพิษรั่วไหลแพร่กระจายปนเปื้อนในหลายพื้นที่ ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนเป็นวงกว้าง ต้นตอปัญหามาจากพ่อค้ามักง่ายเห็นแก่ได้ ข้าราชการหลับตาข้างหนึ่ง ทิ้งให้ชาวบ้านตายผ่อนส่ง
ตั้งแต่วันแรกที่คุณเอกนัฏเข้ากระทรวง นอกจากแลกเปลี่ยนมุมมองกับข้าราชการระดับสูง ยังได้นำคณะไปลงพื้นที่บริษัท วิน โพรเสส จำกัด อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ที่เคยเกิดปัญหาไฟไหม้กากอุตสาหกรรม และมีสารพิษแพร่กระจายไปยังพื้นที่ชาวบ้านข้างเคียง เพื่อวางแนวทางแก้ปัญหาลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ
นอกจากนี้ในหลายวาระที่คุณเอกนัฏไปกำชับการทำงานของข้าราชการ ได้เน้นย้ำเสมอให้เร่งดำเนินการจริงจังในการแก้ปัญหากากอุตสาหกรรมที่ถูกกองทิ้งไว้ และเยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ
การส่งสัญญาณที่ชัดเจนแบบนี้ของรัฐมนตรีเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะคำประกาศ “จะต่อสู้กับปัญหาขยะพิษที่ทำร้ายชีวิตประชาชน ไม่อ่อนข้อให้ผลประโยชน์ ไม่เกรงกลัวต่ออิทธิพล จะเดินหน้าเร่งคืนน้ำสะอาด อากาศบริสุทธิ์ ให้คนไทย” ทำให้ข้าราชการเกิดความเชื่อมั่น ไม่กล้าละเลยหน้าที่ ทั้งเป็นยันต์ไว้ต่อกรกับผู้มีอิทธิพล และกล้าปฏิเสธผลประโยชน์สีเทา
ปัญหาลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมเกิดขึ้นสะสมมาหลายสิบปีไม่ใช่มีเพียงโรงงานเล็กๆ แม้แต่โรงงานขนาดใหญ่ในนิคมอุตสาหกรรมก็มีส่วน บางบริษัทไปว่าจ้างกำจัดขยะราคาถูก ไม่ได้มาตรฐาน เวลาเกิดปัญหาก็มีข้ออ้างโยนภาระรับผิดชอบให้บริษัทกำจัดขยะ ถึงเวลาแล้วที่ต้องรื้อระบบใหม่อย่างเข้มงวดและเป็นรูปธรรม
โรดแม็ปที่ รมต.เอกนัฏวางไว้ เริ่มจาก ไล่เคลียร์ทุกจุด ที่ลักลอบทิ้งและกำจัดกากอุตสาหกรรมไม่เป็นไปตามมาตรฐาน แก้กฎหมายเพิ่มโทษผู้กระทำผิด ให้เจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมมีอำนาจรับผิดชอบมากขึ้น เพราะหลายกรณีที่ผู้กระทำผิดไม่ยี่หระต่อการเสียค่าปรับ พร้อม นำอุปกรณ์เทคโนโลยีชั้นสูงมาใช้ในการตรวจสอบมาตรฐานสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีความแม่นยำ เที่ยงตรง และประหยัดแรงงาน
แนวคิดการจัดตั้ง กองทุนปฏิรูปอุตสาหกรรม ก็มีส่วนคาบเกี่ยวกับเรื่องนี้ ต่อไปผู้ประกอบกิจการกำจัดขยะอุตสาหกรรมจะต้องวางหลักประกัน ค่าธรรมเนียม สมทบเข้าไปในกองทุน เผื่อเวลามีปัญหาจะได้นำเงินส่วนนี้ไปเยียวยาประชาชนได้ทันที
การที่รัฐมนตรีส่งสัญญาณย้ำชัดต่อเนื่อง น่าจะทำให้การทำงานของกระทรวงเป็นเอกภาพ กระตุ้นจิตใจทุ่มเทดูแลคุณภาพชีวิตประชาชน ในเมื่อประเทศไทยประกาศต่อเวทีโลกจะเดินสู่เน็ตซีโร่ ก็ต้องไม่ปล่อยให้มีขยะอุตสาหกรรมกองมหึมากระจายทั่วอีกต่อไป.
ลมกรด
คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ