เกิด แก่ เจ็บ ตาย วัฏจักรสังขารของมนุษย์ และไม่มีใครปฏิเสธความตาย ซึ่งเป็นกฎธรรมชาติของชีวิต และแน่นอนถ้าเลือกได้ในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต มนุษย์ทุกคนย่อมปรารถนาที่จะจากโลกนี้ไปอย่างสงบ ไม่เจ็บปวด หรือทนทุกข์ทรมาน
โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางโรคมะเร็ง สังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ตั้งอยู่ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี มีการพัฒนาการดำเนินงานด้านการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายแบบประคับประคอง นับตั้งแต่ปี 2540 จากการที่มี ผู้ป่วยรายหนึ่งได้ขอคำสัญญาจากทีมพยาบาล ในเรื่องความ ต้องการและแนวทางการปฏิบัติต่อผู้ป่วยขณะเจ็บป่วยและในอนาคต จึงเป็นแรงบันดาลใจสำคัญ และมุ่งมั่นให้การดูแลผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด
และเพื่อให้การดำเนินงานเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี ได้มีการส่งทีมผู้บริหาร และทีมแพทย์ ไปศึกษาดูงานด้านการดูแลแบบประคับประคอง ณ Hernando Pasco Hospice & San Diego Hospice ประเทศสหรัฐอเมริกา และนำแนวคิด ประสบการณ์ มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับการดูแลในบริบทของคนไทย มีการปรับปรุงหอผู้ป่วยสามัญเป็นหอผู้ป่วยเพื่อดูแลแบบประคับประคอง จากนั้นได้เปลี่ยนชื่อเป็น หออภิบาลคุณภาพชีวิต (Quality of Life Care Unit : QCU) ภายใต้แนวคิด “บ้านหลังที่สองของผู้ป่วยมะเร็ง” หรือ “Second Home”
นพ.เขตต์ ศรีประทักษ์ ผอ.โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี เล่าว่า หออภิบาลคุณภาพชีวิต จัดทำขึ้นเพื่อให้การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบองค์รวม มุ่งเน้นการบรรเทาความทุกข์ทรมาน ลดอาการเจ็บป่วยและเตรียมความพร้อมของผู้ป่วยและครอบครัว เพื่อกลับไปดูแลต่อเนื่องที่บ้านอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี ภายในประกอบด้วย ห้องพักเดี่ยวจำนวน 10 ห้อง และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ห้องครัว ห้องรับประทานอาหาร ห้องประกอบพิธีทางศาสนา มุมนั่งเล่นและสวนพักผ่อน ตลอดจนการพัฒนานวัตกรรม “หุ่นน้องธัญญะ” (จดอนุสิทธิบัตร) เพื่อเป็นเครื่องมือในการสอนและฝึกปฏิบัติการเสริมสร้างทักษะแก่ผู้ดูแล ให้สามารถกลับไปดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องที่บ้านได้อย่างมั่นใจและมีความปลอดภัย รวมทั้งพัฒนาแนวทางการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง “Care map 14 days” เป็นต้น
ผอ.โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี กล่าวอีกว่า อีกกิจกรรมเสริมที่มาช่วยให้ผู้ป่วยที่รักสัตว์ โดยเฉพาะสุนัข ได้มีความผ่อนคลาย ลดความเครียด และคลายความวิตกกังวลได้ดียิ่งขึ้น เมื่อต้องเผชิญกับความเจ็บป่วย คือ “กิจกรรมเพื่อนสุนัข” โดยเลือก สุนัขสายพันธุ์ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ ที่ผ่านการฝึกจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามคำสั่งพื้นฐานได้ สุนัขทุกตัวจะได้รับการดูแลสุขภาพและได้รับวัคซีนตามเกณฑ์มาตรฐาน นอกจากนี้ยังได้รับการดูแลทำความสะอาดร่างกายในทุกๆ เช้าจากผู้ดูแลเฉพาะ ซึ่งสุนัขสายพันธุ์ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ มีความอ่อนโยน ฉลาด ร่าเริง ขี้เล่น เป็นมิตร นิสัยดี สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ง่าย ชอบได้รับคำชื่นชมจากเจ้าของ นอกจากนี้ ยังถือว่าเป็น สุนัขบำบัดที่ดี เนื่องจากมีความเด่นชัดในด้านพลังบวกอีกด้วย ผลลัพธ์จากกิจกรรมเพื่อนสุนัข เมื่อเปรียบเทียบระดับความสุขของผู้ป่วยก่อนและหลังเข้าร่วมกิจกรรมพบว่า มีความสุขเพิ่มขึ้นและระดับความเครียดลดลง
“ปัจจุบันโรงพยาบาลยังได้นำเทคโนโลยีมาใช้อำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วยและเครือข่ายผู้ดูแลให้เข้าถึงบริการได้ง่าย เช่น การใช้ระบบสื่อสารทางไกล การดูแล และติดตามเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้าน การให้คำปรึกษาแก่บุคลากรทางการแพทย์ การใช้โปรแกรมระบบการส่งต่อผู้ป่วย และยังเป็นแหล่งพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ เป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติและศึกษาดูงานด้านการดูแลแบบประคับประคอง แก่บุคลากรทางการแพทย์และผู้สนใจทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วย วันนี้เราตั้งใจที่ทำสิ่งที่พิเศษยิ่งขึ้น เพราะโครงการนี้ช่วยผู้ป่วยได้ทำตามความปรารถนาเป็นครั้งสุดท้าย เพราะทุกความ ปรารถนามีความหมาย เราอยากให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบในวาระสุดท้ายของชีวิต” นพ.เขตต์ กล่าวปิดท้าย
ทีมข่าวสาธารณสุข เห็นด้วยกับแนวทางการอภิบาลผู้ป่วยมะเร็งระยะท้าย โดยเน้นให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นตัวช่วยในการบำบัดและเยียวยาความเจ็บป่วย
เพื่อให้ลดทอนความทุกข์ทรมานในวาระสุดท้ายของชีวิต และจากไปอย่างใจเป็นสุข.
ทีมข่าวสาธารณสุข
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ