หัวเลี้ยวหัวต่อชีวิตเมื่ออำนาจการเมืองเปลี่ยน งานนายเวร พ.ต.อ.ศิริ คชหิรัญ ทำหน้าที่สุดท้าย ไปส่ง พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจขึ้นเครื่องบินลี้ภัยไปสวิตเซอร์แลนด์

แล้วก็ถูก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เรียกไปพบในห้องใหญ่ปิดไฟมืดครึ้ม

งานนี้จบแบบหักมุม พ.ต.อ.ศิริได้รับคำสั่งให้ทำงานใหม่ เป็นผู้ว่าฯยะลา

ผู้รู้สองท่าน มาโนช บุญญานุวัฒน์ ทวีป จันทรสิริ บันทึกประวัติ พ.ต.อ.ศิริ ไว้ ในสารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ.2529 สถาบันทักษิณคดีศึกษา ว่า ยะลาสมัยที่ พ.ต.อ.ศิริ เป็นผู้ว่าฯ เมื่อปี 2503 ยังเป็นเมืองป่ามีแต่กอไผ่

ถนนเป็นลูกรัง ข้าราชการที่ถูกย้ายไม่อยากไปอยู่ แต่ชั่วเวลา 2-3 ปีต่อมา ถนนสะอาดสะอ้านเริ่มมีหลายสาย มีต้นไม้สองข้างทางร่มครึ้ม มีการจัดสถานที่ราชการ ไปตามผังเมืองข่ายใยแมงมุม ที่กรมโยธาธิการวางตั้งแต่ปี2495 

ใจกลางเมืองมีวงเวียนซ้อนกัน 3-4 วง วงในเป็นศาลหลักเมือง รอบวงเวียนชั้นในสถานที่ราชการ ถนนทุกสายรวมกันที่วงเวียนหลักเมือง วงเวียนสองเป็นบ้านพักข้าราชการ วงเวียนสาม โรงเรียน โรงงานอุตสาหกรรม โรงพยาบาล

ชั้นนอกสุดเป็นย่านการค้า

ผู้ว่าฯศิริ ติดต่อเอาศูนย์ช่วยเหลือวิชาการพัฒนาชุมชนเขต 9 ศูนย์อนามัยแม่และเด็ก ศูนย์ปราบวัณโรคเขต 9 ศูนย์สงเคราะห์

คนชราภาคใต้ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย ศูนย์ประสานงานปกครองจังหวัดชายแดนใต้ และโรงเรียนตำรวจภูธร 9 มารวมอยู่ที่ยะลา

หลังการสร้างเสาหลักเมืองยะลา พ.ศ.2510 พบช้างพลายอายุ 7 เดือน ต่อมาขึ้นระวางเป็นพระยาช้างต้น นามพระเศวตสุรคชาธาร มีพระราชพิธีสมโภช 9-11 มี.ค.2511 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเป็นองค์ประธาน

สิบปี ที่ พ.ต.อ.ศิริ เป็นผู้ว่าฯ ยะลาสงบเงียบเรียบร้อย แม้มีคลื่นใต้น้ำ จากขบวนการโจรใต้และโจรจีนคอมมิวนิสต์ อยู่แถวชายแดนแต่ผู้ว่าฯศิริก็มีกลยุทธ์ ประสานให้อยู่ด้วยกันได้

คดีครึกโครม…ที่สองผู้รู้ไม่ได้บันทึก คือคดีกินป่าเบตง สินบน 3 ล้าน เป็นข่าวใหญ่ เหตุเพราะผู้ว่าฯยะลาไม่ยอม คดีบานปลายถึงขั้น พลเอก สุรจิต จารุเศรณี รมว.เกษตรฯ ถูกจับเข้าคุกและตายในคุก

ประวัติก่อนหน้า สมัยเป็นผู้กำกับเชียงใหม่ พ.ต.อ.ศิริ นำกำลังปะทะขบวนค้าฝิ่น ยิงสู้คนร้าย 80 คนสองชั่วโมง คนร้ายตาย 3 คน งานมวลชนก็เข้าถึงวัดเป็นหัวแรงสร้างพุทธสถานเชียงใหม่

ท่านปัญญานันทะภิกขุ เขียนคำไว้อาลัยในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ พ.ต.อ.ศิริ คชหิรัญไว้ตอนหนึ่ง

“คนที่ใกล้ชิดท่านอธิบดีเผ่า ศรียานนท์ มีหลายคน (อัศวินแหวนเพชร) อาตมาเป็นห่วงคิดถึง พ.ต.อ.ศิริ คชหิรัญ มาก เพราะไม่ปรากฏชื่อว่าทำอะไรอยู่ที่ไหน แต่พระพุทธองค์ตรัสว่าธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม”

แม้ว่า พ.ต.อ.ศิริ จะอยู่ใกล้ท่านอธิบดีผู้มีอำนาจอันยิ่งใหญ่ ก็ไม่เคยอ้างอำนาจนั้นไปแสวงหาอำนาจส่วนตัวหรือให้แก่พรรคพวก เพราะความมีน้ำใจเป็นธรรม เคารพธรรม บูชาธรรม เป็นเครื่องรั้งไว้

จึงเอาตัวรอดมาได้โดยธรรมแท้ๆ

ประวัติบางส่วน เท่าที่ผมคัดย่อ เกิดจากแรงจูงใจเฉพาะตัว ปี ที่ พ.ต.อ.ศิริ เกษียณอายุราชการ จากผู้ว่าฯยะลา ปลายปี 2513 ชีวิตผมก็ให้บังเอิญพเนจรไปเป็นนักข่าวยะลาห้าปี ผมจึงพอเชื่อมสถานการณ์บางด้าน

เมืองยะลาที่สงบเย็นมาเป็นเวลาสิบปี ตลอดเวลาที่ พ.ต.อ.ศิริเป็นผู้ว่าฯได้เริ่มเปลี่ยนแปลงเป็นร้อน เพราะนโยบาย “กองอำนวยการปราบปรามและป้องกันคอมมิวนิสต์” (กอ.ปค.) (ยังไม่ตั้ง กอ.รมน.)

ถึงวันที่ครูเปาะสู คนที่เคยเอาต้นไม้ไปปลูกในจวนผู้ว่าฯ หนีเข้าป่า มีข่าวยิงขบวนรถไฟโจมตีอำเภอรามัน

แล้วสถานการณ์จังหวัดชายแดนใต้ก็ร้อนระอุเรื่อยมา หาจุดผ่อนเย็นไม่เจอจนถึงวันนี้.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม