เจอที่ไหน…หนังสือมีชื่ออาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว ผมก็ซื้อ เฉพาะชุดสำนวนไทย นับแต่ภาษาสยามสำนวนไทย เสนาะเสน่ห์สำนวนไทย สนั่นสนามสำนวนไทย สื่อสนุกสำนวนไทย สืบสนองสำนวนไทย สานเสน่ห์สำนวนไทย

แต่เมื่อถึงเล่ม 7 สุดสนามสำนวนไทย (พื้นภูมิเพชร พิมพ์ พ.ศ.2564) ผมไม่ทันได้ซื้อ อาจารย์ส่งมาให้ มีลายมือเขียน…มอบให้คุณกิเลนด้วยไมตรีจิต พร้อมลายเซ็น ตอนนั้นก็ได้แต่ปลื้ม…

จนลืมว่านักเลงภาษารุ่นครูล้อม ฝากคำลามากับชื่อหนังสือ เล่มสุดท้าย

อาจารย์ล้อมเองเคยบอก เพชรบุรีเปรียบเสมือนตักศิลาของกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวร สมเด็จพระเอกาทศรถ เคยเสด็จมาประทับ เพื่อฝึกปรืออาวุธ ซ่องสุมกำลังจัดทัพ เรียนตำราวิชัยสงคราม…ครั้งละนานๆ

หลักฐานรองรับ มีตำราสมุดไทยใบลานสะสมตามวัด ตามบ้านคนจำนวนมาก เช่น ไตรภูมิพระร่วง พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์

คนเพชรบุรีเดิมมีวัฒนธรรมเฉพาะถิ่น บวชเป็นภิกษุระยะหนึ่ง เมื่อจะสึกหาลาเพศ จะต้องคัดลอกหนังสือสมุดไทยไว้เป็นสมบัติวัด 1 เล่ม และประดิษฐ์งานช่างฝีมือ ตู้ โต๊ะ เตียง ตั่ง ไว้วัดอีก 1 ชิ้น

คตินิยมนี้ เพชรบุรีจึงมีตำราวิชาการทุกสาขา ตำรายา ตำรานวด ตำราทำศึก ตำราช่าง ตำราดูดาว ดูแมว ดูวัว ปลูกข้าวทำขวัญ ฯลฯ

ในหนังสือเล่มอำลา…ผมไล่ทีละหน้า…จนเจอสำนวน “ผายลม” อาจารย์จรูญ หยูทอง เขียนถึงอาจารย์ล้อม…สมัยหนึ่ง มีคำกล่าวขานในแวดวงวิชาการภาคใต้ วงเสวนาคึกคักครึกครื้นเร้าใจ ต้องมี “สามแก้ว” ชวน เพชรแก้ว เปลื้อง คงแก้ว และล้อม เพ็งแก้ว

สามคนนี้ ลีลาท่าทีโผงผาง ตรงไปตรงมา ที่เรียกว่านักเลง

ผมตั้งใจอ่าน อยากรู้ลูกเล่นลูกฮาของอาจารย์ จะเรียกรอยยิ้ม หรือเสียงหัวเราะ สมคำรํ่าลือแค่ไหน?

อาจารย์ล้อม เริ่มต้น คนอ่านนิยายกำลังภายในคงจำได้ เมื่อตัวในเรื่องขัดแย้งตอบโต้กัน มักเทียบคำพูดอีกฝ่าย “ผายลมมารดาท่าน” ซึ่งจะทำให้อีกฝ่ายเคืองแค้น จนลงมือใช้พลังเข้าหักหาญ

ที่จริงหากใช้ “ผายลม” ให้หมายถึงการระบายลมออกทางทวารหนัก (ตูด) ที่ชาวบ้านเรียก “ตด” ก็ไม่จำเป็นต้องนำเสนอในคอลัมน์ “เสน่ห์สำนวนไทย ”ของสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ นั่นคือความหมายที่เป็นรูปธรรม

แต่เมื่อให้ความหมายเป็นลักษณะเปรียบเทียบ จงใจให้เป็นคำพูดที่ไม่สร้างสรรค์ หยันเหยียด ก่อให้เกิดความเคียดแค้น ชิงชัง ก็เป็นการใช้ลักษณะสำนวน จำเป็นต้องนำมาบอกกล่าว

ธรรมชาติของตดนั้น ไม่ว่ามาจากใครย่อมเหม็นเป็นวิสัย น.ม.ส.กล่าวใน “จดหมายจางวางหร่ำ” “ถึงสาวๆที่ว่าสวยสด ไม่เชื่อลองตดออกมาเถอะ เหม็น” ดังนั้นจึงเหมาะที่จะใช้เปรียบเทียบคำพูดเสียๆ ที่หลุดจากปากของใคร

อ่านถึงตรงนี้ ผมโทร.ไปถามเกลอ น.นพรัตน์ ได้ความรู้มาอีกหน่อย ว.ณ เมืองลุง ใช้สำนวนผายลมมารดาท่าน น.นพรัตน์ก็ใช้ ใช้ผายลมมารดาท่านบ้าง ผายลมบ้าง ตามบริบทของเรื่อง

แต่ตามต้นฉบับภาษาจีนเต็มๆคือ ผายลมสุนัขมารดาท่าน “ตดสุนัขมารดา” ผมฟังมาว่าคนจีนเขาฟังแล้วเจ็บจี๊ดกว่า “ตดมารดา” ขึ้นไปอีก

อาจารย์ล้อมเขียนเรื่องนี้ เมื่อ 17 ธ.ค.2558 มีข่าวทูตสหรัฐฯแสดงท่าทีไม่พอใจที่ไทยส่งคนจีนสองคนที่หมดวีซ่ากลับประเทศคนไทยก็เป็นเดือดเป็นแค้น บางคนเรียกทูต “ผายลม” ซึ่งก็น่าสอดคล้องดี

อาจารย์ล้อมจบเรื่องนี้ดังนี้ “ผายลมมารดาท่าน” ในนิยายกำลังภายใน เป็นภาษาวรรณกรรม มีความเรียบร้อยรื่นหู แต่หากเป็นภาษาชาวบ้าน เขาย่อมพูดกันตรงๆว่า “ตดแม่มึง…”

หลุดออกมาแค่สามคำ เรียกเสียงฮาฮือได้ดังใจ นี่ไง! นักเลงภาษาผู้ยิ่งใหญ่เมืองเพชร…ตัวจริง

พิธีพระราชทานเพลิงศพ อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว เวลา 16.00 น. วันที่ 24 พ.ย.2567 นี้ ที่วัดยาง เพชรบุรี ครับ ถึงวันนั้นกายสังขารอาจารย์ไม่มี แต่วิชาอาจารย์ล้อมยังเป็น “อมตะ” อยู่ในหนังสือ ตามความเชื่อว่าหนังสือดีไม่มีวันตาย.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม