งานเสวนา “ความก้าวหน้าและข้อท้าทายในการดำเนินงานตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กของประเทศไทย” น.ส.กอบกาญจน์ ตระกูลวารี ผอ.บริหารสหทัยมูลนิธิและผู้ประสานงานเครือข่ายการเลี้ยงดูทดแทน กล่าวว่า ประเทศไทยมีการส่งเสริมความเป็นครอบครัวที่สำคัญ แต่กระบวนการส่งเสริมให้เด็กเติบโตในครอบครัวที่ดีมีคุณภาพยังมีน้อย โดยเฉพาะทัศนคติผิดๆในการนำเด็กไปอยู่ในสถานสงเคราะห์ทั้งที่เป็นสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการถูกละเมิดและทารุณกรรมทุกรูปแบบ มีความเสี่ยงที่จะมีภาวะพร่องรัก โดยเฉพาะเด็กต่ำกว่า 6 ปีที่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อพัฒนาการเด็กในอนาคต ที่สำคัญไม่ควรสนับสนุนให้มีสถานสงเคราะห์เด็กจำนวนมาก ขณะนี้ภาครัฐมีถึงกว่า 30 แห่ง ภาคเอกชนอีกมากมาย เฉพาะภาคเหนือมีถึง 300-400 แห่ง มีเด็กถึง 120,000 คนที่อยู่ในการดูแลแบบสถานสงเคราะห์ เป็นสิ่งที่ผลักเด็กออกจากครอบครัว ทั้งที่การดูแลเด็กจากสถานสงเคราะห์คุณภาพต่ำแต่มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก โดยภาครัฐเฉลี่ยถึง 12,313 บาท/ คน/เดือน ขณะที่ค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูเด็กทั่วไปอยู่ที่ 3,500 บาท/คน/เดือน เงินช่วยเหลือเด็กในครอบครัวอุปถัมภ์ประมาณ 2,395 บาท/คน/เดือน แม้แต่การประชาสัมพันธ์ให้คนไปบริจาคเท่ากับการสนับสนุน แม้แต่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ยังขาดการบูรณาการภายใน โดยเฉพาะโครงสร้าง พม. ซึ่งกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) แยกส่วนกับกรมกิจการสตรีและครอบครัว (สค.) ทำให้ขาดทักษะการทำงานเชิงวิชาชีพ ระบบการทำงานเชื่องช้าไม่ตอบสนองต่อวิกฤติปัญหาที่เกิดขึ้นมากมาย
น.ส.กอบกาญจน์กล่าวว่า ทางออกปัญหาต้องสร้างความตระหนักถึงความสำคัญในการให้เด็กเติบโตในครอบครัว จัดสรรงบประมาณเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว มีการบูรณาการร่วมกันระหว่างรัฐกับเอกชน รัฐไม่ต้องจัดบริการเองแต่จัดสรรงบประมาณสนับสนุนภาคประชาสังคมในการจัดบริการให้คำปรึกษาการเลี้ยงดูบุตร กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นจัดบริการที่คล่องตัว และรณรงค์ให้มีครอบครัวอุปถัมภ์ที่มีมาตรฐานเพียงพอ.
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ