จากการประชุมวิชาการสภากายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย ปี 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ปาฐกถาเรื่อง วิชาชีพกายภาพบำบัดกับการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน ตอนหนึ่งว่า นักกายภาพบำบัดเป็นวิชาชีพที่มีความสำคัญต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกระดับ โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจำเป็นที่จะต้องมีผู้ดูแลในระยะยาวและต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามในปัจจุบันจำนวนนักกายภาพบำบัดจดทะเบียนรับใบประกอบวิชาชีพมีจำนวน 14,000-15,000 คน ซึ่งยังไม่เพียงพอ ทั้งนี้ สธ.ได้วางเป้าหมายที่จะเพิ่มนักกายภาพบำบัดอีก 2 หมื่นคน เพื่อที่จะดูแลประชาชนเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันภาระงานก็จะเบาลง

รมว.สาธารณสุข กล่าวต่อไปว่า จากนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องการรณรงค์ลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ซึ่งแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรค NCDs และโรคอื่นๆที่เกี่ยวข้องกว่า 4 แสนคน เราจึงต้องป้องกันผู้ป่วยรายใหม่ด้วยการสอนให้รู้วิธีการรับประทานอาหารที่ถูกต้อง เมื่อคนไทยสุขภาพดีขึ้นก็จะมีอายุยืนขึ้น ดังนั้น จำเป็นจะต้องมีผู้ดูแลให้สุขภาพดีในระยะยาว จึงเป็นบทบาทสำคัญของนักกายภาพ แต่เมื่อดูจำนวนคนไทยที่เข้าไปใช้บริการในฟิตเนสของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ที่มีอยู่ 1,045 แห่ง มีคนเข้าไปใช้เฉลี่ยไม่เกินแห่งละ 200 คน หรือมีประมาณ 2 แสนคน จากจำนวนประชากรไทย 70 ล้านคน ซึ่งถือว่าน้อยมาก

“ทุกวันนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพฯ (สปสช.) ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดสรรงบประมาณสนับสนุนให้ประชาชนออกกำลังกายหัวละ 45 บาท กลุ่มเป้าหมายประชากร 50 ล้านคน หรือประมาณ 2,000 ล้านบาท แต่พบว่ามีการใช้งบประมาณส่วนนี้ไม่ถึง 75% ต่อปี เราจึงต้องช่วยกันรณรงค์ให้คนไทยมาออกกำลังกายเพิ่มมากขึ้นกว่านี้” นายสมศักดิ์กล่าวและว่า จากการพูดคุยกับนายกสภากายภาพบำบัดและมีข้อเสนอว่ากลุ่มโรคที่ สปสช.สนับสนุนให้มีนักกายภาพบำบัดฟื้นฟูหลังจากที่ออกจากโรงพยาบาลแล้วในระบบบัตรทอง ได้แก่ เป็นระยะเวลา 6 เดือน สโตรก กระดูกเชิงกรานหัก โรคหัวใจ ไขสันหลังบาดเจ็บ อาจจะไม่เพียงพอควรเพิ่มเป็น 1 ปี ซึ่งส่วนตัวก็เห็นด้วยและรับที่จะไปหารือในบอร์ด สปสช.