แพทย์ขอนแก่น เตือนกรณีพบการระบาด “โรคไอกรน” เด็กต่ำกว่า 1 ปี มีโอกาสเสียชีวิตสูง หากติดเชื้อ แนะควรฉีดวัคซีนป้องกันตั้งแต่ตอนฝากครรภ์

จากกรณีที่ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงกรณีพบการระบาดของโรคไอกรน โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ระบุว่า สหรัฐอเมริกาพบการระบาดเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า ว่า โรคไอกรนเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Bordetella pertussis และสามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน

ดังนั้นหากพื้นที่ใดที่มีการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรมากก็จะไม่มีปัญหา แต่จะมีปัญหาในพื้นที่ที่การครอบคลุมวัคซีนต่ำ เช่น พื้นที่ที่มีเด็กต่างด้าว พื้นที่ติดขอบชายแดน บริเวณ อ.แม่สอด จ.ตาก ที่พบการระบาดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการระบาดในเด็กเล็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีน

แต่ครั้งนี้มีการพบเพิ่มขึ้นคือในวัยรุ่น ที่ได้รับวัคซีนป้องกันแล้วแต่ภูมิคุ้มกันลดลง ทำให้สามารถรับเชื้อได้ และมีอาการในระบบทางเดินหายใจส่วนบน คือ ลำคอ แต่อาการจะไม่มาก อย่างกรณีที่พบผู้ป่วยมากขึ้นในตอนนี้ อาจเกิดจากช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ที่คนไปรับวัคซีนโควิด-19 กันมาก แต่ได้รับวัคซีนพื้นฐานลดลง ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วโลก ทำให้โรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน กลับมาพบมากขึ้นหลังการระบาดของโควิด-19

ล่าสุด เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 14 พ.ย. 2567 ผู้สื่อข่าวได้เข้าพบ แพทย์หญิงจิรา ศักดิ์ศศิธร รองผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น เผยว่า โรคไอกรนนั้น ส่วนใหญ่จะเกิดกับเด็กเล็ก ที่มีอายุต่ำกว่า 1 ขวบ หรือในกลุ่มผู้สูงอายุ ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูง โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นโรคหอบหืด โรคปอดเรื้อรัง และโรคหัวใจ ถ้าโรคไอกรนติดกับคนกลุ่มเหล่านี้ จะเป็นภาวะเสี่ยงสูง

โดยอาการเริ่มแรกคล้ายไข้หวัด มีอาการไอ มีน้ำมูกและมีไข้ต่ำๆ ซึ่งสาเหตุการเกิดโรคนั้น เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรีย โดยเชื้อตัวนี้สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน ในกรณีสัมผัสใกล้ชิดระหว่างคนอยู่บ้านเดียวกันกับคนติดเชื้อ จะมียาที่ป้องกันและยาที่รักษาเป็นยาตัวเดียวกัน ถ้าเป็นต่อกัน 1-2 สัปดาห์อาการไอจะรุนแรงขึ้น ไอเป็นชุดๆ หายใจเข้าจะมีเสียงดังวูด สลับกันเรื่อยๆ เรียกว่าเป็นโรคไอกรน กรณีเด็กต่ำกว่า 1 ขวบ อาจจะมีอาการรุนแรงได้ บางคนไอมากจนอาเจียน หรือไอจนตัวเขียวและเสียชีวิตได้

หากเกิดในผู้ใหญ่ หรือเด็กโตที่ติดจะไม่ค่อยมีอาการรุนแรง อาจจะมีอาการคล้ายไข้หวัด ถ้าเด็กไอเยอะมีอาการมากกว่า 10 วัน หรือมีอาการไอรุนแรงควรจะพบแพทย์ สำหรับวิธีการป้องกัน ควรป้องกันตั้งแต่แม่ตั้งครรภ์ เพราะตอนตั้งครรภ์จะมีการฝากครรภ์ตามที่แพทย์นัด จะมีการฉีดวัคซีนนอกจากวัคซีนบาดทะยัก แล้วยังจะมีการฉีดวัคซีนไอกรนจะฉีดในช่วง 20 สัปดาห์ขึ้นไป ถ้าฉีดแล้วจะสามารถให้ภูมิคุ้มกันกับลูกที่ออกมาได้ หลังจากเด็กคลอดออกมา ควรจะได้รับวัคซีนมีทั้งหมด 5 เข็ม จะฉีดตอน ได้ 2, 4, 6 เดือน และตอน 1 ขวบ 6 เดือน และตอน 4 ขวบ ซึ่งจะอยู่ในวัคซีนคอตีบไอกรนบาดทะยัก ฉีดได้ตามสถานบริการของรัฐฟรี

รองผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันประเทศไทยปี 67 ตั้งแต่ 1 ม.ค. – 13 พ.ย. 67 มีการติดเชื้อไอกรน 1,300 คน คิดเป็น 44 ต่อแสนประชากร ส่วนมากจะติดเชื้อในเด็กเล็ก 0-4 ขวบ ประมาณ 800 คน 5-9 ขวบ ประมาณ 150 คน ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 สถิติ 5 ปี ตั้งแต่ปี 63-67 มีติดเชื้อ 3 ราย ปี 64 ขอนแก่นติดเชื้อ 1 ราย ปี 67 ติดเชื้อ 2 ราย ที่ขอนแก่นและร้อยเอ็ด แต่ที่ขอนแก่นยังไม่มีการเสียชีวิตทั้ง 3 ราย แต่ในภาพรวมประเทศ 1,300 ราย เสียชีวิต 2 ราย ซึ่งทั้ง 2 รายมีอายุต่ำกว่า 1 ขวบ.