“แบงค์ เลสเตอร์” เสียชีวิต หลังดื่มเหล้าแบบเพียว รวดเดียวหมดแบน มีการอ้างว่าดื่มเพื่อแลกเงิน 30,000 บาท “ทนายเกิดผล” ชี้ต้องไปดูเจตนา หากมีคนจ้างจริง มีความผิด โดยเล็งเห็นผลถึงแก่ความตาย แต่เรียกเงินชดเชยยาก คล้ายคดี “ลัลลาเบล”
เวลาประมาณ 3.40 น. รุ่งเช้าวันที่ 26 ธ.ค. 67 “แบงค์ เลสเตอร์” อินฟลูฯ และคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่โด่งดังจากแร็ปขายพวงมาลัยเลี้ยงคุณยาย เสียชีวิตแล้ว หลังถูกจ้างดื่มเหล้าหมดแบน เบื้องต้นระบุสาเหตุเกิดจากการดื่มเหล้าให้หมดแบน แลกเงิน 30,000 บาท
การกระดกเหล้ารวดเดียว ทำให้แอลกอฮอล์ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นรวดเร็ว เสี่ยงต่อการสำลัก อาเจียน หายใจไม่ออก หยุดหายใจ หมดสติ ขณะเดียวกัน กระแสในโซเชียล มีการถกเถียงถึงข้อกฎหมาย ที่สามารถเอาผิดกับผู้จ้างงาน และให้ แบงค์ เลสเตอร์ ดื่มเหล้ารวดเดียวหมดได้หรือไม่
ทนายเกิดผล แก้วเกิด ทนายความชื่อดัง ให้ข้อมูลกับทีมข่าวว่า กรณีการจ้างดื่มเหล้าจนเสียชีวิตของ แบงค์ เลสเตอร์ มีความใกล้เคียงกับคดี “ลัลลาเบล” ที่มีการจ้างดื่มเหล้า แล้วเสียชีวิต ศาลมีคำตัดสินว่าผู้จ้าง มีเจตนาฆ่าคนโดยเล็งเห็นผลได้ คดีลักษณะนี้ คนให้ดื่มย่อมรู้อยู่แล้วว่า การจ้างให้ดื่มเหล้าปริมาณมากในเวลาอันรวดเร็ว มีโอกาสทำให้เสียชีวิต เพราะมีผลทางการแพทย์ยืนยันจำนวนมาก ซึ่งกรณีของ “ลัลลาเบล” มีแอลกอฮอล์สูงกว่า 300 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์
“กรณีนี้ เป็นประเด็นที่อาจเข้าข่ายความผิดเล็งเห็นผลถึงแก่ความตายได้ แต่กรอบความผิดก็ขึ้นอยู่กับผู้ที่จ้าง เข้าข่ายการบังคับขู่เข็ญจูงใจ หรือมีเงื่อนไขที่ผู้ตายรับเงินผู้จ้างมาแล้ว ซึ่งผู้จ้างจะเข้าข่ายความผิด แต่ถ้าผู้เสียชีวิตดื่มเอง โดยไม่มีใครบังคับจะไม่มีผู้กระทำผิด”
การตกลงในการจ้างใดก็ตาม ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ข้อตกลงต่างๆ ก็เข้าข่ายโมฆะทางกฎหมาย เช่น ถ้าตกลงให้ดื่มเหล้า แต่ผู้ที่ดื่มกินจนตาย ผู้จ้างมีความผิดอยู่ดี
กรณี “แบงค์ เลสเตอร์” ถ้ามีการสืบทราบว่ามีการบังคับ ทั้งที่คนดื่มบอกว่าไม่ไหวแล้ว แต่ยังทยอยให้ดื่ม ผู้ที่บังคับถือว่ามีความผิด ถ้าเบาสุดอาจเข้าข่ายความผิดมีเจตนา ให้ผู้อื่นเสียชีวิต ดังนั้น คลิปที่ถ่ายเป็นคอนเทนต์ ถือเป็นหลักฐานสำคัญ ที่พิสูจน์ว่ามีผู้บังคับให้ดื่มหรือไม่
คนที่รับจ้างงาน ก่อนตอบรับงาน ต้องมีความเข้าใจก่อนว่างานที่จ้างให้ไปทำอะไร ถ้าตกลงกันเพียงแค่เอนเตอร์เทน หรือชงเหล้า แต่พอไปงานจริง กลับมีการบังคับให้ดื่มเหล้า ผู้รับงานสามารถปฏิเสธได้ ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามสิ่งที่นอกเหนือจากที่ระบุไว้ได้
“คนที่รับงานต้องพึงระวังไว้เสมอว่า การสมัครใจทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่อยู่นอกเหนือข้อตกลง อาจเรียกร้องค่าเสียหายไม่ได้ เช่น ยินยอมที่จะดื่มเหล้าจนเสียชีวิต ครอบครัวผู้ตายไม่สามารถเรียกรับเงินชดเชยได้ เพราะทางคดีแพ่ง ถือว่าเป็นการยอมรับที่จะเสี่ยงภัยเอง ซึ่งผู้จ้างมีความผิดด้านอาญา”
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ