ขายตรงในคราบ “แชร์ลูกโซ่” โมเดลธุรกิจที่เล่นกับความหวังของคน อาจจะกล่าวได้ว่าแทบจะ…ทุกยุคทุกสมัยก็มีคนตกเป็น “เหยื่อ” อยู่ร่ำไป โดยเฉพาะโมเดลธุรกิจสุดคลาสสิก ระดับตำนานอย่าง “แชร์ลูกโซ่” ที่อาศัยคำว่า “ธุรกิจขายตรง” บังหน้า ผ่านวิวาทะชวนเคลิ้ม….

“เชื่อไหม ชีวิตคุณจะเปลี่ยนไป” หรือ “ขยันผิดที่ 10 ปี ก็ไม่มีวันรวย”

ไม่เฉพาะภัยข้างต้นที่ว่านี้ ปัจจุบัน “มิจฉาชีพออนไลน์” ยังมีหลากหลายแง่มุม ท้าทายการป้องกัน ปราบปรามเป็นอย่างยิ่ง

ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน การติดต่อสื่อสารและการทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ สามารถทำได้ง่ายเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส ขณะที่ข้อดีของเทคโนโลยีเหล่านี้ช่วยให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น “มิจฉาชีพ” ก็ได้พัฒนากลยุทธ์ที่ซับซ้อนขึ้นในการหลอกลวง…ฉ้อโกงผ่านช่องทางออนไลน์

ไม่ว่าจะเป็นการหลอกลวงข้อมูลส่วนบุคคล การสร้างเว็บไซต์ปลอม หรือการใช้สื่อโซเชียลเพื่อทำให้เหยื่อตายใจ มิจฉาชีพออนไลน์สามารถทำให้ตกเป็น “เหยื่อ” ได้ง่ายและเกิดความเสียหายอย่างมหาศาล

ฉายภาพเป็นความรู้รูปแบบภัยมิจฉาชีพออนไลน์ที่พบบ่อยๆ เริ่มจาก “ฟิชชิง (Phishing)” รูปแบบหนึ่งของการหลอกลวงที่มุ่งเน้นการขโมยข้อมูลส่วนตัว มิจฉาชีพจะส่งข้อความ อีเมล หรือ SMS ปลอมแปลงเป็นบริษัท…หน่วยงานที่น่าเชื่อถือ เมื่อเหยื่อกดลิงก์ที่แนบมาจะถูกพาไปยังหน้าเว็บปลอมซึ่งดูเหมือนจริง

เพื่อให้เหยื่อกรอกข้อมูลสำคัญ เช่น ชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน หมายเลขบัตรเครดิต และรหัสผ่าน OTP ที่ใช้ในการทำธุรกรรมออนไลน์

ถัดมา…การหลอกลวงการลงทุน มักใช้วิธีการชักชวนลงทุนในโปรแกรมที่อ้างว่าให้ผลตอบแทนสูง รวดเร็วและง่ายดาย เช่น การลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล โครงการลงทุนที่การันตีผลกำไร หรือหุ้นต่างประเทศ

“มิจฉาชีพมักโฆษณาดึงดูดด้วยภาพของคนที่มีชีวิตหรูหราเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือ ทำให้เหยื่อรู้สึกอยากเข้าร่วมลงทุนโดยขาดการตรวจสอบที่รอบคอบ”

สาม…การขายสินค้าและบริการปลอม เป็นอีกหนึ่งภัยคุกคามที่พบบ่อย มิจฉาชีพจะสร้างเว็บไซต์หรือเพจโซเชียลมีเดียขึ้นมาขายสินค้าด้วยราคาถูกมากเกินจริง เพื่อดึงดูดให้ผู้ซื้อตัดสินใจสั่งซื้อ เมื่อโอนเงินแล้วผู้ซื้อจะไม่ได้รับสินค้าใดๆ หรืออาจได้รับสินค้าที่คุณภาพต่ำอย่างไม่น่าเชื่อถือ

สี่…การโจมตีแบบแรนซัมแวร์ (Ransomware Attacks) เป็นมัลแวร์ชนิดหนึ่งที่มิจฉาชีพใช้โจมตีระบบคอมพิวเตอร์ โดยเข้ารหัสข้อมูลทั้งหมดในเครื่องเหยื่อและเรียกค่าไถ่เพื่อแลกกับการปลดล็อกข้อมูล

“การโจมตีแบบนี้ส่งผลให้เหยื่อสูญเสียข้อมูลสำคัญ และอาจส่งผลต่อธุรกิจหรือองค์กรที่ข้อมูลมีค่าหรือมีความสำคัญสูง”

อีกสิ่งสำคัญที่ทำให้ “เหยื่อ” หลงเชื่อพลาดพลั้ง “มิจฉาชีพออนไลน์” จะใช้กลยุทธ์ในการสร้างความน่าเชื่อถือ ด้วยการใช้โปรไฟล์ปลอมที่ดูน่าเชื่อถือ หรืออ้างอิงชื่อเสียงของบุคคล…องค์กรที่น่าเชื่อถือเพื่อทำให้เหยื่อตายใจ โดยอาจใช้รูปภาพจากคนดัง หน่วยงานที่มีชื่อเสียง เพื่อให้โปรไฟล์มีความน่าเชื่อถือ

อีกทั้ง…อาจเขียนรีวิวปลอม หรือสร้างคอนเทนต์ เพื่อดึงดูดความสนใจของเหยื่อ

ต่อเนื่องด้วยการใช้ข้อความกระตุ้นความรู้สึกหรืออารมณ์ เช่น “โอกาสพิเศษที่มีเพียงวันนี้เท่านั้น” หรือ “มีจำนวนจำกัด ต้องรีบ!”…สร้างแรงกดดันให้เหยื่อรู้สึกว่าต้องรีบตัดสินใจ โดยไม่ทันได้คิดอย่างรอบคอบ และทำให้ตกหลุมพรางได้ง่าย

นับรวมไปถึงการสร้างแรงบันดาลใจด้วยผลลัพธ์หรือความสำเร็จ เช่น ภาพการใช้ชีวิตหรูหรา ผลลัพธ์ที่ได้ผลรวดเร็ว หรือการประสบความสำเร็จจากการลงทุนในระยะเวลาสั้นๆ

ทำให้ “เหยื่อ” รู้สึกอยากลองใช้หรือเข้าร่วม เพราะเห็นภาพความสำเร็จที่สวยงามเกินจริง

แน่นอนว่าเมื่อพลาดพลั้งกันไปแล้วก็มักจะไปจบลงที่ “ความเสียหาย” ในหลายระดับหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียทรัพย์สิน ข้อมูลส่วนบุคคล ความเสียหายทางธุรกิจ หรือแม้กระทั่งผลกระทบทางจิตใจ…เหยื่ออาจต้องแบกรับภาระหนี้สิน สูญเสียข้อมูลสำคัญ เสียเวลาในการจัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

บางราย…ถึงกับสูญเสียความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีและการทำธุรกรรมออนไลน์

แนวทางป้องกันตนเองจากมิจฉาชีพออนไลน์ ก็ย้อนกลับไปเป็นลำดับขั้น “การทำธุรกรรมออนไลน์”…ไม่ว่าเรื่องใดต้องตรวจสอบข้อมูลให้รอบคอบก่อนการตัดสินใจ…การซื้อสินค้า การลงทุน หรือการให้ข้อมูลส่วนตัว ควรตรวจสอบที่มาที่ไปของข้อมูลนั้นๆเสมอและพิจารณาว่าแหล่งข้อมูลนั้นมีความน่าเชื่อถือหรือไม่

หลีกเลี่ยงการคลิกลิงก์ที่ไม่น่าเชื่อถือ ไม่ควรคลิกลิงก์ที่ได้รับจากอีเมลหรือข้อความที่ไม่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลิงก์ที่มาจากผู้ส่งที่ไม่รู้จัก หรืออีเมลที่ดูมีเนื้อหาแปลกประหลาด

“ใช้รหัสผ่านที่มีความปลอดภัย…รหัสผ่านควรเป็นตัวอักษรที่ยาวและซับซ้อน รวมถึงเปลี่ยนรหัสผ่านเป็นระยะ และใช้รหัสผ่านที่ไม่ซ้ำกันสำหรับแต่ละบัญชีออนไลน์”

ติดตั้งโปรแกรมป้องกันไวรัสและอัปเดตระบบอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องสามารถช่วยลดความเสี่ยง

จากการโจมตีด้วย “มัลแวร์” หรือ “แรนซัมแวร์” ได้ และหมั่นติดตามข่าวสารเกี่ยวกับภัยออนไลน์ กลโกงใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อจะได้รู้ถึงรูปแบบ…เทคนิคการหลอกลวงใหม่ๆ ทำให้สามารถป้องกันตัวเองได้ดีขึ้น

บทสรุป “ภัยมิจฉาชีพออนไลน์” ปัจจุบันเป็นปัญหาที่ซับซ้อนและมีการพัฒนารูปแบบอย่างต่อเนื่อง การป้องกันตัวเองจากการตกเป็นเหยื่อต้องอาศัยการ “รู้เท่าทัน” และความ “ระมัดระวัง” ในการใช้อินเตอร์เน็ต จะช่วยลดโอกาสที่มิจฉาชีพจะประสบความสำเร็จในการหลอกลวง

อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจใคร โดยเฉพาะ…“คนดัง?” จะได้ไม่จนใจเอง.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม