แชร์ลูกโซ่ยังคงอยู่คู่ “สังคมไทยมาทุกยุคทุกสมัยไม่เคยหายห่างไปไหน” แม้ยุคนี้จะสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้รวดเร็ว กลับเป็นดาบสองคมให้มิจฉาชีพใช้เป็นช่องทางสร้างเครือข่ายหลอกเอาเงินคนเป็นจำนวนมากได้ง่ายจาก “ความโลภอยากรวยทางลัด” กลายเป็นจุดอ่อนให้คนตกเป็นเหยื่อทุกวัน

ปัจจุบันแชร์ลูกโซ่มาในรูปแอบแฝงธุรกิจขายตรงอย่าง “บรรดาบอสใหญ่คนดัง” ก็เป็นธุรกิจแฝงอันมีนัยฉ้อโกงประชาชน จนกลายเป็นคดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่อื้อฉาวได้รับความสนใจมากส่งผลให้หลายคนหวาดกลัวเกรงต้องเจอกับ “ธุรกิจผิดกฎหมาย” ไม่อยากเข้าไปยุ่งกับการขายตรง และธุรกิจออนไลน์แล้วด้วยซ้ำ

ทว่าอันที่จริง “ธุรกิจขายตรงถูกกฎหมายก็ยังมีอยู่มาก” ถ้าดูในการจดทะเบียนกับ สคบ.มีอยู่ 600 กว่าบริษัท ซึ่งตามหลักวิธีการขายตรงในไทยแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ แบบแรก…“ขายตรงชั้นเดียว” บริษัทมอบสินค้าให้ตัวแทนนำไปขายให้ผู้บริโภคได้ผลตอบแทนตามเกณฑ์ผลงานยอดขายสินค้าตามที่บริษัทกำหนดไว้

แบบที่สอง…“ขายตรงหลายชั้น” ในการสร้างเครือข่ายสมาชิกขยายตลาดเน้นขายสินค้าผ่าน “ผู้ขายอิสระ หรือตัวแทน” ที่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าบริการจากผู้ประกอบธุรกิจนำสินค้าเสนอขายตรงต่อผู้บริโภค “มักเอื้อตัวแทนขายตรงไม่ต้องลงทุน” เพื่อให้มีหน้าที่แค่เสนอขายโน้มน้าวชักจูงให้คนซื้อสินค้าเท่านั้น

ส่วนรายได้ต้องมาจากยอดจำหน่ายรวมผลงานตัวเอง และทีมงาน “มิใช่ได้จากชักชวนมาลงทุน” โดยผู้เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ “ต้องพัฒนาสินค้าให้ดีมีคุณภาพ” ส่วนใหญ่ผู้เข้ามาเป็นตัวแทนขายมักทดลองใช้ก่อนจนแน่ใจว่า “สินค้านั้นดีจริงๆ” จึงค่อยนำออกวางจำหน่วยให้คนอื่น เหล่านี้เป็นระบบธุรกิจขายตรงถูกต้องตามกฎหมาย

สรุปง่ายๆ ระบบขายตรงต้องมีสินค้าเป็นที่ยอมรับ มีหน้าร้านกระจายสินค้าผ่านตัวแทนขายที่อบรมมา ดร.ณัฐกันย์ ชินนรานันทน์ หน.ภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ ม.เกษตรศาสตร์ บอกในเสวนาวิชาการหัวข้อความแตกต่างระหว่างแชร์ลูกโซ่กับธุรกิจเครือข่าย : เข้าใจชัดเจนเพื่อป้องกันตนเองผ่านเพจสถานีวิทยุ ม.ก.ว่า

ข้อสังเกต “ธุรกิจขายตรงถูกกฎหมาย” ผู้ประกอบธุรกิจต้องจดทะเบียนก่อนทำธุรกิจกับ สคบ. “ค่าสมัครเป็นตัวแทนขาย” ต้องเหมาะสมสำหรับเป็นค่าอบรม เอกสารและสินค้าตัวอย่างเท่านั้น

นอกจากนี้ “ผู้ประกอบธุรกิจขายตรง” ต้องมีความรับผิดชอบต่อ “ตัวแทนขาย” ที่มีแผนธุรกิจเป็นไปได้จริง คำนึงถึงการดำเนินธุรกิจในระยะยาว “ค่าผลตอบแทนรายได้” จะต้องมาจากการขายสินค้าบริการ “ไม่ใช่การระดมทุน” โดยผู้ประกอบการจะต้องยื่นแผนธุรกิจในการจ่ายผลตอบแทนเพื่อให้ สคบ.พิจารณาและอนุมัติด้วย

ทั้งผู้ประกอบธุรกิจ หรือตัวแทนขาย “ต้องไม่อ้างโฆษณาสรรพคุณสินค้าเกินจริง” มีระบบประกันความพอใจ “ลูกค้า” คืนสินค้าได้ และมีกฎระเบียบที่เข้มงวดในการทำธุรกิจ เพื่อปกป้องตัวแทนขายตรง และผู้บริโภค

ปัญหามีอยู่ว่าในช่วงดำเนินธุรกิจ “บริษัทขายตรงที่จดทะเบียนถูกต้อง” ทำตามแผนการตลาดที่ได้รับอนุญาตนั้น “ระหว่างทาง กลับแปลงกายไม่เน้นการขาย” แต่พยายามมุ่งเป้าจัดหาลูกทีมชักจูงบุคคลอื่นเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกให้เยอะที่สุด “เพื่อสต๊อกสินค้า” เริ่มแอบแฝงธุรกิจขายตรงสีเทากลายเป็นแบบแชร์ลูกโซ่ตามมา

ไม่นานก็เปลี่ยนเป็นแผน “การจ่ายผลตอบแทนแบบแชร์ลูกโซ่” บางกลุ่มก็ใช้ทั้ง 2 แผน มีลักษณะจดทะเบียนจาก สคบ.ถูกต้องตามกฎหมายทำตามแผนที่ได้รับอนุญาต และเพิ่มแผนการตลาดแบบแชร์ลูกโซ่ควบคู่กันไปด้วย ดังนั้นเวลาตรวจสอบบริษัทมักพบการจดทะเบียนประกอบธุรกิจขายตรงถูกต้อง

ประเด็นสำคัญปัจจุบัน “คนดังมักเข้ามาเกี่ยวข้องธุรกิจขายตรง” แล้วด้วยเป็นบุคคลสาธารณะอันเป็นผู้ทรงอิทธิพลต่อคนอื่น “ในแง่การใช้บริการไม่ว่าจะเรื่องการกิน การใช้สินค้า” เมื่อบรรดาคนดังดาราเข้ามาอยู่ในธุรกิจแอบแฝงขายตรงย่อมสามารถชักชวนประชาชนเข้ามาโดยง่าย ทำให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้างอย่างมาก

ส่วนระบบ “แชร์ลูกโซ่ หรือพีระมิด” มีข้อสังเกตจากค่าธรรมเนียมสมัครสูงที่จะถูกหลอกจ่ายค่าฝึกอบรม ซื้อสินค้าเกินความต้องการ และไม่ยอมคืนค่าสมัคร หรือค่าผลิตภัณฑ์ “ไม่สนใจขายสินค้าคุณภาพ” ส่วนใหญ่จะมีคุณภาพต่ำ ผลกำไรของระบบพีระมิดมาจากรับสมัครสมาชิกใหม่บังคับให้ซื้อสินค้าราคาสูงจำนวนมากๆ

สิ่งสำคัญคือ “ร่ำรวยในระยะเวลาอันรวดเร็ว” ที่ได้จากผู้เข้าร่วมที่เป็นฐานพีระมิดจะเป็นผู้จ่ายเงินให้แก่คนไม่กี่คนที่อยู่ในระดับจุดยอดของพีระมิด และสามารถซื้อตำแหน่งที่อยู่ในระบบได้ เพราะไม่เน้นขายสินค้าแต่ผลกำไรมาจากสมาชิกสมัครใหม่ “ต้องซื้อสินค้ากักตุน” ที่มิใช่เพราะสินค้ามีประโยชน์ หรือคุ้มค่าคุ้มราคา

แต่ถูกบังคับซื้อตามระบบสมาชิกใหม่หากหาไม่ได้ “มักถูกกดดันใช้คำพูดเหยียดหยาม” ทำให้ต้องหาสมาชิกใหม่ “ด้วยการฉ้อฉลหลอกลวงให้คนเข้ามาในระบบ” สิ่งนี้เป็นการทำผิดกฎหมายในหลายประเทศ

ถัดมาคือ “การตลาดแบบตรง (Direct Marketing)” อันเป็นการทำตลาดสินค้าบริการลักษณะการสื่อสารข้อมูลเสนอขายสินค้า หรือบริการโดยตรงต่อผู้บริโภคที่เรียกว่า “ขายของผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์” อย่างการไลฟ์สดขายของเน้นผู้อยู่ห่างใช้โทรศัพท์ตอบกลับซื้อสินค้าจากผู้ประกอบธุรกิจโดยไม่ใช้พนักงานขาย

ตัวอย่างบริษัทเป็นข่าว “เริ่มจดทะเบียนการตลาดแบบตรง” จึงทำธุรกิจขายของทางแพลตฟอร์มออนไลน์ เว็บไซต์ โซเชียลฯ อีคอมเมิร์ซ ทำให้ชักชวนคนมาเรียนทําคอนเทนต์ tiktok คอร์สละ 98 บาท ส่วนใหญ่เป็นเนื้อหาเบสิกหาเรียนได้ในยูทูบทั่วไปแล้วจะเสนอขายสินค้า และชักชวนมาเป็นตัวแทนกลายเป็นแชร์ลูกโซ่ตามมา

ถ้าเทียบกับ “แชร์ลูกโซ่แม่ชม้อยแตกต่างกันมาก” เพราะกลไกเป็นการชักชวนบุคคลแบบฉ้อฉลลงทุนโดยตรงแล้ว “นำเงินคนใต้พีระมิดมาจ่ายให้คนด้านบน” ทำให้ผู้เข้าระบบแชร์ลูกโซ่แรกๆ ได้เงินรวยจริงเกิดการชักชวนคนอื่นขยายวงมากขึ้น สุดท้ายด้านล่างหาคนไม่ได้ “ไม่มีเงิน” ทำให้พีระมิดทลายลงในที่สุด

หากมาดู “แชร์ลูกโซ่ธุรกิจขายตรงยุคใหม่นี้น่ากลัวกว่านั้นเยอะ” เพราะใช้ระบบการสื่อสารบนโลกดิจิทัลไร้พรมแดนจนมีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนในแผนประกอบธุรกิจ แล้วบางคนก็จดทะเบียนกับ สคบ.ถูกต้องตามกฎหมาย “ก่อนมาแปลงกายแปลงร่าง” กลายเป็นธุรกิจผิดกฎหมายจนจับผิดได้ยากทำให้ดำเนินธุรกิจยาวขึ้น

อนาคตเชื่อว่า “แชร์ลูกโซ่จะคงอยู่คู่สังคม” ตราบใดคนมีกิเลสอยากได้ อยากมี อยากเป็น ถูกหล่อหลอมด้วยวัตถุค่านิยม “มิจฉาชีพ” ก็ใช้ความโลภนี้พัฒนากลไกการหลอกที่ซับซ้อนเลวร้ายมากกว่าเดิม.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม