นิทานเรื่องที่ 15 โทษของความไว้วางใจ ในหนังสือปัญจตันตระ เล่มการแตกมิตร…(ศักดา วิมลจันทร์ แปล สำนักพิมพ์พื้นฐาน พ.ศ.2551) นี่ก็ยังอยู่ในหนึ่งวิชาในหลักสูตรนายกฯ 6 เดือนครับ
ในป่าใหญ่แห่งนั้น ราชสีห์เป็นเจ้าป่า มีเสือดาว กาและจิ้งจอก เป็นบริวาร วันหนึ่งระหว่างการหาอาหาร ราชสีห์เจอสัตว์ต่างถิ่น รูปร่างสูงใหญ่ กำลังโขยกเขยกกินหญ้าตรงหน้า
ไถ่ถามได้ความว่าเป็นอูฐ สัตว์หนึ่งในทะเลทราย มันบรรทุกของหนักเต็มหลัง มากับกองคาราวานพ่อค้า…ป่วยหมดแรงล้ม พ่อค้าสั่งคนขนของออกจากหลัง ทิ้งมันไว้แล้วเดินทางต่อ
ราชสีห์เวทนาชะตากรรมของอูฐ ออกปากจะคุ้มครองมัน ไม่ให้สัตว์อื่นมากล้ำกรายรังแก
หลายวันต่อมาราชสีห์มีเหตุต้องต่อสู้กับพญาช้าง เจ็บหนักกลับมานอนพักที่ถ้ำ โดยปกติราชสีห์นำบริวารออกล่าสัตว์น้อยใหญ่กินเป็นอาหาร เหลือก็แบ่งปันสามบริวาร
สี่ห้าวันผ่านไปราชสีห์ก็หิว ก็หันไปสั่งบริวารให้ร่วมมือกันออกไปต้อนสัตว์สักตัวเข้ามาใกล้ๆ
“ข้าเจ็บก็จริง แต่ยังพอเหลือเรี่ยวแรงตะปบฉีกเนื้อมันแบ่งให้พวกเจ้ากินได้”
สี่บริวารแยกย้ายกันออกไปตระเวนหาเป็นนาน…ก็ไม่เจอสัตว์เนื้อ
ตัวไหนพอเป็นอาหาร ระหว่างความหิวโซด้วยกัน เจ้าจิ้งจอกก็หันไปปรึกษากับเจ้ากา
“นี่แน่ะ!เพื่อนกา เราจะเสียเวลาเหนื่อยไปเที่ยวหาทำไม?” จิ้งจอกพูดแล้วชำเลืองไปที่อูฐที่ยืนอยู่อีกมุมหนึ่ง
“เจ้าอูฐ มันสนิทใจกับนายเรา พวกเราไม่สู้ช่วยกันหาหนทางฆ่ามัน เป็นอาหารประทังชีวิตดีกว่า”
“เป็นคำแนะนำที่ดี” กาพูด “แต่จะเป็นไปได้ยังไง? เมื่อนายเราออกปากจะคุ้มครองมัน เราคงไม่อาจฆ่ามันได้”
“ที่เพื่อนกล่าวก็ถูก” จิ้งจอกว่า “ถ้าเช่นนั้นข้าจะไปเจรจากับนายท่าน”
ต่อหน้าเจ้าป่าจิ้งจอกค่อยๆประดิดประดอยถ้อยคำ “พวกเราพากันตระเวนจนทั่วแล้ว หาได้พบมังสาใดไม่ จนหมดเรี่ยวแรงยกขาแทบไม่ขึ้น บัดนี้เราได้ปรึกษากัน ไม่เพียงนายท่านป่วยหนัก ทั้งยังขาดอาหาร หากมัวเสียเวลาเช่นนี้ อาจไม่ทันการณ์”
“แต่ปัญหานี้ก็พอจะมีทางแก้ไข ถ้านายท่านประสงค์ สุขภาพก็จะทุเลาด้วยเนื้อของเจ้าอูฐ”
ทางออกคือกินเนื้อเจ้าอูฐ ทำให้ราชสีห์เจ้าป่าโกรธมาก “เจ้าก็รู้ ข้ารับปากประกันสวัสดิภาพเขาไว้”
“แล้วถ้าเจ้าอูฐมันสมัครใจอุทิศร่างให้เป็นอาหารแก่นายท่านเล่า” จิ้งจอกยังมีช่องพูดต่อ “หรือไม่เช่นนั้น นายท่านก็เลือกพวกเราสักตัว อย่าลืมในป่าแห่งนี้ หากนายท่านเป็นอะไรไป พวกเราจะมีชีวิตต่อไปก็ไร้ประโยชน์”
ราชสีห์เจ้าป่าเริ่มคล้อยตาม “ถ้าเช่นนั้นก็จงทำตามที่พวกเจ้าเห็นสมควรเถิด”
เจ้าจิ้งจอกกลับชวนเพื่อนทั้งสามนั่งน้ำตานองหน้า ล้อมรอบ
เจ้าป่า เจ้ากาเสนอตัวเป็นอาหารมื้อแรก เจ้าจิ้งจอกก็ทักว่า ตัวเจ้ากาเล็กนัก แล้วโค้งคำนับเสนอตัวเป็นอาหารตัวที่สอง
เสือดาวเห็นเช่นนั้นก็ลุกขึ้นก้มหัวเสนอให้เอาตัวเองต่อชีวิตราชสีห์
ในบรรยากาศของความเสียสละชีวิตต่อนายตรงหน้า เจ้าอูฐก็เสนอว่า ตัวข้าเองใหญ่มีเนื้อมากพอต่อชีวิตเจ้านายได้หลายวัน ว่าแล้วก็ก้าวออกมาข้างหน้า ยอบกายลงต่ำ
ถึงเวลานั้นราชสีห์ก็ให้อาณัติสัญญาณ เสือดาว จิ้งจอกกระโจนเข้าฉีกร่างเจ้าอูฐ เจ้ากาก็รี่เข้าจิกลูกตา และแน่นอน…ราชสีห์ผู้
ยิ่งใหญ่…ก็ได้เป็นเจ้าของเนื้ออูฐคำใหญ่ ตามสัญชาตญาณธรรมดาๆของสัตว์ป่าด้วยกัน
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า เมื่อบรรดาสัตว์ป่าทั้งหลาย ไม่เว้น ฯพณฯ ราชสีห์เจ้าป่าหิว…
คำมั่นสัญญาอะไรก็ไม่มีความหมาย คนที่มีประวัติเคยชินกินคำใหญ่ๆ…แต่เอ่ยชื่อเฉี่ยวเกาะกูดนิดเดียว ผู้คนเขาก็เสียวกันทั้งเมือง.
กิเลน ประลองเชิง
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ