ใคร?กำลังเดินเพลินๆในงานหนังสือศูนย์สิริกิติ์ตอนนี้ บูธ แสงดาว มีชุดสามก๊กให้เลือกอ่านนับเล่มแทบไม่ถ้วน เจอเล่ม “มาดามสามก๊ก ฉบับศาสตร์ยอดผู้นำ” (แสงดาวพิมพ์ พ.ศ.2567) ผมแนะให้เปิดอ่าน
นี่คือสามก๊กในมุมมองใหม่ของสุภาพสตรีอย่างมาดามตูน (อิษยา วัชรญานนท์) ที่แตกต่าง
ชิมลาง จากบทที่ 20 ปรัชญาซุยเป๋ง กันดูก่อน
ซุยเป๋งเป็นใคร? เขาปรากฏตัวครั้งเดียว ในวรรณกรรมสามก๊ก ตอน เล่าปี่ไปเยือนกระท่อมหญ้าครั้งแรก ครั้งนั้น จริงๆแล้วขงเบ้งก็อยู่บ้าน แต่บอกเด็กรับใช้ว่าไม่อยู่ เพื่อทดสอบความตั้งใจของเล่าปี่
เมื่อเจ้าบ้านไม่อยู่เล่าปี่ก็ต้องแบกหน้ากลับ ระหว่างทางสวนกับชายคนหนึ่งท่าทางทรงภูมิ เล่าปี่ไหวพริบดี ลงจากหลังม้าไปคารวะ เมื่อรู้ว่าชื่อซุยเป๋ง แต่จุดเรียกความสนใจคือเป็นเพื่อนขงเบ้ง
เล่าปี่ก็ได้ทีเสวนา เอ่ยถึงปณิธานที่จะกอบกู้บ้านเมือง ซุยเป๋งชื่นชมแต่บอกว่าเล่าปี่กำลังจะฝืนชะตาฟ้า
“แม้ท่านจะฟื้นฟูขึ้นมาได้ แต่ไม่นานก็ต้องล่มสลายอีก แม้จะพยายามเท่าไหร่ก็ไม่สำเร็จ”
เล่าปี่เอ่ยปากชักชวนไปพักที่เมืองซินเอี๋ยด้วยกันก่อน แล้วค่อยชวนกันไปหาขงเบ้งในวันต่อไป ซุยเป๋งปฏิเสธ ให้เหตุผลตัวเองเป็นคนป่าคนดอย ไม่อยากยุ่งกับเรื่องบ้านเมืองแล้วขอตัวลาจาก
เรื่องซุยเป๋งในวรรณกรรมสามก๊ก มาดามตูนบอกว่า จะว่ามีแค่นี้ ก็ไม่เชิง ในช่วงท้ายๆสามก๊ก หลังขงเบ้งลาโลกไปแล้ว เกียงอุยศิษย์เอกขงเบ้ง แม่ทัพจ๊กก๊ก ยกทัพบุกวุยก๊กอีกหลายครั้ง
ครั้งหนึ่งเตงงาย หนึ่งในขุนพลวุยก๊ก เจอค่ายกลงูเลื้อยของเกียงอุย จักแหล่นจะเอาตัวไม่รอด เคราะห์ดีได้ สุมาปอง หลานสุมาอี้
ช่วยแก้ไขให้รอด
เตงงายเองก็สงสัย ทำไมสุมาปองจึงรู้วิธีแก้ค่ายกลงูเลื้อย
สุมาปองบอกเมื่อเป็นเด็กเคยเดินทางไปหาวิชาที่เกงจิ๋ว เคยได้เรียนวิชากับอาจารย์ซุยเป๋ง
ทั้งซุยเป๋งและขงเบ้ง ต่างก็เป็นศิษย์สำนักอาจารย์สุมาเต๊กโช (แว่นน้ำ) ด้วยกัน
การปรากฏชื่อซุยเป๋งอีกครั้ง ยืนยันว่า แม้วิถีชีวิตซุยเป๋งจะแตกต่างจากขงเบ้ง…แต่เขาก็ยังได้ชื่อว่า เป็นผู้เรืองวิชาระดับหยั่งรู้ดินฟ้า…อีกคน
มาดามตูนเขียนว่า ซุยเป๋งกับขงเบ้งเป็นเพื่อนรักกัน ดื่มชา ขี่ม้า เที่ยวด้วยกัน แม้มีหลายๆอย่างที่คล้ายกัน แต่ด้านความคิด ทั้งสองมีความแตกต่าง ซุยเป๋งเลือกการใช้ชีวิตที่สงบเรียบง่าย
ในขณะที่ขงเบ้ง คิดว่าตัวเองเกิดมาเป็นข้าแผ่นดิน ก็ต้องใช้สติปัญญาความสามารถตอบแทนคุณแผ่นดิน
หลายคนอาจมีคำถาม อะไร?เป็นสาเหตุให้ซุยเป๋ง เลือกทางชีวิตแบบเรียบง่าย ประวัติชีวิตซุยเป๋ง น่าจะบอกที่มา…ครอบครัวเป็นชาวเมืองพักเหลง พ่อเป็นขุนนางใหญ่ในสังกัดตั๋งโต๊ะ พี่ชายซุยเป๋ง เป็นนายทหารฝ่ายตรงข้าม
พ่อลูกไม่ถูกกัน พี่ชายซุยเป๋งเชื่อว่าพ่อใช้เงินซื้อตำแหน่งจากตั๋งโต๊ะ เมื่อตั๋งโต๊ะถูกลิโป้สังหาร พ่อซุยเป๋งก็ถูกสังหาร ส่วนพี่ชายก็เงียบหายไปเลย ชะตากรรมของพ่อและพี่ชาย ที่แยกอยู่กับการเมืองคนละฝ่าย
นี่เองทำให้ซุยเป๋งปลงตก
แม้ต่อมาจะได้วิชาจากอาจารย์สุมาเต๊กโชถึงระดับขงเบ้ง แต่ซุยเป๋งก็เลือกที่จะปลีกตัวออกจากการเมือง ชื่อซุยเป๋งจึงแทบจะหลุดหายไปจากประวัติศาสตร์
มาดามตูน สรุปทิ้งท้าย วิถีชีวิตซุยเป๋ง หรือขงเบ้ง ไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูก แต่ถ้าจะถามทัศนะจากมาดาม จากการไปเที่ยวเมืองจีนทั้งหมด 3 ทริป ได้เห็นและสัมผัสวีรกรรม และการเชิดชูเกียรติขงเบ้งมากมาย
ในขณะที่ไม่มีใครกล่าวถึงซุยเป๋งเลย
ในทัศนะมาดาม คนที่ทำความดีเพื่อตัวเองนั้นง่าย คนที่ทำความดีเพื่อผู้อื่นยากกว่า ยิ่งเป็นคนที่ทำความดีต่อผู้คนทั้งบ้านเมือง อย่างขงเบ้ง จึงคู่ควรกับการเป็นตำนานเล่าขาน ต่อเนื่องยาวนานกว่า 1,800 ปี.
กิเลน ประลองเชิง
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ