เวลานั่งรถผ่านค่ายทหาร เรามักจะมองผ่านรั้วเข้าไปเห็นสนามหญ้าสีเขียวขจีกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา ดูน่าร่มรื่นจนอยากจะขอเข้าไปนั่งเล่น ภาพสนามกอล์ฟเหล่านี้เรามักเห็นกันบ่อยๆ ไม่ว่าจะค่ายทหารในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด ทว่าภาพที่เรายังไม่เคยเห็น นั่นคือจริงๆ แล้ว ประเทศไทยมี ‘สนามกอล์ฟทหาร’ เยอะแค่ไหน แล้วมันมีไว้เพื่ออะไร และใคร กันแน่? 

ในวงเสวนาของ ‘คณะกรรมาธิการทหาร’ วันนี้ ได้นำตัวเลขมาเปิดให้เรากันดูว่า จริงๆ แล้วกองทัพมีพื้นที่สนามกอล์ฟถึง 57 สนามทั่วประเทศ จำนวน 20,871 ไร่ บางจังหวัดมีสนามกอล์ฟ 1-3 แห่งตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้กันเพียงไม่กี่กิโลเมตร ยังไม่นับว่า คณะกรรมาธิการฯ ตั้งข้อสังเกตถึงผลประกอบการของสนามกอล์ฟในบางแห่ง ทำกำไรได้ 5-10 ล้านบาทต่อปี ซึ่งถือว่าน้อย เมื่อเทียบกับศักยภาพและมูลค่าของพื้นที่ 

ไทยรัฐออนไลน์ ชวนทุกคนดูจำนวนสนามกอล์ฟทหารทั่วประเทศไทย และมาวิเคราะห์ร่วมกันว่า ‘สนามกอล์ฟมีไว้ทำไม’ จากคำชี้แจง ที่คณะกรรมาธิการสรุปมาให้พิจารณาถึงความเหมาะสม  

เปิดตัวเลขสนามกอล์ฟของ ‘ทหาร’ พี่ใหญ่กองทัพบกนำโด่ง

  • 57 สนาม คือจำนวนสนามกอล์ฟททั่วประเทศภายใต้การดูแลของกองทัพ
  • 20,871 ไร่ คือจำนวนพื้นที่ที่ใช้ไปกับการทำสนามกอล์ฟ

หากเราคลี่ดูตัวเลขรายกองทัพ จะพบสัดส่วนดังนี้ 

กองทัพบก 

  • มีสนามกอล์ฟ 40 สนาม
  • ที่ดินรวม 14,470 ไร่ 

กองทัพอากาศ

  • มีสนามกอล์ฟ 13 สนาม
  • ที่ดินรวม 4,047 ไร่

กองทัพเรือ 

  • มีสนามกอล์ฟ 4 สนาม
  • ที่ดินรวม 2,354 ไร่

ข้อมูลจากวงเสวนาของคณะกรรมาธิการทหาร ฉายภาพให้เห็นว่า กองทัพมีสนามกอล์ฟกระจายอยู่ทุกภูมิภาค อีกทั้งสนามกอล์ฟบางแห่งตั้งอยู่ใกล้กันมาก เช่น สนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ (กองทัพอากาศ) ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ก็อยู่ห่างออกไปจากสนามกอล์ฟกานตรัตน์ หรือ สนามงู (กองทัพอากาศ) เพียง 12 กิโลเมตรเท่านั้น และหากขับจากสนามงูไปอีก 8 กิโลเมตร เราก็จะพบสนามกอล์ฟรามอินทรา (กองทัพบก) ตั้งอยู่นั่นเอง

ยังมีอีกหลายตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า สนามกอล์ฟ 2-3 แห่งของกองทัพตั้งอยู่ในบริเวณรัศมีไม่ห่างกัน อาทิเช่น

  1. จังหวัดเชียงใหม่ มีสนามกอล์ฟลานนา (กองทัพบก) อยู่ห่างจากสนามกอล์ฟพิมานทิพย์ (กองทัพอากาศ) เพียง 6.4 กิโลเมตร
  2. จังหวัดนครราชสีมา มีสนามกอล์ฟเสือปาร์ค (กองทัพบก) อยู่ห่างจากสนามกอล์ฟค่ายสุรนารี (กองทัพบก) เพียง 8 กิโลเมตร และถัดจากสนามกอล์ฟค่ายสุรนารีไปเพียง 6 กิโลเมตร เราจะเจอสนามกอล์ฟไทเกอร์ (กองทัพอากาศ) ตั้งอยู่
  3. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีสนามกอล์ฟสวนสนประดิพัทธ์ (กองทัพบก) และห่างออกไป 19 กิโลเมตร ก็จะเป็นสนามกอล์ฟค่ายธนะรัตน์ (กองทัพบก)

อย่างไรก็ดี เชตวัน เตือประโคน สส.พรรคประชาชน และหนึ่งในกรรมาธิการทหาร ยังได้นำเสนอข้อมูลว่า นอกจาก 57 สนามกอล์ฟที่กองทัพได้นำข้อมูลมาชี้แจง ทาง กมธฯ ยังตรวจพบอีก 4 สนามกอล์ฟในอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ที่กองทัพไม่ได้ชี้แจงไว้ นั่นคือ

  1. สนามกอล์ฟหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน 
  2. สนามกอล์ฟศูนย์ฝึกทหารใหม่ 
  3. สนามกอล์ฟกองเรือยุทธการ
  4. สนามกอล์ฟศูนย์บัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง 

เหตุผลที่ต้องมี ‘สนามกอล์ฟทหาร’

สส. เชตวัน ได้สรุปคำชี้แจงของกองทัพไว้ 5 ข้อ ว่าด้วย ‘เหตุผลที่ต้องมีสนามกอล์ฟ’ ดังนี้

  1. เป็นที่ออกกำลังกายของทหาร เหตุเพราะทุกๆ วันพุธ จะเป็นวัน Sport Day ซึ่งเป็นวันที่ให้ทหารได้ออกมาทำกิจกรรมออกกำลังกาย ซึ่งในข้อนี้ สส.เชตวัน ได้ตั้งข้อสังเกตในวงเสวนาว่า ทหารไทยออกกำลังกายด้วยการตีกอล์ฟอย่างเดียวเลยหรือ? 
  2. เป็นที่รับรองแขกบ้านแขกเมือง (VVIP) ที่เดินทางมาเยือนยังประเทศไทย 
  3. เพื่อควบคุมราคาบริการสนามกอล์ฟของเอกชน เนื่องจากสนามกอล์ฟของภาครัฐมีราคาไม่แพง ซึ่งจะช่วยทำให้ราคาของสนามกอล์ฟเอกชนที่อยู่รายรอบไม่แพงตามไปด้วย เพราะไม่เช่นนั้น ผู้ใช้บริการก็อาจเลือกมาตีสนามกอล์ฟของกองทัพแทนสนามกอล์ฟของเอกชน
  4. เป็นเรื่องของความมั่นคง ในข้อนี้ สส. เชตวัน ระบุว่า กองทัพไม่ได้ชี้แจงในรายละเอียดมากนัก
  5. เป็นสวัสดิการของทหารชั้นผู้น้อย โดยกองทัพมองว่า สนามกอล์ฟของกองทัพเป็นแหล่งรายได้ และรายได้จากสนามกอล์ฟจะเข้าไปสู่กองทุนสวัสดิการกำลังพล ทุนการศึกษา สนับสนุนนักกีฬา สนับสนุนศูนย์เยาวชน และสงเคราะห์ผู้ประสบภัยธรรมชาติถ้าไม่ใช่ ‘สนามกอล์ฟ’ เปลี่ยนพื้นที่เป็นอะไรได้บ้าง

ถ้าไม่ใช่ ‘สนามกอล์ฟ’ เปลี่ยนพื้นที่เป็นอะไรได้บ้าง

เราลองมาดูตัวอย่างรายได้ของ ‘สนามกอล์ฟทหาร’ ว่าทำกำไรได้คุ้มค่าต่อศักยภาพของพื้นที่หรือไม่ 

ตัวอย่างเช่น สนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ ผลประกอบการปี 2566 มีรายได้ 55,373,644 ล้านบาท มีรายจ่าย 44,104,855 ล้านบาท กำไร 11,268,789 ล้านบาท 

สส. เชตวัน มองว่า รายได้ 11 ล้านบาทต่อปี ของสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ ซึ่งใช้พื้นที่ถึง 625 ไร่ ถือว่าเป็นตัวเลขที่น้อยมาก เพราะเมื่อเราไปดูราคาประเมินที่ดินจากกรมที่ดิน พบว่า ตกอยู่ไร่ละ 16.4 ล้านบาทต่อไร่ แปลว่าที่ดินของสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ 625 ไร่ จะมีมูลค่าถึง 10,250 ล้านบาท 

ด้วยมูลค่าของพื้นที่สนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ เทียบกับรายได้ของการใช้พื้นที่ในปัจจุบัน อาจเรียกได้ว่าเป็นการใช้ประโยชน์พื้นที่อย่าง ‘ไม่คุ้มค่า’ นัก และเสนอว่า พื้นที่เหล่านี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ได้

ตัวอย่างเช่น เปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ เนื่องจากปัจจุบัน สนามที่ตั้งของสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์รายล้อมด้วยชุมชนและมีการอยู่อาศัยอย่างหนาแน่นต่างจากอดีต จึงเห็นควรที่วันนี้จะเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ ซึ่งหากสวนสาธารณะเกิดขึ้นจริง จะมีประชาชนได้เข้าไปใช้ประโยชน์พื้นที่จะจำนวนเกือบ 3 แสนคน

จริงอยู่ที่สวนสาธารณะไม่ได้สร้างรายได้ แต่หากประชาชนเกือบ 3 แสนคนที่อยู่บริเวณนี้ ได้ใช้พื้นที่ไปกับการออกกำลังกาย มีสุขภาพพลานามัยที่ดีแล้ว จะสามารถประหยัดงบประมาณของประเทศในเรื่องค่าใช้จ่ายทางสุขภาพได้อีกมหาศาล ซึ่งจะสอดคล้องกับเป้าหมายข้อที่ 11.7 ของ Sustainable Development Goals (SDGs) เรื่องเมืองและชุมชนยั่งยืน โดยหนึ่งในตัวชี้วัดคือการเข้าถึงเมืองที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน โดยไม่จำกัดเพศ อายุ และข้อจำกัดด้านความพิการ 

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยรองรับว่า การมีพื้นที่สีเขียว เฉลี่ยเพียง 1 ตารางเมตร จะสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุได้มากถึง 0.011% และสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคด้านหัวใจได้มากถึง 0.016%

ซึ่งหากเปลี่ยนสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์มาเป็นพื้นที่สีเขียวสาธารณะ จะสามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้ถึง 1 ล้านตารางเมตร ลดอัตราการตายจากทุกสาเหตุได้ถึง 16% จากการเพิ่มพื้นที่ออกกำลังกาย

ยังมีงานวิจัยโดยองค์การพลังงานระหว่างประเทศ ที่พิสูจน์ได้ว่า หากพื้นที่ภายในเมืองหรือชุมชน มีพื้นที่สีเขียวสาธารณะมากขึ้น จะส่งผลให้ประชาชนมีโอกาสเผชิญกับความโดดเดี่ยวน้อยลง และทำให้ประชาชนลดโอกาสที่จะเป็นโรคทางด้านจิตใจ เช่น โรคซึมเศร้า ได้มากถึง 52%

นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดอื่นๆ อีกมากมายในการใช้ประโยชน์สนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ให้คุ้มค่า เช่น พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะโดยมีสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์เป็นศูนย์กลาง ซึ่งจะสามารถเชื่อมต่อพื้นที่ระบบขนส่งสาธารณะหลักและสถานที่สำคัญโดยรอบได้ 

แล้วผู้อ่านล่ะ คิดว่าพื้นที่สนามกอล์ฟกว่า 57 แห่งทั่วประเทศไทย ซึ่งเป็นที่ดินของรัฐ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านใดได้อีกบ้าง?