เมื่อช่วงใกล้ๆเที่ยงของวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา…มีข่าวแพร่สะพัดในสื่อสังคมออนไลน์ว่า “สันติ ลุนเผ่” ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล-ขับร้อง) ประจำปี พ.ศ.2558 ได้ถึงแก่กรรมแล้วอย่างสงบด้วยวัย 88 ปี ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เมื่อเวลา 01.01 นาฬิกาของวันเดียวกัน
เดิมทีผมตั้งใจว่า จะเขียนคอลัมน์วันนี้ว่าด้วยความสำเร็จของการท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครที่สามารถคว้าแชมป์ มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเป็นอันดับหนึ่งของโลกในปี 2024 มาครองได้สำเร็จ แต่เมื่อตรวจสอบว่าข่าวการจากไปของครู สันติ ลุนเผ่ เป็นข่าวจริงก็คงต้องขออนุญาตเขียนถึงคุณครูก่อนละครับ
ด้วยความรัก ความเคารพ และความอาลัยเป็นอย่างยิ่งในฐานะแฟนเพลงคนหนึ่งของครู
ผมก็เหมือนท่านผู้อ่านอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปของประเทศไทยนั่นแหละครับ ที่เจริญวัยมากับเสียงเพลง “รักชาติ” ของ สันติ ลุนเผ่
เพลงซึ่งแต่เดิมเรียกกันว่า “เพลงปลุกใจ” แต่ต่อมาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงขอให้เปลี่ยนมาเรียกว่า “เพลงรักชาติ” เพราะมีความหมายในเชิงบวกมากกว่ากัน
ในยุคที่บ้านเมืองเราเกิดแบ่งแยกทางความคิด จนถึงขั้นจับอาวุธขึ้นรบกันเองเมื่อ 40 ปีที่แล้ว…ผมเองยังต้องวิ่งรอกออกชนบทในพื้นที่อันตรายหลายๆพื้นที่ ก็ได้อาศัยเพลง “รักชาติ” ของครูสันตินี่แหละครับ เป็นที่พึ่งทางใจควบคู่ไปกับการสวดมนต์ภาวนา
ต่อมาเมื่อมีข่าวอีกว่ารอบๆบ้านเราค่อยๆล้มลงไปทีละประเทศ 2 ประเทศ เริ่มจากเวียดนาม มาถึงลาว มาถึงกัมพูชา ก็ยิ่งต้องทั้งสวดมนต์และร้องเพลงของครูสันติมากยิ่งขึ้น
เช่นเพลง ความฝันอันสูงสุด เพลง ทหารพระนเรศวร (เปรี้ยง! เปรี้ยง! ดังเสียงฟ้าฟาด) เพลง ดุจบิดามารดร, เพลง สยามมานุสสติ เพลง เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย เพลง แผ่นดินของเรา ฯลฯ
จะเป็นเพราะการสวดมนต์ภาวนา และขออาราธนาให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยเหลือหรือจะด้วยเหตุใดก็แล้วแต่เถิด
ในที่สุดประเทศไทยของเราก็สามารถฝ่าวิกฤติมาได้ และสามารถพลิกฟื้นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจนก้าวหน้ามาได้ในระดับหนึ่งหลังจากนั้น
เพลง “รักชาติ” ที่ขับร้องโดยครู สันติ ลุนเผ่ อาจจะเลือนหายไปจากจอโทรทัศน์ หรือสถานีวิทยุอยู่ระยะหนึ่งในยามบ้านเมืองสงบ แต่ก็ยังเป็นที่จดจำอยู่ใน “ดวงใจ” ของพวกเราชาวไทย ที่ผ่านห้วงเวลาแห่งวิกฤติในยุค “ทฤษฎีโดมิโน่” มาตราบเท่าทุกวันนี้
ตามประวัติที่ครูสันติเคยให้สัมภาษณ์ไว้ ทำให้ทราบว่าครูเป็นคนชอบร้องเพลงสากลในสไตล์คลาสสิกมาตั้งแต่เด็กๆ และไปฝากตัวเป็นนักร้องที่โบสถ์คริสต์แห่งหนึ่งในย่านบางรัก
ต่อมาเมื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัยที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้มีโอกาสเป็นลูกศิษย์ของ ครู สังข์ อสัตถวาสี หัวหน้าวง TU BAND ทำให้ได้ร้องบนเวทีหอประชุมธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และได้เข้าเฝ้าฯในวาระที่วงดนตรีของธรรมศาสตร์ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ไปบรรเลงในโอกาสสำคัญ ณ วังสวนอัมพร หลายครั้ง
จนได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ให้ขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ “รักชาติ” บันทึกแผ่นเสียงไว้หลายต่อหลายเพลงดังกล่าว
ขอขอบพระคุณในผลงานที่ครูสร้างไว้เป็นมรดกของแผ่นดินไทย โดยเฉพาะการเพาะบ่มให้เด็กไทยยุคก่อนที่เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่จำนวนมากในยุคนี้ รู้รักสามัคคี รักชาติ รักแผ่นดินไทย ผ่านเสียงเพลง และเสียงร้องอันทรงพลังของครู
ขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก จงดลบันดาลให้ดวงวิญญาณของคุณครูจงประสบแต่ความสุข ความสงบ ณ สวรรค์เบื้องบนไปตราบกาลนิรันดร์.
“ซูม”
คลิกอ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติม
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ