พล.ต.ต.กิตติ์ธเนศ ธนนันท์ทวีสิน อดีตผู้การชลบุรี ยื่นฟ้อง อดีต ผบช.ภ.2 สั่งตั้งกรรมการสอบสวนวินัย ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลนัดฟังคำสั่งชั้นตรวจฟ้อง 19 พ.ย.นี้
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พล.ต.ต.กิตติ์ธเนศ ธนนันท์ทวีสิน อดีต ผบก.ภ.จว.ชลบุรี เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย อดีต ผบช.ภ.2 ในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีกลั่นแกล้งออกคำสั่งตั้งกรรมการสอบสวนวินัยต่อ พล.ต.ต.กิตติ์ธเนศ โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ขณะเกิดเหตุ โจทก์ดำรงตำแหน่ง ผบก.ภ.จว.ชลบุรี จำเลยเป็น ผบช.ภ.2 มีอำนาจในการออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้าราชการตำรวจภายในสังกัด มีพื้นที่รับผิดชอบ 8 จังหวัดในภาคตะวันออก เป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ในขณะนั้น เมื่อวันที่ 18 ต.ค.65 มีเหตุกลุ่มชายฉกรรจ์ร่วมกันทำร้ายร่างกายกลุ่มนักท่องเที่ยวหลายรายบาดเจ็บ โดยมีและใช้อาวุธปืน เหตุเกิดที่จังหวัดชลบุรี หลังเกิดเหตุโจทก์มีคำสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนโดยมี พ.ต.อ. ส. เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน และคณะพนักงานสืบสวน 13 นาย โดยมี พ.ต.อ. ก. เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสืบสวน เนื่องจากคดีดังกล่าวเป็นที่อยู่ในความสนใจของประชาชน
ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ต.ค.65 จำเลยมีคำสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน เพื่อทำการสืบสวนสอบสวนรวมหลักฐานและขยายผลในเรื่องดังกล่าว ประกอบด้วย พล.ต.ต. อ. เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน โจทก์ พล.ต.ต. ธ. เป็นรองหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน พ.ต.อ. ช. เป็นเลขานุการและมีพนักงานสอบสวน รวมทั้งสิ้น 12 นาย ทั้งยังแต่งตั้งพนักงานสืบสวนอีก 17 นาย
นอกจากนี้ พล.ต.อ. ส. รองผบ.ตร. (ในขณะนั้น) เป็นผู้ได้รับมอบอำนาจจาก ผบ.ตร. ให้ลงมากำกับดูแลการสอบสวนสืบสวนและติดตามคดีด้วยตนเอง แต่ไม่ได้ให้อำนาจ พล.ต.อ. ส. ให้มีอำนาจมอบหมายให้เจ้าพนักงานตำรวจอื่นเข้าทำการสืบสวนสอบสวนหรือติดตามคดีแทนได้ แต่ พล.ต.อ. ส. กลับสั่งการด้วยวาจาให้ พ.ต.อ. ข. ผู้กำกับการตรวจคนเข้าเมือง และพวกเข้าร่วมทำการสืบสวนสอบสวนโดยมิชอบ ด้วยการเป็นเจ้าพนักงานที่แสดงตนเป็นพนักงานสืบสวนสอบสวนทั้งที่ตนเองไม่มีอำนาจหน้าที่นั้น มีเจตนากลั่นแกล้งเพื่อให้โจทก์ต้องถูกดำเนินคดีทางอาญาและทางวินัย (กรณีนี้โจทก์ได้กล่าวโทษแล้วคดีอยู่ระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช.)
ต่อมาเมื่อวันที่ 19 ต.ค.65 ได้มีการนำตัวผู้ต้องหาตามหมายจับและผู้ต้องหาอื่นที่เข้ามอบตัว รวม 3 คน เข้ามาพบคณะพนักงานสอบสวน แต่จากการสืบสวนสอบสวนกลับพบว่า มีผู้มารับสมอ้างเป็นผู้ต้องหา 2 คน มีลักษณะหรืออัตลักษณ์เฉพาะตนไม่ตรงกับบุคคลในภาพวงจรปิดในที่เกิดเหตุ จึงทำการตรวจพิสูจน์ โดยโจทก์ได้กำชับคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนให้สอบปากคำผู้เสียหายและพยานซึ่งส่วนมากให้ปรากฏชัดว่าผู้ที่มารับสมอ้างเป็นผู้ต้องหาทั้ง 2 คนนั้นเป็นผู้ต้องหาที่ร่วมก่อเหตุจริงหรือไม่ หากพบว่าบุคคลทั้งสองรับสมอ้างเป็นผู้ต้องหา ต้องถูกดำเนินคดีในข้อหาให้การเท็จต่อเจ้าพนักงานและข้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดด้วย โดยในช่วงบ่ายวันเดียวกันยังมีผู้ต้องหาเข้ามอบตัวเพิ่มอีก 2 คน ต่อมาวันที่ 20 ต.ค.65 จึงได้ส่งตัวผู้ต้องหาทั้งสองคนไปให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีในฐานความผิดแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน กระทั่งศาลแขวงชลบุรีมีคำพิพากษาลงโทษผู้สมอ้างทั้ง 4 คนไปแล้ว
เมื่อวันที่ 9 และ 11 พ.ย. 65 หัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวนตามคำสั่งตำรวจภูธรภาค 2 ให้โจทก์ไปพบพนักงานสอบสวน เพื่อรับการแจ้งข้อกล่าวหาและให้การ และให้โจทก์ไปพบพนักงานสอบสวน (ครั้งที่ 2) โดยในครั้งนี้ได้ออกหมายเรียกโจทก์มาพบในฐานะผู้ต้องหา เพื่อรับการแจ้งข้อกล่าวหาและให้การ และเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 65 พนักงานสืบสวนสอบสวนตามคำสั่งตำรวจภูธรภาค 2 ดังกล่าว ได้ทำการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนโดยไม่มีอำนาจหน้าที่เนื่องจากเป็นอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. อันเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีนี้โจทก์ได้แจ้งความร้องทุกข์หัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวนกับพวกรวม 9 คน (อยู่ระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช.)
จำเลยซึ่งเป็น ผบช.ภ.2 ทราบว่า พล.ต.อ. ส. ขณะดำรงตำแหน่ง รองผบ.ตร. มีอำนาจเป็นเพียงผู้รับผิดชอบ ควบคุม กำกับ ดูแลงานสืบสวนสอบสวนตามคำสั่งของ ผบ.ตร. เท่านั้น ไม่มีอำนาจแต่งตั้งหรือมอบหมายให้บุคคลใดให้กระทำการแทนได้ การที่ พล.ต.อ. ส. ใช้ จ้างวาน ช่วยเหลือ สนับสนุน หรือมีคำสั่งให้ พ.ต.อ. ข., พ.ต.อ. ศ. และ พ.ต.ท. ธ. กับพวก เข้าแทรกแซงการสืบสวนสอบสวนในคดีนี้ เป็นการกระทำที่มิชอบและขัดต่อ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 มาตรา 63(4) 64 และ มาตรา 107
จำเลยดำรงตำแหน่ง ผบช.ภ. 2 ทั้งเคยดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ใน บช.สตม. ย่อมต้องทราบเป็นอย่างดีว่าการที่ พล.ต.อ. ส. ได้สั่งการให้ตำรวจในสังกัดสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เข้าแทรกแซงการสืบสวนสอบสวนคดีอาญาในเขตพื้นที่จังหวัดชลบุรีเป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมาย แต่จำเลยกลับช่วยเหลือและให้การสนับสนุน
ต่อมา วันที่ 14 พ.ย. 65 จำเลยได้มีคำสั่งให้ พ.ต.อ. ช. เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาต่อโจทก์โดยอ้างมูลเหตุเดียวกันดังกล่าว จากนั้น ผบ.ตร. ได้มีคำสั่งให้โจทก์ไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อาคาร 1 ชั้น 20 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยขาดจากการปฏิบัติหน้าที่ทางตำแหน่งเดิม
จำเลยมีการรายงานที่ไม่ชอบดังกล่าวเป็นมูลฐานเพื่อสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงต่อโจทก์ ย่อมเท่ากับว่าจำเลยเป็นผู้รู้เห็นเหตุในเรื่องที่สอบสวน การกระทำของจำเลยดังกล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นอย่างยิ่ง
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางรับคดีไว้เพื่อตรวจฟ้อง เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 168/2567 และให้นัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งชั้นตรวจฟ้อง ในวันที่ 19 พ.ย. 2567 เวลา 09.30 น.
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ