“บะหมี่ ประภาวี” เผยโอกาสต่อยอดสุราไทยสู่สายตาชาวโลก แนะภาครัฐ ทุกคนช่วยสร้างค่านิยมใหม่ สุราคืออาหารไม่ใช่ยาพิษ

วันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 ที่ศูนย์การค้าเอ็มสเฟียร์ “ไทยรัฐ” ผนึกกำลังกับพันธมิตรภาครัฐและภาคเอกชน จัดงาน “เมรัยไทยแลนด์” มหกรรมสุราชุมชนและคราฟต์เบียร์ระดับประเทศครั้งแรก เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากและกระจายรายได้สู่คนตัวเล็ก เพื่อยกระดับความคราฟต์ของชุมชน ซึ่งงานขึ้นระหว่างวันที่ 27 พ.ย. – 3 ธ.ค. 2567

โดยในวันนี้ได้มีการพูดเสวนาถึงมุมมองของสุราในมิติการเมืองและเศรษฐกิจ และโอกาสต่อยอดสุราในฐานะซอฟต์พาวเวอร์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

คุณบะหมี่ ประภาวี เหมทัศน์ บริษัท กรุ๊ปบี จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมา เราพยายามแก้กฎหมายคราฟต์เบียร์มาโดยตลอด เราทำกันมา 6-7 ปีแล้ว แต่ที่ผ่านมา ภาครัฐยังไม่ขับเคลื่อนในเรื่องนี้ จนตอนนี้ในยุครัฐบาลปัจจุบันได้เข้ามาขับเคลื่อน ซึ่งล่าสุดเรื่องนี้ก็ได้เข้าสภาฯ และมีผู้ประกอบการได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นด้วย

อย่างล่าสุด ตนเองได้ไปศึกษางานที่ประเทศจีน พบว่ามณฑลกุ้ยโจว ซึ่งเป็นเมืองที่จนที่สุด ภาครัฐอยากให้เมืองนี้มีรายได้มากขึ้น จึงส่งเสริม “สุราเหมาไถ” ขึ้นมา ภาครัฐช่วยสนับสนุนทำให้เหมาไถเป็นที่รู้จัก

ถามว่าการเมืองเป็นปัญหาในการต่อยอดสุราไทยหรือไม่ คุณบะหมี่ ประภาวี กล่าวว่า จริงๆ ตอนนี้โลกมาไกลแล้ว ทางภาครัฐควรจะรู้แล้วว่าอะไรที่เป็นปัญหาและอะไรควรผลักดัน

สำหรับโอกาสที่จะทำให้สุราชุมชนโตขึ้นนั้น ตนเองมองว่า เรื่องนี้ผู้ประกอบการทำกันมาอยู่แล้ว ตั้งแต่ยังรัฐไม่ให้ทำ คนไทยมีความคิดสร้างสรรค์มาก อย่างตอนในประเทศจีน เขาพูดเลยว่า “สุราคืออาหาร” เขาจะปฏิบัติกับสุราเหมือนอาหาร ซึ่งเป็นแนวคิดที่เขาคิดแบบนั้น ครัวไทยไปครัวโลกได้ ทำไมเหล้าไทยจะไปอยู่ในแก้วของชาวโลกไม่ได้

“เราต้องเริ่มต้นจากภาครัฐช่วยส่งเสริมทัศนคติ สุราไม่ใช่ยาพิษ สุราเป็นอาหาร ควรจะส่งเสริมค่านิยมแบบนี้ให้กว้างขวางขึ้น การส่งเสริมจะเหมือนอาหารบ้านเรา ภาครัฐอาจไม่ต้องทำอะไร แค่ไม่ต้องเข้ามาควบคุมเท่านั้นเอง”

คุณบะหมี่ ประภาวี กล่าวอีกว่า เบียร์กับไวน์ เป็นเครื่องดื่มที่เสียภาษีสูงมาก เพราะภาครัฐมองว่าเป็นสินค้าต่างประเทศ เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย แต่เชื่อไหมว่ามีต่างชาติมาดื่มเบียร์สไตล์อเมริกันที่ไทยแล้วชมว่าทำได้ดีมาก

ดังนั้นการจะบอกว่าเอกลักษณ์ของไทยคืออะไร อาจจะเป็นเรื่องของการดูแลลูกค้าของร้านนั้นๆ บรรยากาศของประเทศนั้น หรืออาจจะเป็นตัวผลิตภัณฑ์เป็นตัวส่งเสริม ไม่ใช่แค่วัตถุดิบ จึงคิดว่า วิธีการดื่มแบบนี้ การเสิร์ฟแบบก็เป็นเอกลักษณ์ของเราได้แล้ว ไม่เช่นนั้นโรงเบียร์ไทยก็จะไม่ไทยสักที ไม่ต้องทำอะไรที่ไท๊ยไทย แต่แค่เป็นตัวเอง นำเสนอสิ่งที่ดี ก็จะดึงดูดคนได้แล้ว

ผลักดัน สุราชุมชน สู่ระดับโลก

คุณบะหมี่ ประภาวี กล่าวว่าในประเทศจีน เขาไม่มี พ.ร.บ. ควบคุมเหล้าเบียร์โดยเฉพาะ หากเกิดมีคนดื่มเหล้าแล้วทะเลาะวิวาท ก็จะไปใช้กฎหมายทะเลาะวิวาท หากดื่มแล้วขับจะใช้กฎหมายจราจร หรือในเรื่องของการโฆษณาก็ไปใช้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเรามีกฎหมายนั้นทั้งหมด หากมี พ.ร.บ. ควบคุมฯ ก็จะไปทับซ้อนกับกฎหมายอื่น

การโฆษณาที่ประเทศจีนมีบิลบอร์ดโฆษณาเหล้าเบียร์เต็มไปหมด แต่จะมีข้อความว่า ดื่มอย่างมีสติ แม้จะมีการโฆษณา แต่ขณะเดียวกันพบว่า อุบัติเหตุจากเหล้า การขายเหล้าให้เด็กแทบไม่มี เพราะเขาแก้ปัญหาถูกจุด

ที่ผ่านมา สื่อไม่กล้าพูดถึงเหล้าเบียร์เลย ซึ่งจริงๆ หากเกิดการปลดล็อกแล้ว เราทุกคนรวมทั้งสื่อควรช่วยกันสร้างค่านิยมไม่ขายให้เด็ก ไม่ดื่มแล้วขับ ช่วยกันพูดทั้งสองมุมอย่างกว้างขวาง

นอกจากนี้ในเรื่องของอีโคซิสเต็ม เราไม่ค่อยมองคนทำ หรือร้านอาหารที่นำสุรามาขาย แต่จะโฟกัสแค่เกษตรกร ปัญหาสำคัญคือ “เขาทำของอร่อยเป็น แต่ขายไม่เป็น” ไม่มีคนไปช่วยเรื่องการตลาด ปัญหาคือ อยากทำโปรดักต์แต่ทำแบรนดิ้งไม่เป็น หากภาครัฐเข้ามาช่วยส่งเสริมในเรื่องนี้จะดีมาก ซึ่งตอนนี้จะเห็นได้ว่าโปรดักต์สุราของจีนสวยไม่แพ้ญี่ปุ่นเลย

ถามว่าอะไรที่จะช่วยผลักดันสุราไทย คุณบะหมี่ ประภาวี กล่าวว่า ควรปลดล็อกเรื่องภาษี เพราะเบียร์กับไวน์ ภาษีสูงมาก ทำให้คนไม่ดื่มคราฟต์เบียร์เพราะราคาแพง วัตถุดิบแพง แต่ไม่ควรแพงถึง 4-5 เท่า หรืออาจจะแก้ปัญหาการนำเข้าเบียร์กับไวน์น้อยลง อีกเรื่องคือ ภาษีสุราไทย แม้จะปลดล็อกไปแล้วก็อยากให้ช่วยได้กว่านี้

สิ่งที่สำคัญคือ เราเคยชวนคุยเรื่องคราฟต์เบียร์มาหลายปี แต่ยังไม่มีการทำต่อ ไม่ได้รับการสนับสนุนมากนัก ยกตัวอย่าง หากมีการจัดงานที่มีเหล้าเบียร์เป็นพระเอก งานจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ จึงอยากให้ภาครัฐเอาสิ่งที่เราพูดทั้งหมดไปตกผลึก หากมองเหล้าเบียร์เป็นอาหาร ก็จะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว เรื่องเหล่านี้ก็จะไม่เกิดขึ้น.