ร่างผังเมืองรวม กทม. ฉบับใหม่ ที่มีการปรับปรุงครั้งที่ 4 ยังมีการโต้เถียงถึงผลกระทบ โดยเฉพาะการตัดถนนใหม่ กว่า 148 สาย และต้องเวนคืนในหลายพื้นที่ “สภาผู้บริโภค” ชี้ 9 ปมปัญหา ที่ต้องเร่งแก้ไข เสี่ยงละเมิดสิทธิชุมชน
กรณีการจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) ของกรุงเทพมหานคร มีการจัดรับฟังความคิดเห็นและอยู่ระหว่างการประกาศคัดค้าน แต่มีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการดังกล่าว ยังขาดการรับรู้และมาส่วนร่วมในการดำเนินการอย่างแท้จริง
เครือข่ายผู้บริโภค และ สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ติดตามกระบวนการจัดทำร่างดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง พบว่ามีหลายกระบวนการที่อาจมีปัญหาละเมิดสิทธิของชุมชน และขัดต่อการดำเนินการตามกฎหมาย จึงจัดทำ “รายงานข้อเท็จจริงการจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4)” โดยพบปัญหาดังนี้
1.ปัญหากระบวนการรับฟังความเห็น ปรึกษาหารือ มีส่วนร่วมของประชาชนในการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ไม่มีข้อมูลความละเอียด ว่า “ผลกระทบ” และแนวทางเยียวยา ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน ที่เดือดร้อน เสียหายจากผังเมืองดังกล่าว ซึ่งเป็นสาระเงื่อนไขสำคัญที่ถูกระบุไว้อย่างชัดเจนใน มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ.2562ที่ต้องชี้แจงรายละเอียด ผลกระทบและมาตรการเยียวยากับชุมชน
2. กระบวนการรับฟังความเห็นอย่างไม่เท่าเทียม มีการจัดรับฟังความคิดเห็น ผู้ทรงคุณวุฒิ หน่วยงานราชการองค์การรัฐวิสาหกิจและองค์กรวิชาชีพ ทั้งหมด 3 วันเต็ม แต่ประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนเพียง 1 วัน
3.ประชาชนส่วนใหญ่ ไม่เคยทราบเรื่องการวาง และจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) มาก่อน และไม่สามารถเข้าใจในเนื้อหา โดยเฉพาะเนื้อหาผลกระทบเรื่องการขยายถนน การตัดถนนใหม่ 148 เส้นและผังแสดงผังน้ำ ที่มีการขยายคลองระบายน้ำ การขุดคลองระบายน้ำ จำนวน 200 คลองรวมไปถึงการวางแนวอุโมงค์ระบายน้ำยักษ์ ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลถึงเรื่องการเวนคืนที่ดินจากประชาชน
4.การชี้แจงเนื้อหาการจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ยังไม่มีการสะท้อนถึง “ผลกระทบ” ที่อาจเกิดขึ้นต่อประชาชนในทุกมิติ เช่น การพัฒนาการคมนาคม การพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดิน แต่มุ่งให้ความสำคัญต่อผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ การลงทุนของกลุ่มคนบางกลุ่ม มากกว่าการคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของชุมชน
5.หน่วยงานผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ ไม่ได้มีการลงพื้นที่สอบถามความคิดเห็นของประชาชน ก่อนที่มีการจัดทำร่างผังเมืองรวม ทำให้ประชาชนไม่สามารถรับรู้และเข้าใจถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การเวนคืนที่ดิน การเปลี่ยนสีของผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน
6. การดำเนินการ ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา ๓๗ วรรค 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 บัญญัติว่า กฎหมายเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ต้องระบุวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน และกำหนดระยะเวลาการเข้าใช้อสังหาริมทรัพย์ให้ชัดแจ้ง แต่การทำผังเมืองรวมที่ระบุแนวการขยายถนน หรือการตัดถนนใหม่ กว่า 148 สาย ระยะทางรวมกว่า 600 กิโลเมตร ,แผนผังแสดงผังน้ำ ที่มีการวางแนวการขยายคลอง ตัดคลอง หรือทำอุโมงค์ระบายน้ำใหม่ กว่า 200 สาย ที่ส่งผลไปถึงเรื่องการเวนคืนที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ แต่ไม่มีการระบุระยะเวลา และงบประมาณที่ชัดแจ้ง
7.ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560มาตรา 41 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่บัญญัติว่า บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานของรัฐตามที่ แต่พบว่ามีประชาชนเพียง 21,776 คน เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น จากประชากรในกรุงเทพมหานครทั้งหมด 5,471,588 คน หรือคิดเป็นเพียง ร้อยละ 0.4 ของประชากรในกรุงเทพมหานครทั้งหมด
8.ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 72(2) บัญญัติว่า รัฐต้องจัดให้มีการวางผังเมืองทุกระดับและบังคับการให้เป็นไปตามผังเมืองอย่างมีประสิทธิภาพรวมตลอดทั้งพัฒนาเมืองให้มีความเจริญโดยสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ แต่ประชาชนไม่ทราบถึงกระบวนการต่าง ๆ มากถึง ร้อยละ 95
9.ขัดต่อประกาศคณะกรรมการผังเมือง เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความคิดเห็น การปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางและจัดทำผังเมืองรวม พ.ศ.2562กำหนด ไว้ทั้งหมด 22 ขั้นตอน แต่มีการประชุมรับฟังความคิดเห็น การปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชนเหลือ 18 ขั้นตอน โดยการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนการดำเนินงานโดยไม่มีการประชาสัมพันธ์ แจ้งให้ประชาชนรับทราบจึงถือเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชน
นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร โดยได้รวบรวมรายชื่อกว่า 493 รายชื่อมายื่นต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อให้ตรวจสอบกระบวนการจัดทำเนื่องจากเราพบว่ากรุงเทพมหานครดำเนินการละเมิดสิทธิของชุมชน
เราพบว่ากรุงเทพมหานคร จัดทำผังเมืองรวมฯละเมิดสิทธิของชุมชนในหลายประเด็น อาทิ กฎหมายกำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็นก่อนที่จะมีการจัดทำร่างผังเมืองรวมฯ แต่ กทม.ไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าว จึงขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้รับฟังปัญหาก่อนว่าประชาชน มีปัญหาอะไรกับการใช้ผังเมืองเดิมหรือไม่ ทั้งในเรื่องน้ำท่วม การก่อสร้างอาคารสูงหรือไม่ หรือสภาพเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วง 10 -20 ปีที่ผ่าน เพื่อนำเอาความคิดเห็นและปัญหาความต้องการดังกล่าวมาออกแบบผังเมืองใหม่ให้ใช้ประโยชน์ร่วม แต่ กทม.ติดกระดุมผิดเม็ดทำผิดขั้นตอน โดยนำร่างผังเมืองใหม่ มาอยู่ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ทำให้ประชาชนอยู่ในสภาพจำยอมไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ และ ไม่มีโอกาส หรือมีส่วนร่วมรับรู้ผลกระทบต่อชุมชน.
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ