กว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศทั่วโลกได้ประสบกับสถานการณ์ความขัดแย้งและความไม่แน่นอนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลทำให้รูปแบบการศึกษาสำหรับอนาคตต้องมีการปรับตัวให้มีรูปแบบการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นและสอดคล้องกับความต้องการแรงงานในอนาคตมากขึ้น
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สะท้อนข้อมูลสำคัญพุ่งเป้าไปที่การเข้าถึง “การศึกษา” ยังคงเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย โดยทั่วโลกมีเด็กและเยาวชนประมาณ 244 ล้านคนไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา ในประเทศไทย…เด็กนักเรียนกว่า 1.8 ล้านคนมีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา
ที่สำคัญ…ยังมีเด็ก เยาวชนอีก 1.02 ล้านคนที่ไม่ได้เข้าเรียนในโรงเรียน เนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจ สุขภาพ ความรุนแรงในครอบครัว และปัญหาสังคมอื่นๆ
กสศ.จึงทำงานเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา เพื่อทำงานกับผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติและระดับนานาชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาที่สำคัญนี้
ในปี 2567 ด้วยความตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาเด็กและเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษา “รัฐบาล” ได้เดินหน้าโครงการ Thailand Zero Dropout เพื่อค้นหาและช่วยเหลือเด็กและเยาวชน (อายุ 3-18 ปี) ที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ร่วมกับ 11 กระทรวง เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และการศึกษาทางเลือก
โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้เด็ก…เยาวชนได้รับการพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับ “ชีวิต” และ “อาชีพ”
“หนังสือพิมพ์นั้นอยู่ได้ด้วยศรัทธาของประชาชน ฉะนั้นเมื่อมีโอกาสก็ควรจะตอบแทนประชาชนประเทศชาติจะเจริญรุ่งเรืองกว่าที่เป็นอยู่ จำเป็นต้องส่งเสริมการศึกษาด้วยการสร้างคนและให้คนมาสร้างประเทศ” ข้างต้นนี้คือหนึ่งในคำกล่าวสำคัญของ กำพล วัชรพล อดีตผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
อันเป็นรากฐานของ “สื่อ” ต่างๆ ในเครือไทยรัฐกรุ๊ปปัจจุบัน โดยเฉพาะ “ไทยรัฐออนไลน์” และ “ไทยรัฐทีวี” ช่อง 32
พ.ศ.2512 “หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ไม่เพียงเป็นสื่อที่ให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนเท่านั้น ยังมีสิ่งหนึ่งที่ “กำพล วัชรพล” คิดถึงอยู่เสมอคือการให้โอกาสเด็กนักเรียนในชนบทมีการศึกษาที่ดี มีอาหารกลางวันอิ่มท้อง เป็นวิถีการสร้างคนและให้คนมาสร้างประเทศ…โรงเรียนไทยรัฐวิทยาแห่งแรกที่จังหวัดลพบุรี จึงได้เกิดขึ้น
จากนั้น “โรงเรียนไทยรัฐวิทยา” แห่งอื่นๆก็เกิดขึ้นตามมาโดยมี “มูลนิธิไทยรัฐ” ที่ กำพล วัชรพล ตั้งขึ้นเมื่อครั้งอายุ 60 ปี ติดตามดูแลจนเกือบ 30 ปี…สร้างโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 101 แห่ง ด้วยงบประมาณ 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ดูแลนักเรียนแล้วกว่า 30,000 คน
“ต่อไปในภายหน้า ถ้าพบคนดีๆที่ไหนและถ้าถามและได้รับคำตอบว่าเมื่อเล็กๆเคยเรียนโรงเรียนไทยรัฐวิทยาแล้ว ผมจะมีความสุขมาก” นั่นคือความปรารถนาที่ไม่เพียงต้องการให้ไทยรัฐวิทยาเรียนตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งบ่มเพาะคนดีออกสู่สังคมด้วย
ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในไทย นับหนึ่ง…ความไม่เท่าเทียมด้านทรัพยากร โรงเรียนในพื้นที่ชนบทมักขาดแคลนทรัพยากร เช่น ครูผู้สอนที่มีคุณภาพ อุปกรณ์การเรียนการสอนและโครงสร้างพื้นฐาน
ถัดมา…ค่าใช้จ่ายในการศึกษา แม้การศึกษาขั้นพื้นฐานจะเป็นสิทธิที่รัฐมอบให้ฟรี แต่ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น หนังสือเรียน ชุดนักเรียนและการเดินทาง ยังคงเป็นภาระสำหรับครอบครัวรายได้น้อย อีกทั้งความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล…การเรียนออนไลน์ในช่วงการระบาดของโควิด-19 แสดงให้เห็นถึงช่องว่างในความพร้อม
“เด็ก…ที่มีอุปกรณ์และการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต เชื่อมโยงไปถึง…คุณภาพการสอนที่แตกต่างกัน โรงเรียนในเมืองใหญ่มีมาตรฐานการสอนที่ดีกว่า ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำในผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาแนวทางปฏิรูปการศึกษาเพื่อลด
ความเหลื่อมล้ำ”
และปฏิเสธไม่ได้เลยก็คือ…การเพิ่มงบประมาณให้กับโรงเรียนในพื้นที่ขาดแคลน จัดสรรทรัพยากร…เงินทุนเพิ่มเติมให้โรงเรียนในชนบทเพื่อพัฒนาสื่อการเรียนการสอน โครงสร้างพื้นฐาน สวัสดิการครู…ลดค่าใช้จ่ายแฝงในระบบการศึกษา สนับสนุนทุนการศึกษา จัดสรรอุปกรณ์การเรียนฟรี
สำหรับนักเรียนจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย…ส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีให้เด็กทุกคนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและอุปกรณ์ดิจิทัลได้เท่าเทียมกัน รวมถึงพัฒนาความรู้ทางดิจิทัลให้ครูและนักเรียน
“กระจายอำนาจการบริหารจัดการ…เปิดโอกาสให้โรงเรียนและชุมชนมีบทบาทในการตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดการศึกษาในพื้นที่ของตนเอง พัฒนาหลักสูตรที่เน้นทักษะชีวิต…นอกจากวิชาการแล้ว ควรเพิ่มการสอนที่เน้นการพัฒนาทักษะชีวิต เช่น การแก้ปัญหา การทำงานร่วมกับผู้อื่น การสร้างจิตสำนึกพลเมือง”
“กำพล วัชรพล” ในฐานะสามัญชนคนหนังสือพิมพ์ การประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 39 ขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) พ.ศ.2560 ได้ประกาศยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านสื่อสารมวลชน และการศึกษา
“มูลนิธิไทยรัฐ”…เครื่องหมายรูปหยดน้ำ มีนักเรียนชายหญิงอยู่กลางหยดน้ำ เหนือเด็กมีข้อความมูลนิธิไทยรัฐเป็นภาษาไทยและข้อความ THAIRATH FOUNDATION อยู่ตอนล่างใต้หยดน้ำมีข้อความ “หยดน้ำใจ ไทยรัฐสู่เยาวชน” สื่อสะท้อนความหมายไว้ชัดเจน
วันที่ 27 ธันวาคม 2567 “ครบรอบ 75 ปีไทยรัฐ” และเป็นวันคล้ายวันเกิด “กำพล วัชรพล” อดีตผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐอันเป็นรากฐานของ “สื่อ” ต่างๆในเครือไทยรัฐกรุ๊ป
ขอเชิญผู้ใหญ่ใจดีทุกท่านมารวมพลัง ร่วมกันสร้างโอกาสทาง “การศึกษา” ให้เด็ก…เยาวชนไทยสืบต่อไป.
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ