“ทิม พิธา” ควง “ดร.พันธุ์อาจ” ผู้สมัครนายก อบจ.เชียงใหม่ ขอคะแนนถนนคนเดิน ชี้เรื่องทับไลน์หาเสียง “ทักษิณ” เป็นเรื่องปกติ เย้ยเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์พรรคประชาชน มี สส. ถึง 7 คน จี้ กกต. ทบทวนเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่น
วันที่ 22 ธันวาคม 2567 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้ช่วยหาเสียงพรรคประชาชน พร้อมด้วย ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้สมัครนายก อบจ.เชียงใหม่ และผู้สมัคร ส.อบจ. พร้อม สส.พรรคประชาชน จ.เชียงใหม่ ลงพื้นที่พบปะพ่อค้าแม่ค้า ชาวเชียงใหม่ และนักท่องเที่ยวที่ถนนคนเดินวันอาทิตย์ บริเวณถนนราชดำเนิน อ.เมืองเชียงใหม่ โดยได้รับการต้อนรับจากพ่อค้าแม่ค้า และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติที่มาเดินช้อปปิ้ง หลายคนได้ขอถ่ายภาพและจับมือกับนายพิธา พร้อมให้กำลังใจ
ขณะที่นายพิธา ได้กล่าวขอบคุณและแนะนำ ดร.พันธุ์อาจ ซึ่งจะลงสมัครชิงเก้าอี้นายก อบจ.เชียงใหม่ ในนามพรรคประชาชน ซึ่งจะเปิดรับสมัครในวันที่ 23 ธันวาคมนี้ โดยนายพิธา ใช้เวลาในการเดินพบปะพ่อค้าแม่ค้าถนนคนเดินวันอาทิตย์ประมาณ 1 ชั่วโมงเศษก่อนจะเดินทางกลับ
นายพิธา ให้สัมภาษณ์ถึงการที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเดินทางมาช่วยผู้สมัครนายก อบจ.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทยหาเสียงในวันที่ 23 ธันวาคมนี้ว่า เป็นสิทธิ์ของนายทักษิณ แต่พื้นที่นี้ สส. 7 คนเป็นของพรรคประชาชน จึงเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ ส่วนสื่อมวลชนก็คงให้ความสนใจว่าทำไมตนเองและนายทักษิณทับไลน์กันบ่อย ครั้งก่อนก็เป็นช่วงปีใหม่ไทย และครั้งนี้ก็ปีใหม่สากล จึงวางแผนลงพื้นที่มาพบประชาชนเป็นเรื่องปกติ โดยเสร็จจาก จ.อุบลราชธานี ก็ที่ จ.ลำพูนก่อนเพราะพรรคส่งผู้สมัครลงนายก อบจ.ด้วย จากนั้นจึงเดินทางต่อมาเชียงใหม่
นายพิธา กล่าวอีกว่า อยากให้ชาวเชียงใหม่ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งกันเยอะๆ เหมือนการเลือกตั้งใหญ่ปี 2566 จนทำให้อดีตพรรคก้าวไกลได้คะแนน สส.ปาร์ตี้ลิสต์ถึง 460,000 กว่าคะแนน หากประชาชนออกไปใช้สิทธิ์กันมากๆ และทำให้พรรคประชาชนเหมือนที่เคยทำให้กับอดีตก้าวไกลมาก่อน ก็จะได้นายก อบจ.ที่แก้ปัญหาด้วยวิธีคิดนอกกรอบ เพราะนายพันธุ์อาจเป็นคนมีประสบการณ์ เคยอยู่ในกรอบ ผ่านงานราชการมาก่อน และทำงานอยู่หลายองค์กร เช่น จิสด้า จึงแก้ปัญหาทั้งไฟป่า และฝุ่นได้
“ไม่ได้กังวลใจเรื่องฐานเสียงที่หายไป จากคนวัยทำงานที่อาจไม่กลับมาเลือกตั้งนายก อบจ. แต่กังวลใจกับระบบประชาธิปไตยทั้งประเทศเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่แตกต่างกับสนามใหญ่ซึ่งไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้า การเลือกตั้งข้ามเขต และการเลือกตั้งในต่างประเทศไม่ได้ ทำให้การใช้สิทธิ์ลดลงอย่างมีนัยยะ เช่นการเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี จาก 69% เหลือ 52% กกต.ต้องคิดแล้ว ส่วนที่เลขา กกต.บอกว่าการที่นายก อบจ.หลายจังหวัดลาออกล่วงหน้ามีผลกระทบ เพราะไม่สามารถลางานมาใช้สิทธิ์ได้หลายครั้ง จึงอยากเชิญชวน กกต.และคนที่ดูแลกฎหมาย ทบทวนเรื่องการเลือกตั้งควรใช้เวลาน้อย คำนึงถึงประชาชนที่ต้องทำมาหากิน ไม่สามารถลางานได้” นายพิธากล่าว
ทั้งนี้การลาออกของ นายก อบจ.หลายจังหวัดถือเป็นสิทธิ์ แต่ก็เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณในการจัดเลือกตั้งถึง 2 ครั้ง และทำให้ประชาชนมาใช้สิทธิ์ยากลำบาก เพราะต้องเลือกถึง 2 รอบ คือ นายก อบจ. 1 รอบ และ ส.อบจ. 1 รอบ จึงทำให้การมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งนายก อบจ.มีน้อย อย่างไรก็ตามมีความหวังว่าพี่น้องชาวลำพูนและเชียงใหม่จะกลับมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งกันเยอะๆ โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่เรียนอยู่ในกรุงเทพและต่างจังหวัด
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ