ทำไม? ช่วงนี้ “กทม.” ฝนจึงตกช่วงเย็นถึงคํ่ามากกว่าปกติ และเกิด “น้ำท่วมหนัก”…เฉพาะแห่ง เป็นอีกคำถามสำคัญจากอาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อม ที่ดูจะกินใจใครหลายๆคน

“ช่วงปลายฝนต้นหนาวในกรุงเทพฯและปริมณฑล ในช่วงกลางวันอากาศจะร้อนแสงแดดแรง แต่ในช่วงเวลาเย็นและช่วงกลางคืนจะมีฝนตกหนักมีความถี่มากขึ้น โดยฝนที่ตกหนักจะตกลงมาเป็นหย่อมๆไม่ได้ตกทั่วทั้งกรุงเทพฯทั้งหมด ซึ่งไม่เหมือน เมื่อก่อน ทำให้เกิดน้ำท่วมขังรอการระบายในพื้นที่หลายแห่ง…”

อาจารย์สนธิ บอกว่า สภาพภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนไป อากาศที่ร้อนขึ้น ทำให้เกิดการระเหยของน้ำขึ้นสู่อากาศมากกว่าปกติและรวมตัวกันเป็นเมฆมากขึ้น เกิดฝนตกเฉพาะพื้นที่แบบ กระหน่ำไม่ลืมหูลืมตา เรียกว่า “Rainbomb” หรือ…“ฝนตกกระหน่ำ” มากขึ้น

ภาวะโลกร้อน…สภาพภูมิอากาศแปรปรวน ทำให้หลายพื้นที่ทั่วโลกประสบกับฝนตกกระหน่ำอย่างหนักที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้น สาเหตุสำคัญมาจากการที่อุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นทำให้น้ำระเหยมากขึ้นและเกิดความชื้นในอากาศมากขึ้น ส่งผลให้เมื่อมีเมฆก่อตัว ฝนจึงตกลงมาในปริมาณมากอย่างรวดเร็ว

พุ่งเป้าไปที่ “ฝนตกกระหน่ำ” ปรากฏการณ์นี้มาจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิทำให้ “วงจรน้ำ” ทำงานเร็วขึ้น เมฆอุ้มความชื้นได้มากขึ้น ซึ่งทำให้ฝนตกหนักและทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่

โลกร้อน…น้ำระเหยมากขึ้น การควบแน่นในชั้นบรรยากาศสูงขึ้น ทำให้เกิดการฝนตกในรูปแบบที่รุนแรงและถี่ขึ้น ส่งผลให้เกิดน้ำท่วม…พายุฝนหนักในบางพื้นที่ ในขณะที่พื้นที่อื่นอาจเจอกับปัญหาภัยแล้ง

นอกจากนี้แล้วยังเกิด “พายุที่รุนแรงขึ้น” ด้วยว่าโลกร้อนส่งผลให้เกิดพายุไซโคลน พายุเฮอริเคน…พายุฝนฟ้าคะนองที่รุนแรง ขึ้น ความถี่และความรุนแรงของพายุเหล่านี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจาก “พลังงาน” ที่เพิ่มจาก “อุณหภูมิสูง” ของทะเลและบรรยากาศ

เมื่อมหาสมุทรมีอุณหภูมิสูงขึ้น พายุเฮอริเคนและพายุไซโคลนจะดูดซับพลังงานจากน้ำทะเลร้อนมากขึ้น ทำให้มีความรุนแรงและกำลังแรงมากขึ้น ฝนที่ตกลงมาพร้อมพายุเหล่านี้จึงเพิ่มความรุนแรงของผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น น้ำท่วมใหญ่ การ กัดเซาะชายฝั่ง และลมพายุที่ทำลายล้างสิ่งปลูกสร้าง

ข้อถัดมา…“เมฆ” เกิดจากอากาศที่ร้อน ซึ่งมีความสามารถในการดูดไอน้ำบนพื้นโลกได้มากกว่าอากาศเย็น นำไอน้ำไปรวมตัว กันกลายเป็นอากาศร้อนชื้นและลอยตัวสูงขึ้นไปในอากาศระดับที่เย็นกว่า เมื่ออุณหภูมิลดลงจะทำให้ไอน้ำในอากาศร้อนชื้นกลั่นตัว และรวมตัวกันกลายเป็นก้อนเมฆที่เราสามารถมองเห็นได้

ซึ่งในพื้นที่ระดับความสูงแต่ละแห่งจะมีอุณหภูมิที่แตกต่างกัน จึงทำให้เกิดก้อนเมฆขนาดเล็กและขนาดใหญ่จำนวนมากกระจัดกระจายอยู่บนท้องฟ้าในช่วงเวลากลางวัน

 น่าสนใจว่าในช่วง “ปลายฝนต้นหนาว” ของประเทศไทย กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีอุณหภูมิของอากาศสูงมากกว่า 30 องศาขณะที่มีความชื้นในอากาศถึง 70% จึงทำให้เกิดเมฆพัด กระจัดกระจายบนท้องฟ้ามากขึ้นขณะที่เริ่มมีมวลอากาศเย็นหรือความกดอากาศสูงจากแผ่นดินใหญ่…

เคลื่อนตัวลงมาทางภาคเหนือและทางภาคตะวันออก เฉียงเหนือของประเทศไทย ขณะที่มีลมพัดในแนวราบจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือด้วยอัตรา 6 กม.ต่อ ชม.ในช่วงเวลากลางวัน และจะสูงขึ้นถึง 10 กม.ต่อ ชม.ในช่วงเย็นและกลางคืน

ดังนั้น…ในช่วงเวลาเย็นและกลางคืนลมที่แรงขึ้นกับมวลอากาศเย็นจะพัดพาให้เมฆที่กระจัดกระจายมารวมตัวกันที่จุดใดจุดหนึ่ง ก้อนเมฆเมื่อมีขนาดใหญ่ขึ้นจนไอน้ำที่รวมกันไม่สามารถลอยตัวอยู่ในก้อนเมฆได้ ประกอบกับมีอากาศเย็นเข้ามาปะทะด้วยจึงตกลงมาเป็น “ฝน”

ย้ำว่า…ปรากฏการณ์โลกที่ร้อนขึ้น ทำให้น้ำจากทะเลมหาสมุทรระเหยขึ้นไปรวมกลายเป็นความชื้นอยู่ในอากาศมากกว่าปกติ อุณหภูมิของโลกที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 1 องศา จะทำให้ความชื้นระเหยขึ้นไปกลายเป็นเมฆฝนถึง 7% และทำให้อุณหภูมิ ที่ระดับความสูงต่างๆของพื้นโลกแตกต่างกันมากยิ่งขึ้น

จึงเกิด “เมฆฝน” พัดกระจัดกระจายบนท้องฟ้า เมื่อมีลม ขนาดปานกลางพัดผ่านก็จะทำให้ก้อนเมฆต่างๆมารวมตัวกันมีขนาดใหญ่มากขึ้นในจุดใดจุดหนึ่ง ในขณะที่มวลอากาศเย็นกว่าพัดลงมาปะทะทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ก้อนเมฆระเบิด (Cloud Burst)”

คือ…ไอน้ำในก้อนเมฆเกิดการปั่นป่วนรุนแรงขึ้นและมีกระแสลมพัดขึ้นทางแนวตั้งตลอดตั้งแต่ฐานจนถึงยอดเมฆ (Updraft) ซึ่งบางครั้งอาจมีความรุนแรงถึง 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จึงเกิดฝนตกกระหน่ำ (Rain Bomb) อย่างต่อเนื่องในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งอย่างไม่ลืมหูลืมตาในช่วงเวลาหนึ่ง

…จะทำให้เกิดน้ำท่วมหนักในพื้นที่นั้น หากเป็นพื้นที่ใกล้แม่น้ำ ทะเล เป็นต้น จะยิ่งซ้ำเติมด้วยน้ำทะเลหนุนในช่วงนี้ด้วย

ถึงตรงนี้ให้รู้เอาไว้อีกว่า…เมื่อเข้าสู่เดือนพฤศจิกายน มวล อากาศเย็นจากแผ่นดินใหญ่จะรุนแรงมากขึ้น จะดันให้อากาศร้อนและร่องมรสุมเลื่อนลงไปภาคใต้ตอนล่างทำให้ความชื้นซึ่งจะเกิดฝนตกมากขึ้น แต่กรุงเทพฯและปริมณฑลจะมีฝนตกน้อยลงและจะมีอากาศเย็นปกคลุมผิวโลกมากขึ้น

และ…เป็นที่มาของ “ฝุ่น PM 2.5” ที่จะสูงขึ้นตามลำดับอีกด้วยเช่นกัน

อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ฝากทิ้งท้ายว่า ปรากฏการณ์ที่โลก มีอุณหภูมิสูงขึ้น…ภาวะโลกร้อน และฝนตกกระหน่ำอย่างหนักเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังส่งผลกระทบทั่วโลก

“ปัจจัยทั้งสองนี้มีความเชื่อมโยงกันอย่างมาก และ

เกิดจากกระบวนการทางธรรมชาติและกิจกรรมของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในระดับใหญ่”.