ปี 2568 ตรงกับปีมะเส็ง….ปีที่โลกจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป!
สาเหตุใหญ่มาจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศที่วิปริตสุดขีดเมื่อโลกของเราเข้าสู่ยุคโลกเดือด ต่อเนื่องจากปี 2567 และนับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
ส่วนการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือ “การลดก๊าซเรือนกระจก” ของโลกยังไปไม่ถึงไหน
ขณะที่ความรู้ที่เคยมีกำลังเป็นอดีต เราต้องทำความเข้าใจกับทะเลและมหาสมุทรยุคใหม่ ที่ปัจจุบันอุณหภูมิของน้ำทะเลและมหาสมุทรมีการเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์
เนื่องมาจากการดูดซับความร้อนส่วนเกินจากผิวโลกกว่า 90% ทะเลร้อนขึ้น ไอน้ำระเหยจากทะเลเยอะ อากาศร้อนจุไอน้ำได้มากขึ้น เมฆมีไอน้ำเยอะ ฝนตกแช่แป๊บเดียวน้ำลงมามหาศาลหรือที่เรียกว่า (Rainbomb) ที่ถล่มตั้งแต่เหนือจดใต้
และยิ่งเมื่อมองไปถึงอนาคตข้างหน้า มนุษย์ก็ยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นทุกปี โลกก็ยิ่งร้อนขึ้น ผลกระทบก็ยิ่งหนักหน่วงรุนแรงเพิ่มขึ้น
ขณะที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) หน่วยงานหลักในการดูแลรับผิดชอบเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ ได้มีการยกระดับลดโลกเดือดมาอย่างต่อเนื่อง
“ในการประชุม COP29 ณ ประเทศอาเซอร์ไบจาน ช่วงปลายเดือน พ.ย.2567 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้แสดงความมุ่งมั่นในการยกระดับการดำเนินงานทั้งการปฏิบัติตามเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี ค.ศ.2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี ค.ศ.2065 รวมถึงบูรณาการแผนการปรับตัวระดับชาติให้เชื่อมโยงกับระดับท้องถิ่น ด้วยการให้แต่ละจังหวัดทำแผนลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาระดับโลก ต้องใช้ระยะเวลาในการจัดการปัญหา แต่เราทำจริงจัง” ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทส.กล่าวถึงการแก้ปัญหาโลกเดือด
ขณะเดียวกันหนึ่งในมาตรการที่ ทส.จะลดก๊าซเรือนกระจกคือมาตรการคุมเข้มฝุ่น PM2.5 และไฟป่า ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยต้นทางของการเกิดก๊าซเรือนกระจก เพราะทุกปีประเทศไทยต้องเผชิญกับ “ฤดูฝุ่นพิษ” มาโดยตลอด
ดร.เฉลิมชัย กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ได้สั่งการให้เพิ่มมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า การเผาในที่โล่ง การเผาวัสดุทางการเกษตร ตลอดจนปัญหาหมอกควันข้ามแดน ไปจนถึงฝุ่นควันจากยานพาหนะในเขตเมืองอย่างเข้มข้น ด้วยการบูรณาการความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน โดยมี ทส.เป็นแกนหลัก พร้อมออกมาตรการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควันและฝุ่นพิษ ปี 2568
“การแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ไฟป่าในปี 2568 ทส.จะร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ใช้กลไกการทำงานของจังหวัดบูรณาการร่วมกับส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างครอบคลุม ครบถ้วนทุกมิติและมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้ามาแก้ไขปัญหาด้วยการให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรโดยไม่เผาและให้มีการทำเกษตรแบบ Low carbon ให้เป็นเกษตรปลอดการเผา” ดร.เฉลิมชัย กล่าว
นอกจากนี้ยังมอบหมายให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ร่วมกับกรมป่าไม้ ดูแลรับผิดชอบการเผาไหม้ในพื้นที่อุทยานฯ ตลอดจนเฝ้าระวังไม่ให้มีการเผาป่า ถางป่า และการนำพื้นที่ป่าไปใช้ในการทำเกษตรอย่างผิดกฎหมาย ในส่วนของหมอกควันข้ามแดน ให้ กระทรวงการต่างประเทศ รับหน้าที่เป็นผู้เจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน และเร่งรัดการดำเนินการตามมาตรการ Clear sky strategy
ขณะที่ กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลัง เร่งจัดทำมาตรการควบคุมการรับซื้อและนำเข้าข้าวโพดจากต่างประเทศที่มีการเผาไร่ข้าวโพด รวมถึงให้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พัฒนาระบบตรวจจับฝุ่นควัน และระบบแจ้งเตือนประชาชน และให้ กระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับสุขภาพของประชาชนและนักท่องเที่ยวในพื้นที่เสี่ยง
“มาตรการป้องกันและเฝ้าระวังสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และ PM 2.5 ปี 2568 ตั้งเป้าว่าพื้นที่ไฟไหม้จะลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 จากปี 2567” รมว.ทส. ระบุในตอนท้าย
ด้าน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. กล่าวว่า จากข้อมูลของ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ระบุว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้าอุณหภูมิของโลก มีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นอีก 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งผลกระทบที่สำคัญ ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ปะการังเสี่ยงอยู่ในภาวะฟอกขาว เกิดภัยแล้งรุนแรง ผลผลิตทางการเกษตรลดลง เป็นต้น สำหรับประเทศไทยจะเผชิญกับความเสี่ยงที่รุนแรงและยากต่อการคาดการณ์มากขึ้น เช่น ภาคใต้เกิดฝนตกหนักแบบกระจุกตัว (Rainbomb) เกิดน้ำท่วมฉับพลันและดินโคลนถล่ม ประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 7 แสนครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 35 ราย มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 1 หมื่นล้านบาท และได้ถูกจัดอันดับประเทศที่ได้รับความเสี่ยงจากเหตุการณ์ภูมิอากาศสุดขั้ว เป็นอันดับ 9 ของโลก ดังนั้น กรมลดโลกร้อน ได้จัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (NAP) และในปี 2568 จะจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรายสาขา (Thailand’s Action Plan on Adaptation) เพื่อขับเคลื่อนงานด้านการปรับตัวสู่ระดับพื้นที่
ทั้งหมดนี้เพื่อรับมือกับสถานการณ์โลกเดือด ในปี 2568
“ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม” เห็นด้วยกับทุกมาตรการในความพยายามแก้ปัญหา โดยเฉพาะเมื่อ โลกอยู่ในยุคที่กำลังร้อนเป็นไฟ และยังไม่มีท่าทีว่าเราจะหยุดยั้งวิกฤติที่เกิดขึ้นได้ เราทุกคนคงต้องเร่งช่วยกันหาทางรับมือโดยเฉพาะรัฐบาลจะต้องแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
ก่อนที่โลกจะเปลี่ยนไปและเลวร้ายจนไม่สามารถแก้ไขหรือเยียวยาให้หวนกลับได้.
ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” เพิ่มเติม
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ