มท.1 สั่งตั้งคณะกรรมการสอบ “ปลัดอำเภอท่าอุเทน จ.นครพนม” 1 ในจำเลยคดีตากใบ หายตัวไร้ร่องรอยช่วงถูกออกหมายจับ จู่ๆกลับมาทำงานทันทีหลังคดีหมดอายุความ อ้างต้องให้ความเป็นธรรม ขาดราชการแค่ 6 วัน ยังไม่ถึง 15 วัน ไล่ออกไม่ได้ “นายกฯอิ๊งค์” โบ้ยให้ “อนุทิน” ตอบคำถามสังคม จ่อลงเยี่ยมชาวใต้ แต่ยังอุบไต๋ล่องไปจังหวัดไหนบ้าง “โรม” ขย่มต่อ ชี้ความเชื่อมั่นรัฐบาลดิ่งเหว ระบุปัญหานี้จะกลายเป็นวิกฤติสุมไฟใต้ลุกโชนอีกครั้ง “ผู้ช่วย ผบ.ตร.” อ้อมแอ้มตำรวจทำเต็มที่แล้ว มั่นใจสถานการณ์ไม่บานปลาย ขณะที่เจ้าตัวยังกบดานเงียบอยู่ในพื้นที่

กลายเป็นรอยด่างของกระบวนการยุติธรรม ภายหลังศาลจังหวัดนราธิวาส จำหน่ายคดีม็อบตากใบ ออกจากสารบบคดี เนื่องจากจำเลย 14 คนที่ถูกออก หมายจับ เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส มีผู้เสียชีวิต 85 ศพ เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 ไม่ยอมมาศาลตามนัด และตำรวจไม่สามารถจับตัวได้แม้แต่คนเดียว กระทั่งคดีหมดอายุความไปเมื่อวันที่ 25 ต.ค.67 แต่ทันที ที่คดีอาญาขาดอายุความ หนึ่งในจำเลยคดีตากใบ และเป็นข้าราชการระดับสูงของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้ออกมาปรากฏตัว กลับเข้า ปฏิบัติราชการตามปกติ ทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทำให้สังคมเกิดความกังขาพร้อมตั้งคำถามว่า รัฐบาลไม่จริงใจในการแก้ปัญหาไฟใต้ และพยายามช่วยเหลือเจ้าหน้าที่รัฐด้วยกันหรือไม่ ขณะที่ญาติผู้เสียชีวิตแสดงความรู้สึกคล้ายถูกตบหน้าจากภาครัฐ

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 29 ต.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีนายวิษณุ เลิศสงคราม ปลัดอำเภอท่าอุเทน จ.นครพนม 1 ใน 14 จำเลยคดี ตากใบ ปรากฏตัวมาทำงานเมื่อวันที่ 28 ต.ค. หลังคดี หมดอายุความเมื่อวันที่ 25 ต.ค. ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ว่า สั่งการให้ปลัดกระทรวงมหาดไทย ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ทราบว่า

นายวิษณุ แจ้งลาช่วงวันที่ 16-18 ต.ค. ระบุลาพักผ่อน แต่ภายหลังได้รับหมายดำเนินคดีจากตำรวจในวันที่ 15 ต.ค. นายอำเภอท่าอุเทน ได้ยกเลิกใบลาและสั่งให้ นายวิษณุเข้ารายงานตัว แต่เจ้าตัวไม่ได้มารายงานตัว และลาเพิ่มเติม ทำให้ขาดราชการ 6 วัน ยังไม่ถือว่าขัดระเบียบ เพราะไม่เกิน 15 วัน ถ้าเกินถึงจะไล่ออกได้ ต้องให้ความเป็นธรรม ต้องตั้งกรรมการสอบสวนว่า เหตุใดถึงไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง

เมื่อถามว่าจะสอบจริยธรรมหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ใช่ เคยบอกไว้ว่าคนพวกนี้คงไม่ได้อยู่อย่างสุขสบาย เพราะมีแรงกดดันมหาศาลจากสังคม เปลี่ยนชื่อเป็น “เอ๊ะ” ได้เลย เพราะเจอชื่อนี้เมื่อไหร่ต้องเอ๊ะไว้ก่อน เป็นโทษ ทางสังคมที่เขาจะได้รับ กรณีที่เกิดขึ้นกระทบต่อการเติบโตทางราชการแน่นอน แต่ต้องให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย เมื่อถามว่าจะสั่งย้ายไป อ.ตากใบ จ.นราธิวาส หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ถ้าตนสั่งก็ผิดเพราะไม่สามารถก้าวก่ายข้าราชการประจำได้ เป็นอำนาจของปลัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อถามว่ามีข้อเสนอให้ตัดบำเหน็จบำนาญ นายอนุทินตอบว่า การจะลงโทษ อะไรใครต้องยึดตามระเบียบ หากทำผิดระเบียบจะถูกฟ้องได้

ต่อมาเวลา 12.10 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึง ข้อเรียกร้องให้ตัดบำเหน็จบำนาญจำเลยคดีตากใบที่เป็นข้าราชการ กลับมาทำงานหลังคดีหมดอายุความว่า เรื่องนี้ รมว.มหาดไทย เป็นผู้รับผิดชอบ ได้สั่งการ และพูดคุยกันเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างจัดทำระเบียบ เมื่อถามย้ำว่ากรณีปลัดอำเภอท่าอุเทน ที่กลับไปปฏิบัติราชการต่อแบบทองไม่รู้ร้อน จะกระทบความเชื่อมั่นของรัฐไทยหรือไม่ นายกฯกล่าวว่า ขอให้ รมว.มหาดไทย เป็นผู้ตอบ ได้พูดคุยกันแล้ว เมื่อถาม อีกว่าส่วนตัวนายกฯคิดว่ากระทบความเชื่อมั่นหรือไม่ น.ส.แพทองธารกล่าวว่า เรื่องนี้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย เมื่อถามต่อว่าจะลงพื้นที่ให้กำลังใจผู้เสียหายจากคดีตากใบหรือไม่ นายกฯกล่าวว่า มีแผนจะลงพื้นที่ภาคใต้อยู่แล้ว เพียงแต่ต้องดูว่าไปจังหวัดไหนอย่างไรบ้าง

ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) ให้สัมภาษณ์กรณีปลัดอำเภอท่าอุเทน จำเลยคดีตากใบ กลับมา ปฏิบัติหน้าที่ทันทีหลังคดีหมดอายุความว่า อาจเป็นความพึงพอใจของรัฐบาลแล้วที่คดีจบได้เสียที แบบไม่มีใครสามารถดำเนินการทางกฎหมายกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และพรรคการเมืองก่อนหน้านั้นที่เป็น ต้นสายให้พรรคเพื่อไทยได้อีกต่อไป ยังมีพฤติการณ์ของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม พฤติกรรมนายกฯเอง ทำให้ประชาชนผู้ที่เกี่ยวข้องกับ คดีนี้ ไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลมีความตั้งใจ เพียรพยายามในการคลี่คลายปมนี้ เรื่องนี้อาจกลายเป็นวิกฤติอีกครั้งหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้

เมื่อถามว่านายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในขณะนั้น ควรออกมารับผิดชอบด้วยหรือไม่ นายรังสิมันต์ระบุว่า ที่ผ่านมาคำขอโทษมาช้า 18 ปี แต่พอ มันช้าไป น้ำหนักของคำขอโทษก็หายไปเยอะ และนี่เป็นผลลัพธ์ของอดีตนายกฯทักษิณได้ทำไว้จนมาถึง รัฐบาลนี้ ที่สังคมอยากเห็นไม่ใช่แค่คำขอโทษอย่างเดียว แต่คือการกระทำที่แสดงถึงความจริงใจ ซึ่งแทบไม่มี ย้ำว่าความเชื่อมั่นของรัฐบาลตอนนี้ดิ่งเหว

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วย ผบ.ตร. กล่าวว่า หลังศาลจังหวัดนราธิวาส ออกหมายจับผู้ต้องหาในคดีตากใบ ตำรวจได้เร่งติดตาม จับกุมผู้ต้องหาทันที เข้าตรวจค้น 52 จุด เฝ้าระวังจุด 241 จุด ทั้งบ้านตามภูมิลำเนา บ้านญาติของผู้ต้องหา แต่ไม่พบตัวผู้ต้องหา ประสานตำรวจสากลออกหมายแดงทั้ง 14 คน ต่อมาสืบสวนทราบว่า ผู้ต้องหา 1 คน หลบหนีไปที่ประเทศญี่ปุ่น และอีก 1 คน หลบหนีไปประเทศอังกฤษ แต่ไม่สามารถ จับกุมได้ จนเมื่อคดีขาดอายุความและศาลสั่งจำหน่าย คดีออกจากสารบบ สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องระงับ ไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) ทำให้หมายจับหมดสภาพบังคับ

ผู้ช่วย ผบ.ตร. กล่าวว่า ที่ผ่านมาตำรวจและ ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน พยายามติดตามตัวผู้ต้องหาทุกคนอย่างเต็มที่แล้ว แม้ภายหลังคดีหมดอายุความ พบว่าปลัดอำเภอท่าอุเทน 1 ในผู้ต้องหาในคดีปรากฏ กายกลับมาทำงานตามปกติ ขึ้นอยู่กับต้นสังกัดพิจารณาต่อไป ส่วนการที่ไม่สามารถตามจับผู้ต้องหาได้ จะเป็นความผิดพลาดของตำรวจหรือไม่ เชื่อว่า พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร ผบ.ตร. จะตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้ง ผู้สื่อข่าวถามว่าเมื่อไม่สามารถตามจับกุมผู้ต้องหาคดีตากใบได้ อาจส่งผลให้สถานการณ์ในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้รุนแรงขึ้น พล.ต.ท.สำราญ กล่าวว่า ได้เฝ้าระวังและแจ้งเตือนตำรวจในพื้นที่ ป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เพื่อความสงบเรียบร้อยแล้ว

ที่ จ.นครพนม นางลณิดา เหลืองฐิติสกุล รรท.ผวจ.นครพนม เปิดเผยว่า กรณีปลัดอำเภอท่าอุเทน มีชื่อในหมายจับคดีตากใบ ถึงแม้จะหมดอายุความในคดีอาญา เนื่องจากหมายจับคดีอาญาแจ้งมาทางจังหวัดนครพนม และประสานไปยังอำเภอท่าอุเทน ต้นสังกัด แต่เจ้าตัวไม่มาทำงานเลยไม่เจอตัวและ มารายงานตัวทำงานเมื่อวันที่ 28 ต.ค. หลังคดีความ หมดอายุไปแล้วนั้น ในส่วนระเบียบทางราชการต้อง ตรวจสอบ ได้สั่งการให้นายปรีชา สอิ้งทอง นายอำเภอ ท่าอุเทน ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย เพื่อเอาผิด ในส่วนของการขาดราชการ มีทั้งโทษความผิดวินัยร้ายแรง หากขาดราชการเกิน 15 วัน แต่หากไม่เกิน จะเป็นโทษว่ากล่าวตักเตือน ภาคทัณฑ์ ลดขั้นเงินเดือน

ประวัตินายวิษณุ เลิศสงคราม อายุ 45 ปี ปัจจุบันมีตำแหน่งปลัดชำนาญการ ฝ่ายความมั่นคง อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม เดิมรับราชการทหารเรือ ในพื้นที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ภายหลังได้สอบโอนย้ายมารับราชการกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพราะเคยมาทำงานในพื้นที่หลายอำเภอของ จ.นครพนม ล่าสุดย้ายมาสังกัด อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม เมื่อเดือน ส.ค.67 และนายวิษณุได้ยื่นลาพักผ่อนตั้งแต่วันที่ 15-18 ต.ค.67 ก่อนมีหมายจับออกมา ต่อมาเมื่อวันที่ 16 ต.ค. ตำรวจแจ้งมาทาง อ.ท่าอุเทน ว่า มีหมายจับนายวิษณุ นายอำเภอท่าอุเทน ได้ยกเลิกคำสั่งลาพักผ่อน พร้อมให้มารายงานตัววันที่ 17 ต.ค. แต่ไม่ยอมมา รายงานตัว กระทั่งวันที่ 28 ต.ค. นายวิษณุถึงมารายงานตัวทำงาน

ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่ว่าการอำเภอท่าอุเทน ขอเข้าพบสอบถามข้อเท็จจริงกับนายวิษณุ เลิศสงคราม ปลัดชำนาญการ ฝ่ายความมั่นคง อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม พบว่าไม่อยู่ในสำนักงาน สอบถามเจ้าหน้าที่อ้างว่า นายวิษณุออกพื้นที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านความมั่นคง เพราะรับผิดชอบเกี่ยวกับการป้องกันปัญหายาเสพติด ส่วนใหญ่จะลงพื้นที่ชุมชนและพบปะชาวบ้านตามแนวชายแดนเป็นหลัก ผู้สื่อข่าวพยายามติดต่อทางโทรศัพท์แต่เจ้าตัวไม่รับสาย เมื่อไปตรวจสอบที่บ้านพัก ปลัดอำเภอ ไม่พบตัวเช่นกัน สอบถามเจ้าหน้าที่ อส. บอกว่าไม่รู้ปลัดฯ ไปไหน และจะกลับเมื่อไหร่ แต่คาดว่า ยังอยู่ในพื้นที่ อ.ท่าอุเทน ไม่ได้หลบหนีไปไหน