บอร์ดค่าจ้างถกนาน 5 ชั่วโมง มีมติเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทุกจังหวัด 17 กลุ่ม ในอัตรา 7-55 บาท โดยมี 4 จังหวัด 1 อำเภอ ปรับขึ้นสูงสุด 400 บาท ส่วน กทม. และปริมณฑล ปรับเป็น 372 บาท ชง ครม. พรุ่งนี้
เมื่อเวลา 18.40 น. วันที่ 23 ธันวาคม 2567 นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ประธานคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ด) ชุดที่ 22 แถลงผลการประชุมบอร์ดไตรภาคีที่กระทรวงแรงงาน หลังประชุมตัวเลขปรับค่าจ้างรายจังหวัดนาน 5 ชั่วโมง ว่า คณะกรรมการเข้าประชุมครบทั้ง 3 ฝ่าย 15 คน และมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำใน 17 กลุ่มจังหวัด
ปรับขึ้นค่าจ้างสูงสุด 400 บาท 4 จังหวัด 1 อำเภอ ได้แก่ ภูเก็ต ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และ อ.เกาะสมุย ของ จ.สุราษฎร์ธานี, ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 380 บาท ในเขตพื้นที่ อ.เมืองเชียงใหม่ และ อ.หาดใหญ่, ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นเป็น 372 บาท ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล 6 จังหวัด ส่วนอีก 67 จังหวัด ให้ปรับค่าจ้างขึ้นร้อยละ 2.0 ทั้งนี้ จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ทันในวันที่ 24 ธันวาคม 2567 เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป
สำหรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2568 จำนวน 17 อัตรา ประกอบด้วย
400 บาท
- ภูเก็ต ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี
380 บาท
- อ.เมืองเชียงใหม่ และ อ.หาดใหญ่
372 บาท
- กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร
359 บาท
- นครราชสีมา
358 บาท
- สมุทรสงคราม
357 บาท
- ขอนแก่น เชียงใหม่ (ยกเว้นอำเภอเมืองเชียงใหม่) ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี
356 บาท
- ลพบุรี
355 บาท
- นครนายก สุพรรณบุรี หนองคาย
354 บาท
- กระบี่ ตราด
352 บาท
- กาญจนบุรี จันทบุรี เชียงราย ตาก นครพนม บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พังงา พิษณุโลก มุกดาหาร สกลนคร สงขลา (ยกเว้นอำเภอหาดใหญ่) สระแก้ว สุราษฎร์ธานี (ยกเว้นอำเภอเกาะสมุย) อุบลราชธานี
351 บาท
- ชุมพร เพชรบุรี สุรินทร์
350 บาท
- นครสวรรค์ ยโสธร ลำพูน
349 บาท
- กาฬสินธุ์ นครศรีธรรมราช บึงกาฬ เพชรบูรณ์ ร้อยเอ็ด
348 บาท
- ชัยนาท ชัยภูมิ พัทลุง สิงห์บุรี อ่างทอง
347 บาท
- กำแพงเพชร พิจิตร มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ระนอง ราชบุรี ลำปาง เลย ศรีสะเกษ สตูล สุโขทัย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุตรดิตถ์ อุทัยธานี
345 บาท
- ตรัง น่าน พะเยา แพร่
337 บาท
- นราธิวาส ปัตตานี ยะลา
นายบุญสงค์กล่าวด้วยว่า การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ จะทำให้ลูกจ้างได้รับประโยชน์กว่า 3.7 ล้านคน โดยได้พิจารณาจากมาตรฐานการครองชีพ สภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน รวมทั้งความเหมาะสมตามความสามารถของธุรกิจในท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อให้ลูกจ้างมีค่าจ้างที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตและพิจารณาอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค ที่ปรับขึ้น 400 บาท ในภูเก็ต และพื้นที่ อ.เกาะสมุย เพราะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและมีค่าครองชีพสูง ส่วนชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง เป็นพื้นที่ส่งเสริมการลงทุน EEC หลังจากนี้จะไปดูในส่วนของมาตรการต่างๆ ที่จะรองรับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างต่อไป.
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ