มวลน้ำเหนือมาแล้ว คันกั้นน้ำพื้นที่ทางด้านเหนือ “เขื่อนเจ้าพระยา” อั้นไม่ไหว น้ำไหลทะลักท่วมบ้านเรือนชุมชนกว่า 100 หลังคาเรือน

วันที่ 6 ต.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยายังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับทางกรมชลประทาน ทางสถานีวัดน้ำ C2 ค่ายจิรประวัติ เมืองนครสวรรค์ เพิ่มสูง 2,383 ลบ.ม./วินาที ไหลมายังเขื่อนเจ้าพระยา จึงต้องปรับเพิ่มอัตราการระบายน้ำผ่านทางด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเป็น 2,199 ลบ.ม./วินาที และจะปรับการระบายในช่วงเย็นเป็น 2,250 ลบ.ม./วินาที เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำฝนน้ำท่า และลดผลกระทบต่อพื้นที่ทางด้านท้ายน้ำ

ล่าสุดในพื้นที่ ต.ธรรมามูล อ.เมือง จ.ชัยนาท ซึ่งเป็นพื้นที่ทางด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา มวลน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาได้ไหลทะลักเข้าท่วมในพื้นที่ ม.4 ต.ธรรมามูล เนื่องจากคันดินที่ใช้เป็นคันกั้นน้ำเกิดพังทลาย เจ้าหน้าที่ไม่สามารถนำเครื่องจักร เครื่องมือ รวมไปถึงกระสอบทรายเข้าไปทำการอุดได้ จนส่งผลทำให้มีพื้นที่ชุมชนที่อยู่อาศัย และพื้นที่ทางการเกษตรถูกน้ำท่วม ชาวบ้านกว่า 100 หลังคาเรือนได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ ทางเทศบาลตำบลธรรมามูล ได้นำรถแบ็คโฮ ลงพื้นที่เสริมสร้างคันดินตามจุดเสี่ยงต่างๆ ที่น้ำอาจจะกัดเซาะไหลเข้าท่วมพื้นที่ชุมชนเพื่อป้องกันไม่ให้มวลน้ำเข้าท่วมขยายเป็นวงกว้าง

ขณะที่ นางดำรง เนียมทอง ชาวบ้านในพื้นที่ ม.4 ต.ธรรมามูล อ.เมือง จ.ชัยนาท เผยว่า น้ำได้เริ่มไหลเข้าท่วมตั้งแต่ช่วงค่ำคืนที่ผ่านมา เนื่องจากมีมวลน้ำไหลกัดเซาะคันดินที่ใช้กั้นน้ำ แต่ยังโชคดีที่ทางเทศบาลได้มีการประกาศให้ยกสิ่งของขึ้นสู่ที่สูงจึงทำให้เก็บของได้ทัน แต่ยังมีความกังวลใจในเรื่องของปริมาณน้ำ หากมีปริมาณน้ำท่วมสูงขึ้นกลัวว่าบ้านนั้นจะทรุด

ทางด้าน น.ส.พรธนวรรณ ทองคำ นายกเทศมนตรีตำบลธรรมามูล เผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ น้ำได้เริ่มไหลเข้าท่วมในพื้นที่ ม.4 ตั้งแต่เมื่อช่วงค่ำคืนที่ผ่านมา และระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยก่อนหน้าทางเทศบาลได้ประกาศแจ้งเตือนให้ชาวบ้านขนสิ่งของไว้ยังที่สูง เบื้องต้นมีบ้านเรือนของชาวบ้านกว่า 100 หลังคาเรือนถูกน้ำท่วม โดยชาวบ้านบางรายที่มีบ้านชั้นเดียวต้องอพยพครอบครัวมาอาศัยอยู่บนถนน ทางเทศบาลก็ได้มีการกางเต็นท์ และเดินกระแสไฟฟ้าเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน นอกจากนี้ ทางเทศบาลตำบลธรรมามูล ได้นำรถแบ็คโฮ ลงพื้นที่เสริมสร้างคันดินตามจุดเสี่ยงต่างๆ ในตำบล เพื่อป้องกันไม่ให้พื้นที่น้ำท่วมนั้นขยายวงกว้างต่อไป.