“ทวีชัย ทองรอด” เจ้าของแบรนด์สังเวียน เล่าถึงกระบวนการผลิตสุรากลั่นจากอ้อย มาตรฐานที่มาพร้อมความสะอาด ยอมรับ “สุราชุมชน” เป็นเรื่องของ “การเมือง” 

วันที่ 3 ธันวาคม 2567 ที่ศูนย์การค้าเอ็มสเฟียร์ “ไทยรัฐ” ผนึกกำลังกับพันธมิตรภาครัฐและภาคเอกชน จัดงาน “เมรัยไทยแลนด์” มหกรรมสุราชุมชนและคราฟต์เบียร์ระดับประเทศครั้งแรก เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากและกระจายรายได้สู่คนตัวเล็ก เพื่อยกระดับความคราฟต์ของชุมชน ระหว่างวันที่ 27 พ.ย. – 3 ธ.ค. 2567

โดยเวทีการเสวนาร่ำเมรัย เวทีแห่งการแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ระหว่างผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐและเอกชน ที่จะมาร่วมถกกันในหัวข้อ “สุราชุมชนไม่สะอาดจริงดิ?” เมื่อสุราชุมชน ในอดีตเรามักจะผูกโยงกับความ “ไม่สะอาด” แต่ปัจจุบันสุราชุมชนยกระดับ สร้างมาตรฐานการผลิต มาปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่ๆ เรื่องสุขอนามัยของสุราชุมชน เพื่อลบล้างมายาคติเดิม กับ คุณช้าง ทวีชัย ทองรอด แบรนด์สังเวียน

เมื่อถามถึงมุมมองความแตกต่างระหว่างสุราชุมชนกับเหล้าเถื่อน คุณช้าง ทวีชัย เผยว่า คงเป็นเรื่องของใบอนุญาต คำว่า “สุราชุมชน” คือใบอนุญาตผลิตสุราชนิดหนึ่งของกรมสรรพสามิต แต่ “เหล้าเถื่อน” คือ เหล้าที่ไม่ได้จ่ายภาษี แน่นอนว่าพอเป็นแบบนี้ เราก็ต้องทำตามมาตรฐานที่กำหนด เพื่อให้ได้สแตมป์มาติดอยู่ที่ขวด ในมุมมองของผู้ประกอบการที่เริ่มทำแบรนด์มา เราเจอปัญหานิดหน่อยในช่วงที่ผลิตแรกๆ ในเรื่องความนิ่งของผลิตภัณฑ์ พอเราหาเหตุผลไปเรื่อยๆ ก็เจอว่าเป็นเรื่องของ “ความสะอาด” ถ้าเราหมักไม่สะอาด กลั่นออกมาก็จะได้กลิ่นที่ไม่ดี ดังนั้นเราประยุกต์วิธีของอุตสาหกรรมอาหารและเบียร์มาใช้ คือ ระบบ CIP มาทำความสะอาดถังหมัก เป็นการล้างถังด้วยเคมีหลายชนิด เพื่อให้ถังปลอดเชื้อที่เป็นอันตราย ก่อนที่จะนำน้ำอ้อยที่จะมาหมักทำ “สังเวียน” มาใช้ จะทำให้โปรดักต์ที่เราทำออกมามีความนิ่งมากขึ้น มีกลิ่นการปนเปื้อนที่น้อยลง

ในฐานะนักดื่ม กังวลหรือไม่ว่าจะเจอเหล้าเถื่อน คุณช้าง ทวีชัย บอกว่า ถ้าในประเทศไทย ไม่ค่อยกลัวเท่าไร อย่างน้อยก็ต้องดูพื้นฐานขั้นต่ำ เราดูก่อนว่าสิ่งที่จะเอาเข้าปากมาจากไหน ถ้าไปที่ร้านต้องดูว่าขวดมีสแตมป์ไหม ซึ่งเป็นมาตรฐานของรัฐบาล ไม่ใช่ว่าใครเอาแก้วใส่มือแล้วยกดื่มเลย

เมื่อถามถึงการเริ่มพัฒนาโรงงานหรือกระบวนการผลิตเพื่อให้ได้มาตรฐาน คุณช้าง ทวีชัย เล่าว่า คงเป็นเรื่องของแรงม้าเครื่องจักร ช่วงที่ตั้งโรงงาน มีการกำหนดว่าเครื่องจักรที่ผลิตสุราชุมชนต้องไม่เกิน 5 แรงม้า เทียบเท่ากับไมโครเวฟ 3 เครื่อง ในฐานะผู้ผลิตเหมือนเขาเอาเสื้อไซส์เล็กมาให้เราใส่ แต่อยากให้เราทำของที่มีคุณภาพ ถ้าออเดอร์มาเยอะก็จบเลย แต่ภายหลังมีการขยายเป็นการใช้เครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้า เราก็นำเครื่องทุ่นแรงมาใช้ได้เยอะขึ้น พนักงานหรือคนงานก็ไม่ต้องมาทำอะไรที่ซ้ำซาก อย่างการล้างขวดก็สามารถนำปั๊มมาใช้ได้ หรือการติดสติกเกอร์ แทนที่จะมานั่งติดทีละขวด ก็เปลี่ยนเป็นการใช้เครื่องติด ซึ่งทำให้กระบวนการผลิตมีความสะดวกสบายมากขึ้น และถ้าจะพูดถึงคุณภาพของการผลิตจริงๆ คือเรื่องของการออกแบบ ในแง่ของสุรากลั่น เราสามารถออกแบบเครื่องกลั่นที่มีขนาดใหญ่ขึ้นได้ ทำให้มาตรฐาน คุณภาพ ความสม่ำเสมอของสุรามีมากขึ้น เพราะเราทำเป็นลอตที่ใหญ่ขึ้นได้ อย่างระบบ CIP พอได้แรงม้าเพิ่ม เราก็นำมาใช้เพื่อความสะอาดในการผลิต เพื่อให้ได้น้ำเหล้าที่มีความสม่ำเสมอ

สำหรับ “สังเวียน” ซึ่งเป็นสุรากลั่นจากวัตถุดิบอย่าง “อ้อย” เหตุผลที่ต้องเป็นอ้อยคือเรื่องของโลจิสติกส์ เนื่องจากรอบๆ โรงงานมีไร่อ้อยเยอะ เพราะเป็นพืชเศรษฐกิจในท้องถิ่นของ อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี ขับรถไปไม่ไกลจากโรงงานก็เจอแต่ไร่อ้อย จึงไปขอแบ่งซื้อมาทั้งจากญาติและคนรู้จัก เป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ด้วย ซึ่งการกลั่นสุราคือการนำเอาสิ่งนั้นมาทำให้เข้มข้นขึ้น ถ้าเทียบกับนมวัว เหมือนเอานมวัวมาทำนมข้น สุรากลั่นคืองวดเอารสชาติของเขาออกมา ถ้าผมใช้อ้อยก็คือการทำอะไรที่มีรสชาติของอ้อย

ความกังวลก่อนที่จะมาทำ “สุราชุมชน” คุณช้าง ทวีชัย บอกว่า ในสายตาของคนทั่วไป สุราอาจเป็นผู้ร้าย แต่ถ้าพูดตามจริง คือ ภาพลักษณ์นี้ถูกสร้างมานานมาก เราก็พยายามขับเคลื่อนภาพลักษณ์ไปในทางที่ดีขึ้น ไม่ใช่ว่าเมากระจาย ล้มทั้งยืน ซึ่งมันน่าจะช่วยลดแรงกดดันทางการเปลี่ยนแปลงเรื่องการควบคุมได้ดีขึ้น แต่ในที่สุดแล้ว ต้องยอมรับว่า มันเป็นเรื่องของการเมือง เพราะถ้ารัฐบาลต่อๆ ไป มีแนวคิดสุดโต่งเรื่องการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็อาจจะกลับลงมาได้เหมือนกัน แต่สังเวียนคงยังอยู่ต่อ ที่เราทำไม่ใช่ว่าเราอยากขายเหล้า แต่เพราะเราชอบ เอาจริงๆ ไปทำอย่างอื่นคงรวยกว่า

เมื่อถามว่า ในอนาคตหากมีคู่แข่งมากขึ้น คุณช้าง ทวีชัย บอกว่า ส่วนตัวไม่กังวลหากจะมีคู่แข่งมากขึ้น เพราะเราก็มีตัวเลือกที่มากขึ้นด้วยในฐานะผู้บริโภค ซึ่งทั้งประเทศมันใหญ่พอสำหรับทุกคน อย่าง “สังเวียน” ขายในจังหวัด รอบๆ จังหวัด และกรุงเทพฯ ก็จะตึงๆ ความสามารถที่จะรับได้ แม้จะได้ 50 แรงม้า แต่คงผลิตไปไม่ได้มากกว่านั้น ถ้าจะมีคู่แข่งมากขึ้น ก็คงไม่ได้ชนกันโดยตรง 

เมื่อสุรากลายเป็นแพะในทุกเหตุการณ์ รู้สึกอย่างไร คุณช้าง ทวีชัย มองว่าทุกคนรู้อยู่แล้วว่าเมาแล้วขับไม่ดี แต่เรามีทางเลือกอีกไหมสำหรับคนที่ต้องการดื่มแต่ยังต้องเดินทาง ในกรุงเทพฯ ถือว่าโชคดี อาจจะมีรถไฟฟ้า มีรถเมล์ แท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ ฯลฯ แต่ในต่างจังหวัดไม่มีรถเมล์ รถไฟฟ้า หรือรถไฟ ทางเดียวที่เขาจะทำได้คือขับรถ ดังนั้นผมมองว่ามันเป็นเรื่องของที่ไม่ใช่เราตั้งกฎว่าห้ามเมาแล้วขับ ซึ่งมันเป็นการแก้เหมือนใช้เวทมนตร์ เราต้องมีทางเลือกมาบริการให้ผู้ที่ดื่มด้วย สุรามันเป็นวัฒนธรรมมนุษย์ ไม่อย่างนั้นเขาคงไม่ดื่มกันมาหลายพันปี เมื่อมนุษย์กับแอลกอฮอล์แยกกันไม่ได้ แต่เราทำให้ผู้ดื่มปลอดภัยได้ อย่างน้อยก็เป็นเรื่องการขนส่งที่สะดวกมากขึ้น

เมื่อถามว่าแบรนด์จะทำให้ออกมาดีขนาดไหน แต่มีข้อจำกัดในเรื่องโฆษณา คุณช้าง ทวีชัย ระบุว่า เรียกได้ว่าที่สังเวียนดังขึ้นมาได้เพราะกระแสการเมืองโดยตรง เราไม่สามารถโฆษณาเป็นอย่างอื่นได้ ต่อให้เราทำ “เหล้า” มาดีขนาดไหน พอเราเอาไปเสนอให้คนชิม แต่เขายังไม่รู้จัก ผู้ดื่มก็จะตั้งคำถามว่านี่อะไร ไม่กล้ากิน กินแล้วเป็นอะไรไหม แต่เราไม่มีช่องทางที่จะประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภครับรู้ได้ว่าปลอดภัย นี่ยังไม่ต้องพูดถึงความอร่อย แค่เอาโลโก้มาไว้ที่โปสเตอร์ยังจะโดนจับเลย