ข่าว “ทนายตั้ม” นายษิทรา เบี้ยบังเกิด ที่ถูกจับกุมพร้อมกับภรรยา กลายเป็นข่าวโด่งดัง กลบรัศมีข่าว 18 บอสของขบวนการดิ ไอคอนได้ ในแค่วันเดียวโดนข้อหาฉ้อโกง ร่วมกันฟอกเงิน และสมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อกระทำผิดฐานฟอกเงิน โดนพนักงานสอบสวนฟ้องศาลอาญาในทันที และไม่ได้ประกันตัวทั้งสองคน

คนที่ทำให้ทนายตั้มกับภรรยา กลายเป็นจำเลยในคดีอาญาร้ายแรงมิใช่คนอื่นคนไกล แต่เป็นผู้ที่คบหาไว้วางใจกันมานาน นั่นก็คือ น.ส.จตุพร อุบลเลิศ หรือเจ๊อ้อย ที่ทนายตั้มเคยอ้างว่าเป็นผู้ให้เงิน 71 ล้านบาท ด้วยความเสน่หา แต่เจ๊อ้อยกลับเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาหลายคดี เช่น คดีหลอกให้ลงทุนขายสลากกินแบ่งรัฐบาล

ทั้งยังถูกกล่าวหาฉ้อโกงเงินอีกหลายรายการ เช่น การซื้อรถเบนซ์ การว่าจ้างบริษัทออกแบบเพื่อก่อสร้างโรงแรม เป็นต้น มาดามอ้อยเป็นชาวนครราชสีมา แต่ไปมีสามีเป็นชาวฝรั่งเศสและถูกลอตเตอรี่ คิดเป็นเงินไทยหลายพันล้านบาท จึงว่าจ้างทนายตั้มให้ช่วยทำธุรกิจในไทยหลายโครงการ แต่กลายเป็นถูกฉ้อโกงด้วยเสน่หา

เป็นภาพสะท้อนสังคมไทยยุคปัจจุบัน ที่เต็มไปด้วยกลุ่ม “คนหิวแสง” หิวชื่อเสียง หิวเกียรติศักดิ์ศรี และหิวเงิน ตามหลักพระพุทธศาสนา ก็คือ เป็นสังคมที่เต็มไปด้วยผู้คนที่ยึดมั่น อยู่ในอกุศลอันได้แก่  โลภะ โทสะ โมหะ หรือความโลภ ความโกรธ และความหลง ฉ้อโกงกันไม่ เลือกหน้า ไม่เลือกสัญชาติและผิวพรรณ

ประเทศไทยกลายเป็นสังคมอุดมทุจริต การฉ้อโกง ทำให้คนหลายกลุ่มมีบทบาทขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นนักร้องเรียนเพื่อความเป็นธรรม สื่อมวลชน และทนายความ เป็นต้น มีหลายกลุ่มตั้งตนเป็นกลุ่มช่วยเหลือประชาชน เป็นนักร้องเรียนเพื่อประชาชน หรือทนายความเพื่อประชาชน ส่วนใหญ่อาจปฏิบัติหน้าที่โดยซื่อสัตย์สุจริต

แต่อาจมีบางคนหรือบางกลุ่ม ฉกฉวยโอกาสที่สังคมพิการ เพื่อแสวงหาประโยชน์ ชื่อเสียง เงินทอง เห็นได้ชัดว่า ทนายความเป็นคนกลุ่มสำคัญที่ออกมาแสดงบทบาท หลายคนเป็นที่ยอมรับนับถือของประชาชน เพราะช่วยเหลือผู้ที่เป็นเหยื่อของความทุจริตฉ้อฉล โชคดีที่ทนายความมีองค์กรปกครองตนเอง ที่เรียกว่า สภาทนายความแห่งประเทศไทย

เช่นเดียวกันกับแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย เป็นตัวอย่างที่ดี ของการควบคุมจรรยาแพทย์ ที่มีมาตรการลงโทษที่ได้ผล ทนายความก็มีคณะกรรมการด้านมารยาท กำกับดูแล แต่อาจมีหละหลวมอยู่บ้าง เช่นเดียวกับสภาสื่อมวลชน และที่มีปัญหาที่แก้ไม่ตก คือกลไกในการควบคุมจริยธรรมนักการเมือง ที่ให้องค์กรภายนอกมีอำนาจควบคุมจริยธรรม

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม