ทนายบอสพอลโวยดีเอสไอเรียกสอบพยานฝ่ายดิ ไอคอน กรุ๊ป แล้ว 10-20 คน เป็นคนใกล้ชิดกลุ่มบอส และโปรแกรมเมอร์ลูกน้องบอสแล็ป กล่าวหาพนักงานสอบสวนยิงคำถามชี้นำพยาน เป้าหมายเพื่อให้เข้าข้อกฎหมายแชร์ลูกโซ่และธุรกิจขายตรง ยันมีหลักฐานคลิปเสียงระหว่างสอบปากคำ จะนำส่งให้อัยการตรวจสอบด้วย แต่ถ้าผู้บริหารดีเอสไออยากได้จะส่งไปให้ ด้าน ปปง.เดินเครื่องคืนเงินเหยื่อดิ ไอคอน กรุ๊ป เปิดให้เหยื่อลงทะเบียนรับคืนทรัพย์สินทางเว็บไซต์ ปปง. www.amlo.go.th ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ย.2567 ถึงวันที่ 17 ก.พ.2568

การสืบสวนคลี่คลายบริษัทดิ ไอคอน กรุ๊ป จำกัด ดำเนินธุรกิจขายตรงเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ กล่าวหาหลอกให้ลงทุนและหาลูกข่ายมาเป็นสมาชิก สร้างความน่าเชื่อถือด้วยการนำดารานักแสดงชื่อดังมาร่วม หลังกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) เดินเครื่องสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน ขออำนาจศาลอาญาออกหมายจับผู้ต้องหา 18 คน ตั้งแต่นายวรัตน์พล หรือบอสพอล วรัทย์วรกุล นาย ยุรนันท์ หรือบอสแซม ภมรมนตรี น.ส.พีชญา หรือ บอสมิน วัฒนามนตรี และนายกันต์ หรือบอสกันต์ กันตถาวร รวมถึงแม่ข่ายและผู้เกี่ยวข้อง คุมตัวฝากขังเข้าเรือนจำไปแล้ว ต่อมาโอนสำนวนให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พิจารณาแจ้งข้อหากู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน หรือแชร์ลูกโซ่ และ พ.ร.บ.ขายตรงฯเพิ่มเติมกับ 18 บอสในเรือนจำ จากนั้นเรื่องราวบานปลายกลุ่มบอสดิ ไอคอน กรุ๊ป นำคลิปเสียงออกมาแฉนักร้องเรียนและบุคคลหลายกลุ่มเข้ามารีดทรัพย์ตามที่เสนอข่าวไปแล้ว

ความคืบหน้าจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อ เวลา 11.20 น. วันที่ 21 พ.ย. นายวิฑูรย์ เก่งงาน ทนายความนายวรัตน์พล หรือบอสพอล วรัทย์วรกุล เผยก่อนเข้าเยี่ยมบอสพอลว่า หลังดีเอสไอเข้าสอบปากคำเหล่าบอสบริษัทดิ ไอคอน กรุ๊ป ตนพูดคุยกับบอสพอลขณะนี้เตรียมนำเอกสารของดีเอสไอไปปรับปรุงใหม่ เนื่องจากเนื้อหาในเอกสารค่อนข้างชี้นำไปในทางคดีแชร์ลูกโซ่ และ พ.ร.บ.ขายตรงฯ กำหนดกรอบระยะเวลาให้แล้วเสร็จภายใน 2 วันก่อนส่งคืนดีเอสไอ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 24 พ.ย. แล้วยื่นให้ดีเอสไอภายในวันที่ 25 พ.ย. จากนั้นจะพาพยานฝั่งดิ ไอคอนฯเข้าให้ปากคำดีเอสไอทันที เบื้องต้นประสานเข้าให้ปากคำวันละ 200 คนเพื่อให้ทันกรอบระยะเวลาส่งฟ้องวันที่ 3 ธ.ค. ยืนยันไม่มีเจตนาประวิงเวลาเพราะก่อนหน้านี้พยายามยื่นขอประกันตัวบอสวินแต่ศาลไม่อนุญาต เข้าใจว่าอาจเป็นเรื่องกระแสสังคมกดดัน
“ผมได้รับการรายงานว่า ดีเอสไอเชิญพยานฝั่งดิ ไอคอนฯ เป็นตัวแทนใกล้ชิดเหล่าบอสรวมถึงโปรแกรมเมอร์ลูกน้องบอสแล็ปเข้าให้ปากคำแล้วเมื่อวันที่ 20 พ.ย. เบื้องต้นประมาณ 10—20 คน พยาน บอกว่าพนักงานสอบสวนดีเอสไอพยายามถามชี้นำให้เข้า พ.ร.ก.กู้ยืมเงินเพื่อการฉ้อโกงประชาชน หรือแชร์ลูกโซ่ ให้พูดเนื้อหาเกี่ยวกับการการันตีรายได้ มีบันทึกเสียงการสนทนาไว้หมด ลักษณะไม่ให้ปกป้องบริษัทฯ ผมจะนำไฟล์เสียงทั้งหมดส่งให้อัยการพิจารณาการสอบสวนของดีเอสไอ และนี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่จะร้องขอความเป็นธรรม เพราะมองว่าสอบสวนไม่ชอบตามกฎหมาย สำหรับไฟล์เสียงนี้ดิ ไอคอนฯ จะไม่เปิดเผย หากผู้ใหญ่ในดีเอสไอต้องการก็ยินดีส่งให้” ทนายบอสพอลกล่าว

นายวิฑูรย์กล่าวด้วยว่า การที่ดีเอสไอขีดเส้นสั่งฟ้องภายในวันที่ 3 ธ.ค. อาจเป็นการตั้งธงของดีเอสไอที่จะส่งฟ้อง แม้ว่ายังอยู่ในช่วงฝากขังผัด 3 หากพนักงานสอบสวนไม่สามารถสอบปากคำพยานฝั่งดิ ไอคอนฯทั้ง 2,000 คน จะกระทบต่อการสู้คดีหรือไม่ ตนมองว่า กระทบ และเห็นแววในการวินิจฉัยว่าจะไม่ได้รับการประกันตัว สัปดาห์หน้าดิ ไอคอนฯจะเชิญตัวผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายแชร์ลูกโซ่มาให้ข้อมูลฝั่งพยานกับดีเอสไอด้วย

ขณะที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แจกเอกสารผ่านระบบไลน์ให้สื่อมวลชน แจ้งข่าวดีผู้เสียหาย คดีดิ ไอคอนฯ ปปง.เปิดให้ยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิ์รับคืน หรือชดใช้คืนทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานแล้ว ตามที่ดีเอสไอนำส่งมอบทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการ
สืบสวนสอบสวนคดีพิเศษที่ 119/2567 กรณีบริษัทดิ ไอคอน กรุ๊ป จำกัด กับพวกรวม 19 ราย ความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูล
คอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน อันเป็นความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน 2527 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรงประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงในลักษณะที่เป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจโดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าว คำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น และร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรงโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้กับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) แล้วนั้น

บัดนี้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีประกาศสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เรื่องให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องเพื่อขอรับคืน หรือชดใช้คืนซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน (รายคดีบริษัทดิ ไอคอน กรุ๊ป จำกัด กับพวก) แล้ว ขอประชาสัมพันธ์มายังพี่น้องประชาชนที่เป็นผู้เสียหายในคดีดังกล่าว สามารถยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิ์ผู้เสียหายได้ที่เว็บไซต์ ปปง. www.amlo.go.th ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ย.2567 ถึงวันที่ 17 ก.พ.2568 ทั้งนี้ หากกรมสอบสวนคดีพิเศษสอบสวนพบทรัพย์สินเพิ่มเติม จะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พิจารณาดำเนินการเพื่อเสนอพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาล และเฉลี่ยทรัพย์คืนผู้เสียหายเพิ่มเติมต่อไป

ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล น.ส.จิราพร สินธุไพร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานหารือแนวทางแก้ไขปัญหาธุรกิจหลอกลวงประชาชน มีตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กองบังคับ การปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้าร่วม หลังประชุม น.ส.จิราพรเผยว่า รัฐบาลนำโดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ห่วงใยและให้ความสำคัญเรื่องนี้ สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขหาแนวทางป้องกันระยะยาว ไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก โดยเฉพาะลักษณะแชร์ลูกโซ่หรือลักษณะอื่นๆ ที่ประชุมเห็นควรตั้งคณะกรรมการ หรือคณะทำงานขึ้นมาบูรณาการทำงานร่วมกัน ป้องกันเชิงรุกตัดวงจรธุรกิจหลอกลวงประชาชนไม่ให้ขยายผลกระทบในวงกว้าง ตนมอบ สคบ.ศึกษารูปแบบการตั้งคณะกรรมการในอดีตเพื่อเป็นแนวทางแต่งตั้งที่เหมาะสมต่อไปและยังมอบหมายให้สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) เป็นหน่วยงานกลางศึกษาปรับปรุงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เข้ากับบริบทปัจจุบันมากยิ่งขึ้น