ก็เป็นตัวเลขจีดีพีที่น่าผิดหวังมาก คุณดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒน์ แถลงตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 ปีนี้ หลังจากที่ รัฐบาลได้แจกเงินหมื่นแก่ผู้ถือบัตรคนจน 14.5 ล้านคนไปแล้ว จีดีพี ไตรมาส 3 ขยายตัว 3% เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ที่ขยายตัว 2.2 % เงินหมื่นที่แจกไป 145,000 ล้านบาท ไม่ช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจคึกคักขึ้นมาแต่อย่างใด ส่งผลให้ 9 เดือน จีดีพีขยายตัวได้เพียง 2.3% คาดว่า จีดีพีปี 2567 จะขยายตัวได้เต็มที่เพียง 2.6% ไม่ถึง 3% อย่างที่รัฐบาลคาดหวังจากเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ

คุณดนุชา เลขาธิการสภาพัฒน์ ได้ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า เมื่อปรับผลของฤดูกาลออกไปแล้ว จีดีพีที่แท้จริงในไตรมาส 3 ขยายตัวเพียง 1.2% เท่านั้น

จีดีพีที่ขยายตัว 3% ในไตรมาส 3 เป็นจีดีพีที่ขยายตัวในภาคเศรษฐกิจเดียว คือ ภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่ขยายตัว 4.1% เช่น สาขาที่พักแรม บริการด้านอาหาร สาขาการขนส่ง (ที่ตั๋วเครื่องบินในประเทศแพงโคตร เพราะสายการบินไม่ยอมเพิ่มเที่ยวบินเพื่อโขกตั๋วโดยสาร) และการขายส่งขายปลีก ส่วนเศรษฐกิจด้านอื่นหดตัวหมด ภาคการเกษตรหดตัว 0.5% ต่อจากไตรมาส 2 ที่หดตัว 1.9% ภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่สำคัญ ที่สุด เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งการส่งออกเป็นหลัก ไตรมาส 3 ชะลอตัว ลงอีก 1.2% ต่อจากไตรมาสก่อน โดยชะลอทุกสาขาการผลิต ทั้ง สาขา การผลิตสินค้าอุตสาหกรรม สาขาไฟฟ้า ก๊าซ ไอน้ำ ระบบการปรับ อากาศ และสาขาการจัดหาน้ำ การจัดการน้ำเสียและของเสียฯ

เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งของไทยในอาเซียนแล้ว จีดีพีไตรมาส 3 ไทยเติบโตล้าหลังที่สุดตามเคย ดังนี้ ไทย ขยายตัว 3% สิงคโปร์ ขยายตัว 4.1% อินโดนีเซีย ขยายตัว 4.9% ฟิลิปปินส์ ขยายตัว 5.2% มาเลเซีย ขยายตัว 5.3% เวียดนาม ขยายตัว 7.4% สะท้อนถึง ขีดความสามารถของรัฐบาลในการบริหารประเทศ   เพราะ ทุกประเทศในอาเซียนล้วนมีสภาพแวดล้อมและคู่แข่งในระดับเดียวกัน อยู่ที่รัฐบาลประเทศไหนจะเก่งกว่ากันเท่านั้น

คุณดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ มองข้ามช็อตไปถึง ปีหน้า 2568 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.3–3.3 โดยมีค่ากลางที่ร้อยละ 2.8 เพิ่มขึ้นจากปีนี้เพียง 0.2% ถือว่ามีการเติบโต น้อยมากๆ แทบจะไม่รู้สึกว่ามีการเติบโตขึ้นเลย ท่ามกลางสถานการณ์หนี้ครัวเรือนในปี 2568 ที่คาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูง ต้องรอดูมาตรการแก้หนี้ที่กำลังจะออกมา จะมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด เพราะหนี้ ครัวเรือนเกิดขึ้นแล้วมันลดยาก ในขณะที่ คุณพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรัฐมนตรีคลัง ฝันอยากเห็นจีดีพีปี 2568 ขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3.5% ถ้าจะให้ได้ขนาดนั้นรัฐบาลก็ต้องปฏิรูปตัวเอง ไม่งั้นไม่มีทาง

การคาดการณ์จีดีพีปี 2568 ที่ 2.8% แม้จะต่ำเมื่อเทียบกับประเทศ เพื่อนบ้านคู่แข่ง แต่มีเงื่อนไขว่า การส่งออก ต้องขยายตัว 2.6% ดุลบัญชีเดินสะพัด ต้องเกินดุล 2.6% การลงทุนภาครัฐ ต้องขยายตัว 6.5% การลงทุนภาคเอกชน ต้องขยายตัว 2.8% การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 3% มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทย 38 ล้านคน (จาก 36 ล้านคน ในปี 2567) อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 34.50–35.50 บาท/ดอลลาร์ และ ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 75–85 ดอลลาร์/บาร์เรล จีดีพีจึงจะโตได้ 2.8% ซึ่งไม่ง่าย เพราะไทยยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจากนโยบายใหม่ของประธานาธิบดีทรัมป์ ผู้นำคนใหม่สหรัฐฯ ที่จะป่วนโลกในปีหน้าด้วย

ผมเห็นด้วยกับ คุณดนุชา เลขาธิการสภาพัฒน์ ที่เตือนรัฐบาลว่า ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ โดยใช้ประโยชน์ จากความเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคของไทย รองรับการย้ายฐานการลงทุน  ไม่ใช่ทำตัวเป็นเซลส์แมนเซลส์วูเมนขายไปเรื่อยๆ แต่ไม่จัดร้านให้เรียบร้อยน่าลงทุน ประเด็นสำคัญที่สภาพัฒน์ระบุอีกข้อคือ ให้เร่งรัดนักลงทุนที่ขอ BOI ในปี 2565–2567 ที่รัฐบาลคุยโม้ว่ามีคนขอมาลงทุนเป็นล้านล้านบาท ให้มาลงทุนจริงๆเสียที ไม่ใช่มีแต่ตัวเลขหลอกตัวเองไปวันๆ แต่ไม่มีการลงทุนจริง.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม