พื้นที่ทับซ้อนเกาะกูด จ.ตราด กลายเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง หลังรัฐบาลมีแผนเจรจาใช้ผลประโยชน์ร่วมกันของก๊าซธรรมชาติ ระหว่างไทย-กัมพูชา ถึงการจัดการพื้นที่ทับซ้อน 26,000 ตารางกิโลเมตร และมีข้อกังวลว่าไทยจะเสียดินแดน ซึ่งตัวแทนรัฐบาลออกมาตอบโต้ปม MOU 2544 ซึ่งกลายเป็นเชื้อไฟที่ถูกตั้งคำถามมาถึงปัจจุบัน
เกาะกูด จุดเริ่มต้นตกลงพื้นที่ทับซ้อน
ข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลเกาะกูด จ.ตราด เป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง หลังอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร กล่าวถึงสิ่งที่ไทยต้องเจรจากับกัมพูชา กรณีแหล่งก๊าซธรรมชาติที่อยู่ใต้ทะเล ต้องมีแนวทางจัดการร่วมกัน เพราะอนาคตก๊าซธรรมชาติจะกลายเป็นเชื้อเพลิงที่หลายพื้นที่ทั่วโลกไม่ได้นำมาใช้ และอาจเป็นเรื่องน่าเสียดายหากไม่นำก๊าซนั้นมาใช้ประโยชน์
อีกมุมหนึ่งก็มีเสียงติงจากคนที่ไม่เห็นด้วยกับ MOU 2544 ที่เคยทำร่วมกับกัมพูชา สมัยอดีตนายกฯ ทักษิณ จนมีการยื่นเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณายกเลิกข้อตกลง
หากย้อนกลับไปก่อนมีการลงนาม MOU 2544 ก็เคยเกิดเหตุพิพาทบริเวณพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เมื่อปี พ.ศ. 2516 โดยกัมพูชามีการประกาศอ้างเขตพื้นที่ไหล่ทวีปทะเลเพียงฝ่ายเดียว โดยวัดจากหลักเขตที่ 73 มีการลากเขตแนวพื้นที่ผ่านเกาะกูดบริเวณทางใต้ ขนานชายฝั่งอ่าวไทย ยาวไปถึงคาบสมุทรสทิงพระ จ.สงขลา
แต่ทางไทยไม่ยอมรับ จนไทยมีการลากเส้นเขตแดนใหม่ปี พ.ศ. 2517 แม้จะใช้หลักเขตแดนที่ 73 แบบเดียวกับที่กัมพูชาอ้าง แต่เป็นการลากเส้นใหม่ มีการอ้างสิทธิ์พื้นที่ทับซ้อนกว่า 2.6 หมื่นตารางกิโลเมตร ซึ่งยังไม่สามารถตกลงกับกัมพูชาได้มาจนถึงตอนนี้
MOU 2544 ทางออกหรือเพิ่มขัดแย้ง?
ยุครัฐบาลนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ที่มีความแนบแน่นกับผู้นำกัมพูชา มีการเปิดโต๊ะพูดคุยกัน เพื่อหาทางจัดการพื้นที่ทับซ้อนเกาะกูด รวมถึงหาบทสรุปการใช้ทรัพยากรร่วมกัน จนเกิด MOU 2544 ที่มีเนื้อหาให้ 1.พื้นที่เหนือเส้น 11 องศาเหนือขึ้นไป เจรจาเรื่องเขตแดน ซึ่งส่วนนี้หลายคนมีความเห็นว่า ไทยจะได้เปรียบ แต่อาจกลายเป็นเครื่องต่อรองให้เสียผลประโยชน์ในการเจรจาพื้นที่ส่วนใต้
2.พื้นที่ใต้เส้น 11 องศาลงมา เจรจาเรื่องผลประโยชน์ร่วม โดยวิเคราะห์ว่า หากเจรจาเฉพาะแบ่งผลประโยชน์ ไม่เจรจาปักปันเขตแดน อาจทำให้การเจรจาหลุดออกจากหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ไทยได้เปรียบ ซึ่งเสี่ยงจะเสียดินแดน
ต่อจากนั้น ยุครัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” พยายามยกเลิก MOU 2544 โดยให้ข้อมูลว่าทางกัมพูชาไม่ให้ความร่วมมือ แต่จากนั้น รัฐบาลยุค “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” พยายามเจรจา แต่ไม่ประสบความสำเร็จ กลายเป็นเรื่องที่ค้างคามา จนถึงตอนนี้ในยุครัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร” ที่ถูกขุดเรื่องผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนอีกครั้ง
ปมร้อนพื้นที่ทับซ้อน 2.6 หมื่นตารางกิโลเมตร
ก๊าซธรรมชาติที่อยู่ใต้ท้องทะเลบริเวณเกาะกูด จ.ตราด ถูกตั้งคำถามจากผู้ที่เห็นต่างอีกครั้ง หลังรัฐบาล “แพทองธาร” มีแผนเจรจาใช้ประโยชน์ร่วมกันในพื้นที่ทับซ้อน จนตัวแทนฝั่งรัฐบาลอย่าง “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรี ออกมาแสดงความเห็นว่า เกาะกูดเป็นของไทยตั้งแต่สมัยฝรั่งเศส จึงไม่ห่วงว่าจะเสียเกาะกูด
ขณะนี้ไม่ใช่ปัญหาเรื่องเขตแดน แต่ทำอย่างไรให้ได้ประโยชน์ร่วมกัน ทุกประเทศมีหลักการที่ใช้คือ วัดจากไหล่ทวีปมา 200 ไมล์ทะเล และอ่าวไทยแคบ เมื่อมีการประกาศ 200 ไมล์ทะเล เราก็ 200 ไมล์ทะเลตาม ทำให้ต่างฝ่ายมีพื้นที่ทับซ้อนกัน และในโลกนี้มีหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย เวียดนาม ก็ใช้วิธีการพูดคุยกันเพื่อตกลงผลประโยชน์ แต่ไม่ได้หมายถึงเรื่องดินแดน
หวั่นเสียดินแดน ตั้งข้อสังเกต MOU 2544
ในมุมเห็นต่างอย่าง “รสนา โตสิตระกูล” อดีตสมาชิกวุฒิสภา ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ข้ออ้างรัฐบาลเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน เป็นพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่มโหฬารถึง 26,000 ตารางกิโลเมตร
การเจรจาแบ่งเขตแดน แบ่งผลประโยชน์ตาม MOU 2544 ไม่ได้เป็นไปตามกฎหมายทะเล ย่อมมีข้อน่าสงสัยในเจตนาและความโปร่งใสของรัฐบาลว่าเป็นเจตนาดีต่อประเทศจริงหรือไม่ หรือสนใจเพียงผลประโยชน์ของนักการเมืองและกลุ่มทุนเท่านั้น ใช่หรือไม่
ใน MOU 2544 มีข้อตกลงว่าพื้นที่เหนือเส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือ ให้เจรจาแบ่งเขตแดน ส่วนใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ เป็นการแบ่งผลประโยชน์กัน โดยกำหนดสัดส่วนแบ่งผลประโยชน์ไว้แล้ว คือส่วนที่ติดฝั่งไทย ไทยได้ 90% กัมพูชาได้ 10% ตรงกลางแบ่งกัน 50:50 ส่วนที่ติดฝั่งกัมพูชา ไทยได้ 10% กัมพูชาได้ 90% การกำหนดสัดส่วนแบ่งผลประโยชน์เช่นนี้ ย่อมกระทบต่อดินแดนในอธิปไตยของไทยทั้งดินแดนส่วนที่อยู่เหนือ และอยู่ใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนืออย่างแน่นอน ใช่หรือไม่
การแบ่งเขตแดนและแบ่งผลประโยชน์แบบในข้อตกลง MOU 2544 ไม่ได้เป็นไปตามกฎหมายทะเล ที่เส้นเขตแดนทางทะเลต้องลากเส้นกึ่งกลางจากเกาะกูดของไทย และเกาะกงของกัมพูชา กัมพูชา สามารถอ้างสิทธิเป็นเจ้าของดินแดนเพิ่มขึ้นในภายหลังได้ ดินแดนที่เคยเป็นของไทยตามกฎหมายทะเล จะกลายเป็นดินแดนของกัมพูชา เพราะการมีผลประโยชน์แม้เพียง 10% ก็ย่อมสามารถอ้างสิทธิในดินแดนตรงจุดนั้นได้ ใช่หรือไม่
ข้ออ้างว่าต้องรีบเร่งแบ่งผลประโยชน์กันเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางพลังงาน แท้ที่จริงแล้วเป็นความมั่นคงทางพลังงานของใครกันแน่?
รัฐบาลต้องชัดเจน แหล่งก๊าซธรรมชาติเกาะกูด
ภายหลังมีข้อถกเถียงเรื่องการกลับมาเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนของเกาะกูดอีกครั้ง และตัวแทนของรัฐบาลออกมายืนยันว่า เป็นเพียงการเจรจาในแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน ล่าสุด “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ที่ปรึกษาประธานคณะก้าวหน้า ให้ความเห็นว่า ถ้ารัฐบาลพูดได้ชัด จะทำให้เรื่องจบไปว่าพื้นที่ที่มีข้อพิพาทอยู่ จำกัดอยู่แค่ตรงนี้เท่านั้น และไม่รวมเกาะกูด ซึ่งมองว่าจะทำให้เชื้อไฟที่ทำให้เกิดความชาตินิยมแบบล้นเกินให้หมดไป
หากรัฐบาลไม่ออกมาพูดให้ชัดเจน จะเป็นผลเสียต่อทั้งรัฐบาลเอง เกิดการตั้งคำถามว่าตกลงแล้วพื้นที่ ซึ่งเจรจากับกัมพูชาคือ หลักพัน หรือหลักหมื่น ถ้าพูดให้ชัดว่าจบแค่นี้จริง ประชาชนจะไม่คิดเลยเถิดในแบบที่รองนายกรัฐมนตรีกังวล แต่เมื่อรองนายกฯ ไม่ยอมบอกว่าการเจรจาจบแค่นี้ ไม่ได้ต่างจากเขตไหล่ทวีปทับซ้อนกันในอ่าวไทย ระหว่างไทยและมาเลเซีย เราไม่สูญเสียผลประโยชน์แต่อย่างใด การแบ่งผลประโยชน์เป็นไปในลักษณะแบบไหน
ถึงอย่างไร การเจรจาการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนเกาะกูด ยังต้องรอความชัดเจน เพราะสิ่งสำคัญคือ การจัดการกับก๊าซธรรมชาติ ที่มีผลประโยชน์มหาศาล ซึ่งถ้ามีการจัดการอย่างโปร่งใส จะทำให้มีงบประมาณมหาศาลเข้าสู่ประเทศ.
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ