ที่อาคารสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวเปิดงานวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล ประจำปี 2567 “ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน : ผลกระทบความรุนแรงต่อสตรีและเด็กในสังคมไทย” ว่า ความรุนแรงในสังคมไทยไม่ว่าจะเป็นต่อเด็ก สตรี หรือครอบครัว ยังคงมีเพิ่มมากขึ้น ในปี 2567 พบผู้ถูกกระทำความรุนแรง เฉลี่ยวันละ 42 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 8 รายต่อวัน ข้อมูลศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) สายด่วน พม. 1300 พบว่า มีผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว 4,833 ราย ส่วนใหญ่เป็นบุคคลในครอบครัว 3,421 ราย คิดเป็น 71% ความรุนแรงที่พบ อันดับหนึ่ง คือ ถูกทำร้ายร่างกาย 3,532 ราย คิดเป็น 73.08% รองลงมา ถูกล่วงละเมิดทางเพศ 814 ราย คิดเป็น 16.84% ผู้กระทำความรุนแรงส่วนใหญ่เป็นเพศชาย 3,500 ราย คิดเป็น 72% ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรง อันดับหนึ่ง คือ ยาเสพติด รองลงมาคือ บันดาลโทสะ ความรู้สึกเชิงอำนาจ การหึงหวง ปัญหาสุขภาพจิต หรือความเครียดทางเศรษฐกิจ ผู้ที่กระทำความรุนแรงส่วนใหญ่เป็นเพศชาย สถานะเป็นสามีหรือเป็นพ่อ

นายวราวุธกล่าวว่า พม.พยายามผลักดันนโยบายและมาตรการหลายด้าน เพื่อปกป้อง คุ้มครอง และขจัดปัญหาความรุนแรงทุกรูปแบบ มีการจัดตั้ง ศรส.ทำงานร่วมกับสหวิชาชีพ เพื่อวางแผนช่วยเหลือ พร้อมรณรงค์สร้างความตระหนักต่อสังคม ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น สร้างการมีส่วนร่วมในสังคมเพื่อรับมือกับปัญหา รวมทั้งปรับปรุง แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับสถานการณ์และสภาพปัญหา สร้างระบบ Family Line “เพื่อนครอบครัว” ผ่าน Application Line และเว็บไซต์เพื่อนครอบครัว เพื่อเป็นพื้นที่ให้คำปรึกษา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และร่วมลงนาม MOU กับภาคีเครือข่ายและสมาคมกีฬานําร่อง รวมกว่า 40 หน่วยงาน เพื่อสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ โดยเฉพาะการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศในวงการกีฬา.