ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในภาวะฟื้นตัว ภายใต้เป้าหมายของรัฐบาลที่จะยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่เข้าสู่ “เศรษฐกิจดิจิทัล และเศรษฐกิจสีเขียว” ทำให้จำเป็นต้องเร่งการขยายตัว รวมทั้งดึงการลงทุน และเทคโนโลยีสมัยใหม่จากบริษัท ขนาดใหญ่ทั่วโลก
ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อเศรษฐกิจกลับมาขยายตัว ในขณะที่คนไทยเริ่มตระหนักถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เห็นได้จากการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในไทยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทยของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จากต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น เหล่านี้ส่งผลต่อปริมาณการใช้ไฟฟ้าในประเทศให้สูงขึ้นตามไปด้วย
และที่สำคัญกว่านั้น ภายใต้เป้าหมายการเข้าสู่การเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ซึ่งทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ ทำให้อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่จะเข้ามาลงทุนในไทยเรียกร้องให้มี “ไฟฟ้าสีเขียว” หรือ ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดมารองรับ
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะผู้ผลิตไฟฟ้าหลักของประเทศ อยู่ในระหว่างความพยายามบริหารจัดการระบบการผลิตไฟฟ้าของประเทศ เพื่อเพิ่มไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ทดแทนการใช้พลังงานฟอสซิลเดิม ในขณะเดียวกันต้องรักษาความมั่นคงทางพลังงานเอาไว้ พร้อมกับดูแลต้นทุนค่าไฟฟ้าของคนไทยอย่างเหมาะสม
ส่งผลให้ กฟผ.ได้ศึกษาเทคโนโลยี และนวัตกรรม “โรงไฟฟ้าและการผลิตไฟฟ้าจาก พลังงานสะอาด รูปแบบใหม่มาต่อเนื่อง” เพื่อนำมาปรับใช้ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าของบ้านเราให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยในวันที่ 3-8 พ.ย.ที่ผ่านมา “เทพรัตน์ เทพพิทักษ์” ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมด้วย ผู้บริหารระดับสูง นำคณะสื่อมวลชนศึกษาดูงาน ณ มณฑลไห่หนาน ประเทศจีน ซึ่งมีความน่าสนใจที่อยากมาเล่าต่อให้ฟัง โดยเฉพาะเรื่องที่คนไทยให้ความสนใจอย่าง “โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์” และ “การใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน”
เปิดนวัตกรรม “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก”
“มณฑลไห่หนาน” หรือ “เกาะไหหลำ” ที่คนไทยหลายคนเคยได้ยินชื่อมายาวนาน เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่รัฐบาลกลางจีนตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2568 พลังงานที่ใช้ 50% ต้องมาจากพลังงานสะอาด และเข้าสู่การเป็นเกาะพลังงานสะอาด (Clean Energy Island) ในปี 2573 ด้วยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงาน นิวเคลียร์เป็น 54% พลังงานแสงอาทิตย์ 20% และพลังงานลม 15% จึงเป็นพื้นที่เหมาะสมจะนำมาปรับปรุงพัฒนาให้เข้ากับเราได้
เป้าหมายแรกของการศึกษาดูงานของ กฟผ.คือ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Hainan Changjiang NPP ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของจีนที่กำลังเดินหน้าพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีต้นทุนที่ถูกลง และมีความปลอดภัยสูงขึ้น โดยผู้บริหารของฝั่งจีนให้ความเห็นว่า “นิวเคลียร์” จะเป็นแหล่งพลังงานอนาคตที่ใช้มากที่สุดของจีน เพราะถือเป็นพลังงานสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะไม่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ”
สำหรับโรงไฟฟ้า Hainan Changjiang NPP ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ 2 โรง 650 เมกะวัตต์ (MWe) ที่เดินเครื่องแล้ว และกำลังก่อสร้างขนาด 1,000 เมกะวัตต์ เพิ่มอีก 2 โรง และที่ กฟผ.สนใจมาดูงานในครั้งนี้ คือ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก หรือ SMR (Small Modular Reactor) โมเดล ACP100 หรือชื่อเล่น Linglong One (หลิงหลง 1) กำลังผลิต 125 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยจะเริ่มเดินเครื่องเพื่อผลิตไฟฟ้าในปลายปีหน้า
ทั้งนี้ หลังจากปัญหาด้านความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ ซึ่งระบบหล่อเย็นไม่ทำงาน หลังจากคลื่นยักษ์ได้ซัดถล่มแนวป้องกันและเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์จนเกิดความเสียหายและไฟฟ้าดับ หลายประเทศได้หยุดโปรเจกต์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไว้ชั่วคราว แต่ไม่ใช่กับจีนและรัสเซีย ที่พยายามหานวัตกรรมเพื่อแก้จุดที่สร้างความเสียหาย (Pain Point) และเห็นว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่อาจจะไม่ตอบโจทย์ได้มากพอ และหากเกิดอุบัติเหตุจะสร้างความเสียหายรุนแรง จึงได้พัฒนาโรงไฟฟ้า SMR ซึ่งมีกำลังการผลิต 50-300 เมกะวัตต์ขึ้นมา
โดยหากเทียบกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบเดิม โรงไฟฟ้า SMRมีขนาดเล็กลงแต่ปลอดภัยสูงขึ้น ใช้พื้นที่น้อยเพียง 100 ไร่ จากเดิมต้องใช้ 1,000 ไร่ โดยใช้วิธีลดความซับซ้อนของอุปกรณ์ ออกแบบระบบเชื้อเพลิงและระบบผลิตไอน้ำให้อยู่ภายในโมดูลปฏิกรณ์แบบเบ็ดเสร็จจากโรงงาน มีขนาดสูง 10.8 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 4 เมตร หรือเท่ารถบัส 1 คัน น้ำหนัก 300 ตัน หยุดการทำงานได้เองเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน และใช้เทคโนโลยีน้ำอัดแรงดัน ซึ่งใช้น้ำเป็นตัวกลางระบายความร้อน ช่วยให้คุมคุณภาพได้ง่าย ช่วยลดปัญหาการก่อสร้างที่ต่ำกว่ามาตรฐาน และมีต้นทุนที่ถูกกว่าเดิมมาก
ขณะที่ส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้คือ ยูเรเนียมออกไซด์ (ความเข้มข้นของ U-235 น้อยกว่า 5%) ขนาดเล็กประมาณนิ้วก้อย แต่ปล่อยพลังงานความร้อนจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชันสามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องเปลี่ยนเชื้อเพลิงนานถึง 24 เดือน ทั้งนี้ มีการประมาณการกันว่าใน 1 ชั่วชีวิตของคนเรา หากใช้นิวเคลียร์ผลิตไฟฟ้าจะใช้จำนวนเพียง 1 กิโลกรัมเท่านั้น ต่ำกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล 50,000-100,000 เท่า
และในส่วนของความปลอดภัย โรงไฟฟ้า SMR สร้างให้มีความปลอดภัยสูงขึ้น รวมทั้งแก้ Pain Point ของระบบหล่อเย็นที่ทำงานไม่ได้เมื่อไฟฟ้าดับ ด้วยระบบระบายความร้อนภายในตัวที่ทำงานได้อัตโนมัติไม่พึ่งพาไฟฟ้า เพราะใช้หลักการธรรมชาติ เช่น ระบบระบายความร้อน แรงโน้มถ่วง นอกจากนั้น ยังติดตั้งเตาปฏิกรณ์ใต้ดิน เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ เช่น พายุ สึนามิ แผ่นดินไหว อย่างไรก็ตาม หากเกิดปัญหาขึ้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ SMR ต้องกันพื้นที่ความเสียหายเพียง 1 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น ต่างจากเดิมที่ต้องกันพื้นที่ความเสียหายถึง 16 ตร.กม.
โอกาสการมี “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์” ในไทย
มาถึงคำถามที่ติดอยู่ในใจของคนไทย “ประเทศไทยจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่?”
นายเทพรัตน์กล่าวว่า “โรงไฟฟ้า SMR เป็นโรงไฟฟ้าที่ตอบโจทย์ทั้งความมั่นคงของระบบไฟฟ้า เพราะผลิตไฟฟ้าได้ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจะช่วยมาเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดในการผลิตไฟฟ้าของไทยได้ เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนเพียงอย่างเดียว มีข้อจำกัดเรื่องเสถียรภาพไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ตลอด นอกจากนั้น หากประเมินระยะข้างหน้า ยังมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แข่งขันได้ เพราะแร่ยูเรเนียมเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งมีจำนวนมาก ราคาต่ำ ใช้ในปริมาณน้อย และไม่มีการผูกขาดและราคาผันผวนสูงเหมือนน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
โดยที่ผ่านมา กฟผ.ได้ศึกษาความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีนิวเคลียร์และพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มานานกว่า 17 ปี โดยมองว่าเราจะช้ากว่าคนอื่นไม่ได้ เพราะหลายๆ ประเทศในภูมิภาคนี้ก็สนใจก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เช่นกัน และได้ติดตามเทคโนโลยี SMR ซึ่งมีการคิดค้นอยู่ทั้งสิ้นกว่า 80 แบบจาก 18 ประเทศ ทั้งจากอเมริกา รัสเซีย เกาหลีใต้ และจีน เพื่อศึกษาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับประเทศไทยมากที่สุด
และหากพิจารณาในส่วนเงินลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า SMR ในขณะนี้จะสูงกว่าโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 2-3 เท่า แต่ SMRมีอายุการใช้งาน 60 ปี และมีต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ต่ำมาก ดังนั้น ต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดอายุของโรงไฟฟ้าก็ถือว่าใกล้เคียงกัน และหากเรารอได้ในอนาคต เชื่อว่าหากมูลค่าการลงทุนโรงไฟฟ้า SMR ก็จะต่ำลงอีก
สำหรับคำถามที่ว่า “เราจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่นั้น ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP2024) มีการกำหนดการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทยไว้ในปลายๆแผน แต่ทั้งนี้สิ่งที่ กฟผ.ให้ความสำคัญมากกว่าคือ การยอมรับ และความเข้าใจถึงเทคโนโลยี และความปลอดภัยในการอยู่ร่วมกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของคนไทย เราจะต้องได้ความเชื่อมั่นตรงนี้มาเป็นอย่างแรก”
โดย กฟผ.จะมุ่งมั่นส่งต่อความรู้ และความเข้าใจในเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้กับประชาชนผ่านช่องทางต่างๆให้มากขึ้นและต่อเนื่อง เพราะวันนี้คนที่พัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็มีความเข้าใจถึงความกังวลของคนทั่วไป และพยายามปิดจุดอ่อนให้มากที่สุด และนับวันเทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะดีขึ้นและปลอดภัยขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากนั้น จะมีการหารือกับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อบรรจุอยู่ในหลักสูตร เพื่อสร้างความเข้าใจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ และข้อดีของโรงไฟฟ้า SMR สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา และมหาวิทยาลัยเพื่อให้เกิดความเข้าใจและการยอมรับ โดยการเริ่มศึกษา SMR ในวันนี้ อาจจะต้องใช้เวลาอีก 10 ปีหรือมากกว่านั้น แต่ก็ต้องเริ่มต้น
เร่งบริหารจัดการ “พลังงานทดแทน”
นายเทพรัตน์กล่าวต่อว่า จากภาวะที่ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกยังคงมีความขัดแย้ง และอาจเกิดภาวะสงครามในระยะต่อไป ซึ่งจะกระทบให้เกิดความผันผวนของราคาพลังงาน เราจึงจำเป็นต้องใช้เชื้อเพลิงที่หลากหลาย และหาเชื้อเพลิงทดแทนเพิ่มขึ้น เพราะจะผูกกับก๊าซธรรมชาติอย่างเดียวคงยาก ดูตัวอย่างบทเรียนในปี 2565 ซึ่งราคาก๊าซธรรมชาติแพง เราก็เพิ่มการใช้ถ่านหิน รับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น หรือบางช่วงก็ผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันดีเซล
โดย กฟผ.จะเพิ่มสัดส่วนขึ้นพลังงานหมุนเวียนที่มีประมาณ 19% ให้สอดรับกับแผน PDP2024 ที่ต้องการให้เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนสูงถึง 51% เพื่อรองรับการเข้าสู่ยุค Carbon Neutrality เห็นได้จากการลงทุน Data Center หรืออุตสาหกรรมยุคใหม่จะขอใช้ “ไฟฟ้าสีเขียว” จากประเทศที่เข้ามาลงทุน หรือบางแห่งขอลงทุน SMR ควบคู่ไปด้วย
สำหรับประเทศไทย เมื่อการลงทุนโรงไฟฟ้า SMR ยังต้องใช้เวลาในการศึกษา และทำความเข้าใจอีกระยะ กฟผ.จะต้องเพิ่มสัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าของพลังงานทดแทน โดยใช้การบริหารจัดการร่วมกัน ทั้งพลังงานลม แสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ การใช้แบตเตอรี่เพื่อจัดเก็บพลังงาน และพลังงานจากไฮโดรเจน
ขณะที่การดำเนินการด้านสมาร์ตกริดนั้น จะใช้แนวคิดทั้งการตอบสนองด้านความต้องการใช้ไฟฟ้า (Demand Response and Energy Management System) เช่น การปรับเปลี่ยนเวลาการผลิตของเอกชน จากช่วงที่คนใช้ไฟฟ้าสูงมากไปยังช่วงที่คนใช้น้อย หรือ จูงใจให้คนชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในเวลาที่คนใช้ไฟน้อย ร่วมกับการพยากรณ์ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Forecast) ซึ่งจะทำให้เรารู้ล่วงหน้าว่าแต่ละวันในสัปดาห์ข้างหน้าหรือในระหว่างวัน แต่ละหน่วยจะผลิตไฟฟ้าได้เท่าไร เพื่อให้การบริหารไฟทำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยการเดินทางมายังมณฑลไห่หนานในครั้งนี้ ได้เยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Yinggehai กำลังผลิตสูงถึง 400 เมกะวัตต์ พร้อมติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานรวม 200 เมกะวัตต์-ชั่วโมง ซึ่งพัฒนาบนพื้นที่นาเกลือที่เลิกใช้ประโยชน์แล้ว เช่นเดียวกับการพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำในเขื่อนของ กฟผ. ซึ่งไม่กระทบต่อพื้นที่ทางการเกษตรและไม่มีต้นทุนค่าที่ดิน ทำให้มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่สามารถแข่งขันได้ นอกจากนั้น ยังกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นจุดเช็กอินที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับคนท้องถิ่นอีกด้วย
ปัจจุบัน กฟผ.มีแผนจะเร่งดำเนินการโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำในเขื่อน กฟผ. 2,656 เมกะวัตต์ ให้เสร็จสิ้นภายในปี 2573 โดยโครงการ โซลาร์เซลล์ลอยน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ชุดที่ 1 กำลังผลิต 140 เมกะวัตต์ เป็นโครงการฯ ที่ 3 อยู่ระหว่างขออนุมัติโครงการต่อคณะรัฐมนตรี
“พลังงานไฮโดรเจน” มาแน่อีกไม่นาน
กฟผ.ยังได้พาไปดูการพัฒนาสถานีไฮโดรเจนไห่โข่ว ซึ่งผลิตไฮโดรเจนสีเขียวจากไฟฟ้าที่ได้จากโซลาร์เซลล์ กำลังผลิต 5 เมกะวัตต์ ด้วยกระบวนการอิเล็กโทรลิซิส (Electrolysis) แยกน้ำเป็นไฮโดรเจนด้วยไฟฟ้า ซึ่งสามารถผลิตไฮโดรเจนสีเขียวได้ 100 กิโลกรัมต่อวัน จากนั้นนำไปกักเก็บไว้ในถังเก็บไฮโดรเจน สามารถเติมให้รถที่ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนได้ โดยรับความต้องการใช้ผ่านระบบแอปพลิเคชันใช้เวลาการเติมประมาณ 3 นาทีต่อคัน และให้บริการได้ประมาณ 100 คันต่อวัน โดยตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 60,000 ตันต่อปี
“การมาเยี่ยมชมครั้งนี้ ช่วยทำให้เห็นการพัฒนาและความเป็นไปได้ของการใช้พลังงานไฮโดรเจนที่สามารถนำมาใช้ได้จริง และได้ลองขับรถยนต์พลังงานไฮโดรเจน ซึ่งสามารถขับได้เป็นระยะทางถึง 650 กิโลเมตรต่อการเติม 1 ครั้ง และมีอัตราเร่ง 0—100 กม.ใน 7 วินาที จีนเริ่มมีจำหน่ายแล้วแต่ยังราคาสูง”
สำหรับประเทศไทย กฟผ.มีโครงการ Wind Hydrogen Hybrid ที่โรงไฟฟ้าลำตะคอง จ.นครราชสีมา สามารถผลิตไฮโดรเจนสีเขียวจากไฟฟ้าที่ได้จากกังหันลมด้วยกระบวนการอิเล็กโทรลิซิส ทำงานร่วมกับเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) กำลังผลิต 300 กิโลวัตต์ เปลี่ยนไฮโดรเจนให้เป็นพลังงานไฟฟ้าจ่ายให้ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง โดยเริ่มใช้งานตั้งแต่ปี 2559 และ กฟผ.มีโครงการที่ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา คือ โครงการผลิตไฮโดรเจนและแอมโมเนียสะอาดจากพลังงานหมุนเวียนบนพื้นที่ศักยภาพของ กฟผ. ซึ่งมีเป้าหมายเริ่มดำเนินโครงการต้นแบบในปี 2573
นอกจากนี้ กฟผ.อยู่ระหว่างศึกษาศักยภาพและพัฒนาการนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมกับก๊าซธรรมชาติสัดส่วน 5% ในโรงไฟฟ้าของ กฟผ.ที่มีอยู่เดิม และเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายทดสอบภายในปี 2573
“กฟผ.มองว่า พลังงานไฮโดรเจนจะเป็นพลังงานในช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงานจากพลังงานฟอสซิล ไปยังพลังงานสะอาด เพราะสามารถนำไฮโดรเจนมาปรับใช้ผลิตไฟฟ้าได้ภายใต้โรงไฟฟ้าเดิมที่เรามีอยู่ โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนมากนัก ซึ่งในแผน PDP2024 ต้องการเพิ่มสัดส่วนไฮโดรเจน 5% เป็น 10-20% ไปจนถึง 100% และปรับตัวเชื้อเพลิงที่จะนำไปใช้ผลิตไฮโดรเจน จากสีเทาเป็นสีเขียว และสีฟ้า เพื่อให้ได้ไฮโดรเจนจากพลังงานสะอาดมากขึ้น” นายเทพรัตน์กล่าว
ท้ายที่สุด สำหรับทิศทางค่าไฟฟ้าปีหน้า นายเทพรัตน์กล่าวว่า “แม้ปีหน้าค่าไฟฟ้าจะขึ้นกับราคาก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก แต่ กฟผ.ในฐานะหน่วยงานรัฐ ยังคงต้องช่วยประชาชนในการดูแลค่าไฟฟ้า ค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ไม่ให้กระทบมากเกินไป โดยเชื่อว่า กฟผ.เองจะไม่มีปัญหาเรื่องการบริหารสภาพคล่องเพราะ กฟผ.เคยรับภาระค่าเอฟทีสูงสุดที่ 150,000 ล้านบาท แต่ได้ทยอยคืนเหลืออยู่ที่ 80,000 กว่าล้านบาทแล้ว”.
ทีมเศรษฐกิจ
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ