แรงงาน “เมียนมา-กัมพูชา-ลาว” ที่ถือบัตรสีชมพู เสี่ยงหลุดจากระบบ หลังไทยขีดเส้นขึ้นทะเบียนแรงงานครั้งใหม่ 27 พ.ย. 67 – 13 ก.พ. 68 เปิดข้อกังวลนายจ้างไทย ระบบสับสน เอกสารซับซ้อน ให้ลงทะเบียนแค่ 3 จังหวัด ห่วงหันจ้างแรงงานเถื่อน

“รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ” คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ศึกษาด้านแรงงาน มองว่า แรงงานข้ามชาติ กลุ่มบัตรชมพู ใกล้ถึงกำหนดเวลาต้องต่ออายุ และต้องทำ Pre-MOU โดยไม่ต้องเดินทางกลับประเทศ ซึ่งอยู่ในไทยตอนนี้กว่า 2 ล้านคน ให้สิ้นสุดภายใน 13 ก.พ. 2568

“ที่ผ่านมาแรงงานข้ามชาติ ถือบัตรสีชมพู มาจากการพยายามแก้ปัญหาของรัฐบาลไทย ช่วงการแพร่ระบาดโควิด ที่เปิดให้แรงงานข้ามชาติคือ เมียนมา กัมพูชา และลาว ซึ่งหลบหนีเข้าเมือง ได้มาขึ้นทะเบียนถูกกฎหมาย ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 24 ก.ย. 2567 โดยกำหนดให้แรงงานข้ามชาติ ที่ถือบัตรสีชมพู ต้องไปลงทะเบียนอีกครั้งภายในวันที่ 27 พ.ย. 67 – 13 ก.พ. 68 แต่ด้วยระยะเวลาจำกัด อาจส่งผลทำให้แรงงานข้ามชาติ 2 ล้านกว่าคน ที่อยู่ในความดูแลของนายจ้างชาวไทยราว 3 แสนคน หลุดออกจากระบบ”

เนื่องจากความไม่พร้อมของภาครัฐ และความไม่ชัดเจนในเรื่องขั้นตอนการลงทะเบียน ตลอดจนระบบออนไลน์ อาจทำให้นายจ้างเกิดความสับสน เตรียมการไม่ทันในเรื่องของเอกสาร

ขณะที่แรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะชาวเมียนมา มีความวิตกกังวล เนื่องจากสถานการณ์ไม่ปกติทางการเมืองในประเทศ เสี่ยงถูกเกณฑ์ทหาร เรียกเก็บภาษี ละเมิดสิทธิมนุษยชน จนสูญเสียโอกาสในการทำงานต่อในไทย

อีกด้านหนึ่ง ความไม่พร้อมของนายจ้างชาวไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย ที่มีราว 3 แสนราย ยังขาดความรู้ ความเข้าใจ เพราะการขึ้นทะเบียนมีหลายขั้นตอน

นายจ้างหรือแรงงานต่างด้าว อาจไม่มีเงินจ้างบริษัทที่รับดำเนินการแทน ด้วยความไม่พร้อมของภาครัฐ ทำให้เกิดความสับสน ทั้งตัวแรงงานและนายจ้าง ประกอบกับเงื่อนไขเวลาจำกัด เสี่ยงเปิดช่องให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน

แนวทางการจัดการปัญหา

ด้วยความที่กลุ่มแรงงานเหล่านี้อยู่ในภาคอุตสาหกรรมขาดแคลนแรงงาน และส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจของนายจ้างชาวไทย “รศ.ดร.กิริยา” มองถึงแนวทางแก้ไขว่า ขณะนี้ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมจะทำ MOU แต่อยากให้ดำเนินการต่ออายุไปก่อน จนระบบของหน่วยงานรัฐมีความพร้อม ซึ่งมีแนวทางดังนี้

– ปรับขั้นตอนให้สั้นกระชับ เพื่อให้นายจ้าง-ลูกจ้างมีความเข้าใจวิธีการดำเนินการ
– ด้วยระยะเวลา 50 กว่าวัน เกรงว่าจะไม่ทัน
– มีขั้นตอนลงทะเบียนมาก เช่น ต้องทำ Name list ฯลฯ
– มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูง
– มีค่าใช้จ่ายนอกระบบ เช่น ซื้อขายคิว
– แรงงานข้ามชาติมีความกังวลที่จะเปิดเผยข้อมูลต่อทางการเมียนมาร์ ด้วยกังวลเรื่องถูกเก็บภาษี ต้องเหมาจ่าย กรณีไม่เคยจ่ายภาษีมาก่อน หรืออาจถูกเกณฑ์ทหาร จึงขาดแรงจูงใจในการมาลงทะเบียนเป็นแรงงานถูกกฎหมาย

– จากขั้นตอนที่ยุ่งยาก จึงอาจต้องจ้างบริษัทนำเข้า ซึ่งมีจำนวน 300 กว่าแห่ง ซึ่งไม่ได้ถูกคัดแยกคุณภาพ เพื่อความสะดวก ทำให้นายจ้างรายย่อยลำบาก ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายสูง
– มีการเปิดทำในเพียง 3 พื้นที่ คือ ระนอง เชียงใหม่ กรุงเทพฯ ทำให้แรงงานต้องเดินทางไกล
– มีมติคณะรัฐมนตรีอีกอันที่เตรียมช้อนแรงงานข้ามชาติเถื่อน จึงมีคำถามว่า ถ้ามีมตินี้แล้ว ทำไมต้องให้ไปทำ MOU ทำไมไม่ให้ต่ออายุไปก่อน