เรื่องที่ 12 (27 เม.ย.2557) หมายเหตุเฟซบุ๊ก กุสุมา 80 กุนที คืออะไร อ่านอย่างไร ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กุสุมา รักษมณี อธิบายไว้ดังต่อไปนี้
สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวกวีชื่อ ไม้หนึ่ง ก.กุนที ถูกยิงเสียชีวิต ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวและญาติมิตร ในฐานะที่เขาเป็นกวีผู้สร้างสรรค์งาน และในฐานะศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร
นานมาแล้ว เคยเขียนชื่นชมงานของไม้หนึ่ง ก.กุนทีไว้ เมื่อเขาเขียนกลอนช่วงแรกๆ
ไม่กี่วันมาได้ยินผู้อ่านข่าวโทรทัศน์ อ่านชื่อหลังของไม้หนึ่งว่า ก.กุน-ที
ไม่ทราบว่าเจ้าตัวออกเสียงชื่ออย่างไร
แต่ดูจากรูปคำ คำนี้เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า แม่น้ำสายน้อยๆ ควรจะอ่านว่า กุ–นะ–ที
นะที แปลว่า แม่น้ำ ส่วนกุ เป็นศัพท์ที่เติมข้างหน้า แปลว่า เล็กน้อย ฝากถึงผู้อ่านข่าว และผู้ใส่ใจภาษาทั้งหลายด้วย
นี่คือหลัก ความรู้ใหม่ที่ผมเพิ่งได้ จากผู้รู้ระดับศาสตราจารย์ แต่การจะอ่าน กุ-นะ-ที ตามท่านหรือไม่? ผมไม่แน่ใจ จากประสบการณ์รู้ขาดๆเกินๆคนอาชีพหนังสือพิมพ์
เรื่องการเขียนชื่อ…อ่านออกเสียง ผมเคยดื้อเข้าใส่ หัวหน้ามานิจ สุขสมจิตร ก็หลายเรื่อง
เรื่องหนึ่ง ชื่อ ร.ล.จันทร ราว พ.ศ.2511 ผมเป็นลูกเรือ ตอนนั้น ร.ล.จันทร เป็นเรือธง เป็นเรือพระที่นั่ง
ข่าวที่ออกทางทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม คุณอาคม มกรานนท์ อ่าน ที่เรือรบหลวงจันทร แต่คุณบรรจบ จันทิมาธร อ่านข่าวทางช่อง 7 “ที่เรือรบหลวงจันทระ”…เต็มปากเต็มคำ
ก็ทุกครั้งล่ะมัง พวกเราชาวเรือจันทร ก็ส่งเสียงฮา
ด้วยเหตุผลง่ายๆ ทหารทั้งกรมอุทกศาสตร์ รวมชาวเรือในสังกัดทุกลำ เราเองเรียกกันเองว่า “เรือจัน”
ทีวีตอนนั้นเป็นขาวดำ พวกลูกเรือ ตั้งแต่พลทหาร ไปถึงจ่า พันจ่า บางครั้ง สรั่ง นายทหารยศ เรือโท ก็อยู่หน้าจอด้วยกัน ไม่มีใครลงลึกคิดค้นถึงขั้น แล้ว แท้จริงแล้ว ชื่อเรือที่ถูกต้อง คืออะไรแน่?
กองทัพเรือ พ.ศ.นั้น มีเหตุสะกิดให้เรา คิดถึง เรื่องชื่อครับ เนื่องด้วยผู้บัญชาการทหารเรือ ท่านชื่อ พล.ร.อ.จรุญ เฉลิมเตียรณ…
พลทหารอย่างผม อ่าน เฉลิมเตีย-รณ พวกจ่าพันจ่าก็บอกว่า เจ้าของชื่อท่านให้อ่าน “เฉลิม เตีย ระ-ณะ”
ผมจึงได้ความรู้ อีกข้อ เรื่องชื่อนั้น จะถูกผิดอย่างไรก็ต้องอ่านตามใจของเจ้าของชื่อ
หลัก…นี้ ตอนผมเป็นรีไรเตอร์ โต๊ะ (ข่าว) ตัวที ราวๆปี 2530 หัวหน้ามานิจ สุขสมจิตร ท่านเริ่มขอให้พวกเราใช้…เดิมทีเราเขียนชื่อย่อ ชื่อจริง แบบที่เคยเขียนๆ จนถูกนินทาภาษาหนังสือพิมพ์
รัฐมนตรี เดิมเขียน รมต. หัวหน้ามานิจ ท่านใช้หลักราชบัณฑิตยสถาน ให้เขียน รมว. รัฐมนตรีช่วย เขียน รมช. ผู้ว่าราชการจังหวัด เคยเขียน ผวก.เป็น ผวจ. ชื่อประเทศเคยเขียน อิรัค เปลี่ยนมาเป็น อิรัก ฯลฯ
พอไทยรัฐเริ่มนำ สื่ออื่นๆก็ใช้ตาม ใช้กันจนถึงวันนี้
แต่เรื่องที่ผมนับถือพี่มานิจ ชนิดลงลึกศิโรราบ…ก็คือ ชื่อเรื่อง เรือ “จันทร” ครับ พี่มานิจซึ่งไม่เคยเป็นทหารเรือ บอกผมว่า เรือของกรมอุทกศาสตร์ ที่มีงานสำรวจสมุทรศาสตร์ ลำแรกชื่อ “สุริยะ”
ร.ล. “จันทร” เป็นลำต่อมา ไม่ว่าทีวีช่องสี่ช่องเจ็ด จะอ่านยังไง และชาวเรือเราจะเรียก “จัน…” หรือไม่ แต่โดยเจตนา เขาให้อ่าน “จันทระ” เพื่อให้เป็นชื่อคล้องจองกับ เรือสำรวจฯลำแรก “สุริยะ”
พี่มานิจ จริงจังกับเรื่องภาษาขนาดนี้ ผมจึงไม่แปลกใจ เมื่อไม่นานมานี้ ท่านกระซิบ “เราเป็นราชบัณฑิตแล้วนะ!” ผมตะโกนตอบในใจ “สำหรับผม พี่เป็นราชบัณฑิต มานานแสนนานแล้ว”.
กิเลน ประลองเชิง
คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ