เศร้า “น้องกันยา” ลูกช้างป่าภูวัวหลงฝูงกลับดาวช้างแล้ว หลังติดเชื้อไวรัสในช้าง (EEHV) ได้เพียง 3 วัน ควาญช้างร่ำไห้กอดร่างน้อง
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 6 พ.ย. 67 ที่อาคารผ่าซากช้าง สถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์จังหวัดลำปาง ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 6 ต.เวียงตาล อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ดร.น.สพ.ทวีโภค อัวควานิช หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ช้าง สถาบันคชบาลแห่งชาติจังหวัดลำปาง พร้อมทีมสัตวแพทย์เตรียมทำการผ่าซากพังกันยา อายุ 13 เดือน ลูกช้างป่าหลงฝูงจากจังหวัดบึงกาฬที่ถูกนำมาดูแลที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งถูกส่งตัวมารักษาที่สถาบันคชบาลแห่งชาติตั้งแต่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาด้วยโรคเฮอร์ปีส์ไวรัสในช้าง (EEHV) หรือติดเชื้อในเลือด
โดยน้องกันยาได้ล้มลงเมื่อช่วง 5 ทุ่มครึ่ง เมื่อคืนนี้ (5 พ.ย. 67) เช้าวันนี้ทางหมอทำพิธีช้างพร้อมด้วยควาญช้างและทีม Patara Elephant Conservation ได้มาทำพิธีตามประเพณีโบราณ หรือพิธีปัดภัยให้พังกันยาและทางทีมผู้ดูแลยังได้พิมพ์รอยเท้าและงวงของน้องกันยาเพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึกถึงน้องกันยาเป็นครั้งสุดท้ายท่ามกลางความโศกเศร้าของควาญช้างและทีมงานบางคนถึงกับร้องไห้ออกมา
จากการสอบถาม นายธีรภัทร ตรังปราการ อายุ 50 ปี ผู้ก่อตั้ง Patara Elephant Conservation เปิดเผยว่า น้องกันยา เป็นลูกช้างป่าพลัดโขลง ซึ่งอาจจะตามโขลงไม่ทัน มีชาวบ้านไปเจอในป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว จังหวัดบึงกาฬ และต่อมาถูกส่งมาที่ Patara Elephant Conservation ให้ดูแลต่อ เนื่องจากมีแม่ช้างที่เพิ่งตกลูกและสามารถให้นมกับพังกันยา อีกยังมีทีมสัตวแพทย์ดูแลอีกด้วยและดูแลพังกันยามากว่า 1 ปี
โดยทางทีมงานดูแลเหมือนลูกคนหนึ่งและน้องกันยานั้นเป็นช้างที่น่ารัก เขาเป็นช้างที่อยู่กับมนุษย์จึงปรับตัวกับคนได้ดี ชอบเล่นกับควาญและคน เขามักจะชอบใช้งวงแตะไปที่ใบหน้าหรือดึงหูของควาญและเสียงร้องของเขาจะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และจะใช้เสียงแสดงถึงอารมณ์และความต้องการของเขาในการสื่อสารกับคน เป็นที่รักของควาญช้างทุกคน
เมื่อช่วงวันเสาร์ที่ผ่านมา อากาศในจังหวัดเชียงใหม่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน วันหนึ่งมีถึง 3 ฤดู ซึ่งคนเลี้ยงช้างจะรู้ดีว่าเป็นช่วงอันตรายสำหรับลูกช้างที่อายุไม่ถึง 10 ปี เพราะอากาศจะเป็นเหมือนการกระตุ้นให้เกิดโรคเฮอร์ปีส์ไวรัสในช้าง (EEHV) หรือติดเชื้อในเลือด ซึ่งโรคนี้เป็นโรคที่รุนแรงมากคร่าชีวิตลูกช้างที่อายุไม่ถึง 10 ปีในโลกนี้มากกว่าครึ่ง หากเปรียบเทียบโรคชนิดนี้ก็เหมือนไข้เลือดออกในคนที่หากติดเชื้อก็จะมีเลือดออกตามเส้นเลือดและในอวัยวะต่าง ๆ ซึ่งเป็นโรคที่คนเลี้ยงช้างกลัวมากเพราะโอกาสรอดนั้นมีน้อยมาก
ทางทีมสัตวแพทย์และควาญช้างก็เฝ้าสังเกตอาการของน้องกันยาอย่างใกล้ชิด ต่อมาวันอาทิตย์อาการน้องเริ่มแสดงอาการออก ทางทีมสัตวแพทย์จึงเริ่มแผนฉุกเฉินและประสานทางทีมสัตวแพทย์ของสถาบันคชบาลแห่งชาติที่ลำปางเพื่อเตรียมจะนำน้องเข้ามารักษาที่สถาบันคชบาลแห่งชาติจังหวัดลำปางในวันจันทร์ที่ผ่านมา เมื่อมาและต่อมาผลตรวจออกมาก็ยืนยันในสิ่งที่เรากลัวจนกระทั่งน้องล้มอย่างสงบเมื่อช่วง 5 ทุ่มครึ่งของคืนวันที่ 5 พ.ย. 67 ที่ผ่านมาอย่างสงบเหมือนน้องหลับไปซึ่งที่ผ่านมาน้องคงสู้อย่างเต็มที่แล้ว ซึ่งน้องกันยาล้มนั้นสร้างความเสียใจให้กับทุกฝ่ายและหวังว่าการล้มของน้องกันยาในครั้งนี้จะเป็นการปลุกกระแสให้กับทุกฝ่ายที่จะทำการวิจัยและพัฒนายารักษาหรือในการต่อสู้กับโรคนี้
ด้านนายธนกร ปัญญากุล ชื่อตุ๋ย อายุ 16 ปี ควาญช้างที่ดูแลและใกล้ชิดกับน้องกันยาเปิดเผยว่าตอนนี้ยังทำใจที่น้องกันยาจากไปยังไม่ได้และเสียใจพอทราบข่าวเมื่อคืนที่ผ่านมาก็ร้องไห้ทั้งคืน สำหรับน้องกันยาเป็นช้างที่น่ารักมีเสียงเป็นเอกลักษณ์และยังเป็นช้างที่ขี้เล่นชอบเอางวงจับแก้มหรือใบหน้าของตนเองและเขาจะชอบเอางวงมาดึงหูและบางทีก็นอนเล่นเหมือนเด็ก ๆ และตัวเขาเองก็ผูกพันกับน้องกันยามากเช่นกัน
ดร.น.สพ.ทวีโภค อัวควานิช หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ช้าง สถาบันคชบาลแห่งชาติจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า ทางทีมสัตวแพทย์หลังได้รับการประสานก็ได้เตรียมเลือดเพื่อจะให้เลือดกับน้องกันยาเพราะโรคเฮอร์ปีส์ไวรัสในช้าง (EEHV) เป็นโรคที่รุนแรงมากคร่าชีวิตลูกช้างที่อายุไม่ถึง 10 ปีจำนวนมากที่ผ่านมา จากการที่ข้อมูลที่ตนเองได้สัมผัสมีโอกาสรอดของลูกช้างที่ติดเชื้อโรคชนิดนี้โอกาสรอดมีแค่ 40 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
เมื่อน้องกันยามาถึงทางทีมสัตวแพทย์ก็ได้จัดทีมที่มีความเชี่ยวชาญกับโรคนี้มาดูแลรักษาและผลตรวจเลือดก็ออกมาว่าติดเชื้อดังกล่าวและเมื่อน้องมาถึงอาการของน้องก็ทรุดลงตามลำดับจนช่วงบ่ายของเมื่อวานนี้น้องก็ไม่ตอบสนองกับการรักษาและล้มลงอย่างสงบในช่วง 23.30 น. ของเมื่อคืนนี้ (5 พ.ย. 67)
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ