หัวข้อ “ผู้แกะแม่พิมพ์พระสมเด็จฯ” (ปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่อง เล่มพระสมเด็จฯ สำนักพิมพ์คลังวิทยาบูรพา พิมพ์ครั้งที่ 6 พ.ศ.2520) “ตรียัมปวาย” เริ่มต้นว่า
แต่เดิมนั้น ชาวบ้านต่างพากันแกะพิมพ์ของตน ตามที่เจ้าพระคุณฯกำหนด แล้วมาช่วยกันพิมพ์พระต่อหน้า ระหว่างเวลานั้น เจ้าพระคุณฯได้ให้นายเทด หลานชาย บ้านอยู่ถนนดินสอ แกะพิมพ์แบบสี่เหลี่ยมขึ้นมา
และสันนิษฐานว่าท่านเจ้าพระคุณฯ คงได้แกะแม่พิมพ์เป็นตัวอย่างขึ้นมาก่อน
แม่พิมพ์ตัวอย่างนั้นคือ แม่พิมพ์ ที่เรียกกันต่อมาว่าพิมพ์ทรงไกเซอร์ (เศียรบาตรอกครุฑ)
“พระอาจารย์ขวัญ” กล่าวว่า การที่พิมพ์ทรงนี้ได้รับฉายาพิมพ์ทรงไกเซอร์นั้น ท่านได้ทราบจากพระธรรมถาวร (ช่วง จันทโชติ) อาจารย์ของท่านว่า
เมื่อคราวที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จ ประพาสยุโรปครั้งแรก ได้ทรงอาราธนาพระสมเด็จฯ ติดพระองค์ไปด้วย ในวันหนึ่ง ขณะประทับต่อหน้าพระพักตร์ พระเจ้าวิลเลียม ไกเซอร์…พระเจ้ากรุงเยอรมันทอดพระเนตรรัศมีสีนวล ฉายออกมาจากกระเป๋าฉลองพระองค์
จึงทรงพระดำรัสถาม สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จึงทรงล้วงกระเป๋าหยิบพระสมเด็จฯออกมาให้ทอดพระเนตร
พระเจ้าไกเซอร์ทรงประหลาดพระทัย ดำรัสว่า “ปูนหรือ? ประหลาดจริง มีแสงสว่างเรืองๆได้”
จึงทรงอธิบาย เป็นพระพิมพ์ที่นิยมกันมากในสยาม พระเจ้าไกเซอร์ทรงสนพระทัย จึงได้ทรงถวายไป
ครั้นเมื่อเสด็จนิวัตกลับไทย ได้ตรัสเล่าเรื่องนี้แก่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพารผู้ใหญ่ จึงเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไป และจำกันได้ว่า พระสมเด็จฯองค์ที่เจ้าพระคุณฯถวายเป็นส่วนพระองค์แด่พระพุทธเจ้าหลวง เป็นพระสมเด็จฯพิมพ์ทรงที่ต่อมาเรียกกันว่า เศียรบาตรอกครุฑ
พิมพ์ทรงนี้จึงได้เกียรตินามว่า พิมพ์ทรงไกเซอร์ มานับแต่นั้น
“ตรียัมปวาย” ตั้งข้อสังเกต พระสมเด็จฯ พิมพ์ทรงเศียรบาตรอกครุฑ มีพุทธลักษณะคร่ำๆ คล้ายพระปฏิมายุคโบราณ ไม่สง่างามเหมือนพิมพ์ทรงอื่นๆ เช่น พิมพ์ทรงพระประธาน พิมพ์ทรงเจดีย์
เหตุใด เจ้าพระคุณฯจึงได้เลือกพระพิมพ์ทรงนี้ทูลเกล้าฯถวาย
อาจจะเป็นความจริงตามที่เล่าลือกันว่า พิมพ์ทรงนี้ท่านได้แกะแม่พิมพ์ขึ้นมาเอง
“ตรียัมปวาย”จำแนกพิมพ์ทรงเศียรบาตรอกครุฑ เป็น 4 แบบพิมพ์ พิมพ์เขื่อง พิมพ์สันทัด พิมพ์โปร่ง และพิมพ์ย่อม องค์ในคอลัมน์วันนี้ เป็นพิมพ์สันทัด เนื้อหาละเอียดนุ่ม…ปานกลาง ผิวบางเกลี้ยงเกลา
ด้านหน้าปราศจากคราบฝ้า ด้านหลังฝ้ารักสีดำแกมน้ำตาลจับหนา แต่ไม่มีริ้วรอยคราบกรุ จึงจัดเข้า “วัดระฆัง” ได้โดยไม่มีข้อกังขา
พิมพ์เศียรบาตรอกครุฑ ครูตรียัมปวายมีภาพตัวอย่างในปริอรรถาธิบายฯให้ดูเป็นวัดระฆังหลายองค์ แต่ส่วนใหญ่เป็นพระกรุบางขุนพรหม นักเล่นรุ่นเก่ารู้จักและเข้าใจ แยกวัดได้ดี
แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ อาจมีปัญหา เพราะวงการพระเครื่องปัจจุบัน ยอมรับเปลี่ยนมือซื้อขาย พิมพ์เศียรบาตรอกครุฑ เป็นพระกรุบางขุนพรหม…อย่างเดียว
องค์ที่ผิวเกลี้ยงเกลาสึกช้ำมีเงาสว่างนุ่มซึ้ง หรือองค์ที่มีผิวแป้งโรยพิมพ์ ดิบๆเดิมๆ ถ้าไม่ถูกตีเก๊ ก็ตีเป็นกรุบางขุนพรหม…ข้อดีสำหรับคนเป็นพระจริง ก็ได้เศียรบาตรอกครุฑวัดระฆังไว้ใช้ในราคาไม่แพง
ดูแม่พิมพ์สันทัด เศียรบาตรอกครุฑ องค์ในคอลัมน์ให้คุ้นตา ทุกเส้นสายลายพิมพ์ รวมไปถึงเส้นกรอบกระจก แคบห่างแค่ไหน
ถ้าแม่นพิมพ์ แม่นเนื้อ คุ้นธรรมชาติ สั่งสมประสบการณ์ดูพระแท้ให้มากๆ ก็พอจะรอดจากพระปลอมหลายฝีมือได้ ขอกระซิบเฉพาะคนรักๆกันนะครับ…พิมพ์เศียรบาตรอกครุฑ วัดระฆัง ยังรอมีคนรู้จัก นิมนต์ท่านขึ้นคอ เพียงแต่ขอให้ศรัทธาท่านจริงๆ.
พลายชุมพล
คลิกอ่านคอลัมน์ “ปาฏิหาริย์จากหิ้งพระ” เพิ่มเติม
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ