ศาลอาญาออกหมายจับ “หมอบุญ” เจ้าของ รพ.ดัง อดีตเมีย ลูกสาว พร้อมพวกรวม 9 คน ข้อหาฉ้อโกง สมคบกันฟอกเงินและ พ.ร.บ.เช็ค หลังเปิดโครงการใหญ่ล่อลวงเหยื่อกระเป๋าหนักกว่า 247 คน ลงทุน 5 โครงการ สูญเงิน รวมกว่า 7.5 พันล้านบาท ชุดสืบสวนตามล่าตัว มาได้ 6 คน ส่วนอดีตเมียกับลูกเข้ามอบตัว อ้างว่า ถูกปลอมลายมือชื่อเซ็นค้ำประกันเงินกู้ ตำรวจคุมตัว สอบเครียด ทนายอดีตเมียปูดจะแจ้งดำเนินคดีหมอบุญ ข้อหาปลอมลายเซ็นด้วย หลังสอบปากคำกว่า 6 ชม. พนักงานสอบสวนไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว ส่งควบคุมที่ห้องขัง สน.พญาไท เพื่อส่งฝากขังศาลวันรุ่งขึ้น ส่วนหมอบุญผู้ต้องหาที่ยังจับกุมไม่ได้คนสุดท้าย ตรวจสอบพบบินหนีไปฮ่องกงตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย. หลังจากนั้นเดินทางต่อไปยังประเทศจีน กำลังประสานตำรวจสากลตามล่าตัว นอกจากนี้ยังมีเหยื่ออีก 12 คน เข้าแจ้งความตำรวจ ปอศ. หลังถูกผู้ต้องหากลุ่มเดียวกันโกงรวมเป็นเงิน 1.9 พันล้านบาท “บิ๊กก้อง” สั่งส่งสำนวนการสอบสวนให้ดีเอสไอไปแล้ว หลังพบมูลค่าความผิดเข้าข่ายคดีพิเศษ

กรณี พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. สั่งการให้ พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. พล.ต.ต.สมควร พึ่งทรัพย์ รอง ผบช.น. พล.ต.ต.อัฏธพร วงศ์ศิริปรีดา ผบก.น.1 และคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน บก.น.1 ขออำนาจศาลอาญาอนุมัติหมายจับ นพ.บุญ วนาสิน อายุ 86 ปี อดีตภรรยา ลูกสาว และคนสนิทรวม 9 คน ข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ข้อหาร่วมกันให้กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ข้อหาร่วมกันฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ ข้อหาสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันและร่วมกันฟอกเงิน และข้อหาออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค และธนาคารปฏิเสธไม่ให้ใช้เงินตามเช็คนั้น ความเสียหายกว่า 8,000 ล้านบาท

จับเครือข่ายเจ้าของโรงพยาบาลดัง

ความคืบหน้าจากห้องประชุม บก.น.1 กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 23 พ.ย. พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. พล.ต.ต.อัฏธพร วงศ์ศิริปรีดา ผบก.น.1 และ พ.ต.อ.ศักยะ แสงวรรณ รอง ผบก.น.1 ร่วมกันแถลงผลการจับกุมเครือข่าย นพ.บุญ หรือหมอบุญ วนาสิน อายุ 86 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 5645/2567 ลงวันที่ 22 พ.ย.67 ข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันให้กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ สมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน และร่วมกันฟอกเงิน ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค และธนาคารปฏิเสธไม่ให้ใช้เงินตามเช็คนั้น และพวกรวม 9 คน

เมีย–ลูกสาวโดนด้วยรวม 9 คน

1.น.ส.จิดาภา พุ่มพุฒ อายุ 53 ปี เลขาส่วนตัวหมอบุญ 2.น.ส.ศิวิมล จาดเมือง อายุ 38 ปีผู้จัดการเกี่ยวกับเอกสารสัญญา และจัดการด้านการเงินตามคำสั่ง น.ส.จิดาภา 3.นางจารุวรรณ วนาสิน อายุ 79 ปี อดีตภรรยาหมอบุญ ผู้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกันในสัญญาต่างๆ 4.น.ส.นลิน วนาสิน อายุ 51 ปี ลูกสาว เป็นผู้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกันในสัญญาต่างๆ 5.นางอัจจิมา พาณิชเกรียงไกร อายุ 49 ปี เจ้าหน้าที่บริษัทหลักทรัพย์คิงส์ฟอร์ด จำกัด (มหาชน) ผู้ชักชวนให้ร่วมลงทุน 6.นายภาคย์ วัฒนาพร อายุ 36 ปี เจ้าหน้าที่บริษัทหลักทรัพย์คิงส์ฟอร์ดฯ ร่วมกับนางอัจจิมาผู้ประสานงานให้คำปรึกษาชักชวนลงทุน 7.นางภัทรานิษฐ์ ณ สงขลา อายุ 55 ปี นายหน้า ผู้ชักชวนแนะนำการลงทุน และเป็นผู้จัดทำเอกสารเป็นผู้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญากู้ยืมเงิน และ 8.นายธนภูมิ ชนประเสริฐ อายุ 36 ปี ตัวแทนติดต่อชักชวนผู้เสียหาย เป็นผู้จัดทำสัญญาลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญากู้ สัญญาค้ำประกัน ทั้ง 8 คนถูกแจ้งข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันให้กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน

สน.ห้วยขวางจับแจ้ง 520 คดี

พล.ต.ต.นพศิลป์กล่าวว่า มีผู้เสียหายจำนวนมากเข้าแจ้งความที่ สน.ห้วยขวาง เริ่มจากห้วงเดือน ธ.ค.2566 1 คดี ถัดมาในปี 2567 ห้วงเดือน พ.ค.อีก 6 คดี เดือน มิ.ย. 8 คดี และ ก.ค. 49 คดี คดีเริ่มซับซ้อนยากมากขึ้นเนื่องจากผู้เสียหายจำนวนมาก ในช่วงเดือน ส.ค. 75 คดี ก.ย. 84 คดี ต.ค. 60 คดี และ พ.ย.อีก 60 คดี รวม 520 คดี รวมผู้เสียหาย 247 ราย เบื้องต้นเป็นคดี พ.ร.บ.เช็ค พนักงานสอบสวน สน.ห้วยขวาง รับคำร้องทุกข์ไว้ จึงเเต่งตั้ง บก.น.1 เป็นคณะพนักงานสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน พบพฤติกรรม นพ.บุญเเละพวกมีการระดมทุน ชักชวนจากตัวแทนบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ว่า ตนเป็นตัวแทนการระดมเงินลงทุน ให้ นพ.บุญ วนาสิน หรือหมอบุญและครอบครัว

ชวนลงทุน 5 โครงการยักษ์

“ผู้เสียหายถูกโบรกเกอร์ติดต่อชักชวนลงทุนร่วมกับ นพ.บุญกับพวก อ้างว่าลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจทางการแพทย์ 5 โครงการ 1.โครงการสร้างศูนย์มะเร็งย่านปิ่นเกล้าพื้นที่ 7 ไร่ใช้งบประมาณ 4,000 ล้านบาท 2.โครงการเวลเนสเซ็นเตอร์ย่านพระราม 3 ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างที่พักอาคารสูง 52 ชั้นรองรับผู้สูงอายุ 400 ห้อง มูลค่า 4-5 พันล้านบาท 3.สร้างโรงพยาบาลใน สปป.ลาว รวม 3 แห่ง ในเมืองเวียงจันทน์ 2 แห่ง และจำปาสัก 1 แห่ง 4.เข้าร่วมลงทุนกับโรงพยาบาลในเวียดนามใช้งบลงทุน 4-5 พันล้านบาท และ 5.การสร้างเมดิคอลอินเทลลิเจนท์ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ทำหน้าที่ด้านไอที มูลค่า 100 ล้านบาท หากผู้เสียหายร่วมลงทุนแล้วในปี 2566 จะได้กำไร 700 ล้านบาท ปี 2567 อาจเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 ล้านบาท ช่วงวันที่ 2-4 ก.พ.2566 ที่ผ่านมา นพ.บุญสร้างโปรไฟล์น่าเชื่อถือ หลังระดมทุนเเล้วจะให้ผู้เชี่ยวชาญบริษัทไทยเมดิคอลกรุ๊ป จำกัด หรือ TMG ดูเเลโครงการทั้งหมด เนื่องจากเชี่ยวชาญด้านการเเพทย์ เข้ามาบริหารต่อ ยังมีเเผนนำเข้าบริษัทตลาดหลักทรัพย์ในปี 2567 ด้วย” รอง ผบช.น.กล่าว

ความเสียหายกว่า 7,500 ล้านบาท

พล.ต.ต.นพศิลป์กล่าวต่อว่า เเต่พฤติกรรมการหาเเหล่งเงินทุนของหมอบุญเเละพวก กลับมีลักษณะไปกู้ยืมเงินกับเเหล่งเงินกู้ มีภรรยาเเละลูกสาวเป็นผู้ค้ำประกันเซ็นสลักหลังในเช็คทุกฉบับมอบให้ผู้เสียหาย ช่วงเเรกจ่ายดอกเบี้ยในอัตราสูงให้บางส่วนบางคน ต่อมาไม่มีการจ่ายเลย อีกทั้งเจ้าหน้าที่ยังพบว่า หลังได้เงินทุน 7,500 ล้านบาท พบว่าให้โบรกเกอร์ทยอยถอนเงินครั้งละเป็นร้อยล้าน โบรกเกอร์จะได้ดอกเบี้ย เเละเปอร์เซ็นต์เป็นค่าตอบเเทน ประมาณ 1 แสนบาทต่อ 10 ล้านบาท การกระทำของหมอบุญและโบรกเกอร์จะไปชักชวนผู้ร่วมลงทุนที่เป็นนักเล่นหุ้นกระเป๋าหนัก

เสียหายมากสุด 6–7 ร้อยล้าน

รอง ผบช.น.กล่าวต่อว่า ต่อมา บก.น.1 แต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนขึ้น โดย พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. สั่งการให้ พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. พล.ต.ต.ต.สมควร พึ่งทรัพย์ รอง ผบช.น. และ พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. เร่งดำเนินการโดยด่วน เนื่องจากมีผู้เสียหายจำนวนมาก มูลค่าความเสียหายสูง ผู้เสียหายมากสุดถึง 600 -700 ล้านบาท เป็นนักธุรกิจที่หลงเชื่อว่าจะมีการลงทุนจริง รวมถึงบุคลากรทางการเเพทย์ทั้งหมด 247 คน ความเสียหาย 7,564 ล้านบาท ตั้งเเต่เดือน ธ.ค.2566 ถึง ต.ค.2567 ส่วนเงินจำนวนดังกล่าวอยู่ระหว่างตรวจสอบว่า นำไปใช้จ่ายในธุรกิจเครือข่ายโรงพยาบาลที่มีอยู่จริง 4-5 โรงพยาบาลหรือไม่ รวมถึงต้องไปตรวจสอบในช่วงนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ว่าเงินดังกล่าวไปอยู่ที่ไหน

ผ่องถ่ายทรัพย์สินให้เครือญาติ

“นอกจากนี้ยังตรวจสอบพบว่า นพ.บุญ มีรถยนต์ 19 คันหายไป ส่วนอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงโฉนดที่ดินพบมี 21 เเปลง พบว่า มีการยักย้ายถ่ายเทไปยังคนในครอบครัว ต้องตรวจสอบว่าทรัพย์สินดังกล่าวได้มาในช่วงปี 2567 หรือไม่” พล.ต.ต.นพศิลป์กล่าว

เจ้าตัวเผ่นไปจีนแล้ว

พล.ต.ต.นพศิลป์กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ร่วมขบวนการศาลอาญาออกหมายจับ 9 คน ขณะนี้ตำรวจจับเเล้ว 6 คน นำตัวส่งศาลอาญาฝากขังเรียบร้อยเเล้ว ส่วนอีก 3 คนยังจับไม่ได้ คือ หมอบุญ นางจารุวรรณ วนาสิน อายุ 79 ปี ภรรยา และ น.ส.นลิน วนาสิน อายุ 51 ปี ลูกสาว ส่วนหมอบุญประสาน ตม.พบว่า เดินทางออกจากไทยตั้งเเต่วันที่ 29 ก.ย. เวลา 14.25 น. เส้นทางกรุงเทพฯ-ฮ่องกง ล่าสุดทราบว่า นพ.บุญเดินทางต่อจากฮ่องกงไปจีนเเล้ว อยู่ระหว่างการประสานตำรวจสากล ส่วนลูกเมียอยู่ระหว่างติดตามตัว คาดว่าอยู่ในประเทศไทย

ให้ผลตอบแทนสูงกว่าแบงก์

สำหรับพฤติการณ์หมอบุญชุดสืบสวนพบว่า พยายามจ่ายเช็คให้เจ้าหนี้ ใช้เช็คที่ผู้เสียหายไม่สามารถนำไปใช้ดำเนินการขึ้นเงินได้ เพื่อหลีกเลี่ยงเรื่องความผิดการฟอกเงินที่มีอัตราโทษสูง เเละต้องถูกยึดอายัดทรัพย์ อีกทั้งพฤติกรรมกลุ่มผู้ต้องหายังทำการตลาด ซื้อโฆษณา สื่อออนไลน์ สำนักพิมพ์หลายเเห่ง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือโดยการออกสื่อทั้งลงเว็บไซต์และให้สัมภาษณ์ บอกกล่าวครอบครัว คนใกล้ชิด และโบรกเกอร์ตัวแทนในการระดมทุน อ้างว่าตนมีบริษัทหลักทรัพย์จดทะเบียนถูกต้องในตลาดหลักทรัพย์ สร้างความน่าเชื่อถือ และการระดมทุนได้ค่าตอบแทนสูงมากกว่าสถาบันการเงิน อย่างไรก็ตาม จะพยายามถึงที่สุดในการตามล่าตัวหมอบุญ ตามหาทรัพย์สินกลับมาคืนผู้เสียหายให้ได้ ฝากถึงผู้ที่จะลงทุน ก่อนร่วมลงทุนให้ตรวจสอบอย่างละเอียดว่าโครงการต่างๆจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่

สืบนครบาลรวบเครือข่าย

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้เวลา 16.30 น. วันที่ 22 พ.ย. พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. สั่งการให้ พ.ต.อ.อรรชวศิษฎ์ ศรีบุญยมานนท์ ผกก.สส.3 บก.สส.บช.น. นำกำลังติดตามจับกุม น.ส.ศิวิมล จาดเมือง อายุ 38 ปี อยู่เลขที่ 170/1 หมู่ 8 ต.โพทะเล จ.พิจิตร ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ จ.5647/2567 ลงวันที่ 22 พ.ย.67 ข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันให้กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และจับกุม น.ส.จิดาภา พุ่มพุฒ อายุ 53 ปี อยู่เลขที่ 5/225 หมู่ 6 ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมืองสมุทรสาคร ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ จ.5646/2567 ลงวันที่ 22 พ.ย.67 ข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันให้กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ตรวจยึดรถยนต์เมอร์เซเดส เบนซ์ EQS450+ สีดำ ทะเบียน ษษ 8668 กรุงเทพมหานคร บริเวณสำนักงานกฎหมายเนตพล (ม.รัตนาธิเบศร์) เลขที่ 8/11 หมู่ 11 ต.บางรักพัฒนา อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 22 พ.ย. ผู้ต้องหาทั้ง 2 ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ระหว่างนี้ชุดจับกุมกำลังนำตัวพร้อมของกลางไปที่ บช.น. เพื่อขยายผลต่อไป

ลูกเมียหมอบุญมอบตัว

ต่อมาเวลา 13.00 น. ที่กองบัญชาการตำรวจ นครบาล (บช.น.) นางจารุวรรณ วนาสิน อายุ 79 ปี อดีตภรรยาหมอบุญ ผู้ลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันในสัญญาต่างๆ พร้อมด้วย น.ส.นลิน วนาสิน อายุ 51 ปี บุตรสาวหมอบุญ ผู้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกันในสัญญาต่างๆ ทั้ง 2 คนเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับ ข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันให้กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พร้อมนายชำนาญ ชาดิษฐ์ ทนายความ เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ที่ห้องประชุม บก.น.1 ชั้น 3 อาคาร บช.น. นางจารุวรรณสวมเสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีชมพูอ่อน สวมแว่นตาดำ ถือกระเป๋าสีน้ำตาล มีผู้ติดตามพยุงมา ส่วน น.ส.นลิน สวมเสื้อยืดสีเขียว สวมหมวกแก๊ปสีน้ำเงิน ผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามข้อเท็จจริง แต่นางจารุวรรณ และ น.ส.นลิน ไม่ยอมตอบคำถามใดๆ

โต้ถูกปลอมลายเซ็น

ทนายชำนาญ ชาดิษฐ์ กล่าวว่า นางจารุวรรณ และ น.ส.นลิน ลูกความ บอกว่า ถูกปลอมแปลงลายเซ็น ไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นคนทำ ปลอมแล้วนำเอกสารพวกนี้ไปใช้กู้ยืมเงินตามปรากฏเป็นข่าว ยืนยันว่า ไม่ทราบว่าเป็นฝีมือใคร แต่มาทราบตอนมีหมายศาลฟ้องมาเป็นระยะ ตัวนางจารุวรรณตรวจสอบแล้ว ปรากฏว่า กรณีกู้ยืมเงินและค้ำประกันต่างๆเป็นลายเซ็น ปลอมทั้งหมด นางจารุวรรณไม่เคยกู้ยืมเงิน รวมถึง ไม่ได้เซ็นค้ำประกัน ต้องเรียนสื่อมวลชนว่า ช่วงที่มี การกู้ยืมเงินค้ำประกันตามที่ปรากฏเป็นข่าว ตัวนางจารุวรรณเองส่วนใหญ่เดินทางอยู่ต่างประเทศ ส่วนใหญ่ ในคำฟ้องจะเซ็นแบบสำเนาไม่ใช่ลายเซ็นจริง ต้นฉบับอยู่กับฝั่งผู้ให้กู้ ความต่างของลายเซ็นค่อนข้างเยอะ

แจ้งความ บก.ปอศ.ไว้แล้ว

“เรื่องการปลอมลายเซ็นไม่ใช่เพิ่งมาพูด แต่ต่อสู้คดีทางแพ่งเรื่องนี้มานานแล้ว รวมถึงแจ้งความไว้ที่ บก.ปอศ. ช่วงประมาณเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ในทางคดีแพ่งต่อสู้คดีว่า เป็นลายเซ็นปลอม และขอให้ศาลตรวจพิสูจน์ รวมถึงคดีอาญาศาลนัดพร้อมเพื่อให้นางจารุวรรณไปเซ็นเปรียบเทียบต้นฉบับที่อ้างว่ามีการค้ำประกันและเซ็นเช็ค โดยให้คู่ความส่งต้นฉบับและให้นางจารุวรรณเซ็นใหม่ พร้อมกับนำตัวสัญญาในช่วงที่อ้างว่า มีการเซ็นกู้หรือค้ำอยู่ระหว่างรอศาลนัด” ทนายชำนาญกล่าว

ทนายแฉปลอมกว่า 200 ฉบับ

ถามว่าอาจเป็นลายเซ็นหมอบุญหรือไม่ ทนายความตอบว่า อาจเป็นเช่นนั้น เพราะผู้กู้ที่มีชื่ออยู่ในสัญญาก็เป็นหมอบุญ รวมถึงนางจารุวรรณและหมอบุญจดทะเบียนหย่ากันไปแล้วโดยไม่ทราบว่าตั้งแต่ปีไหน ถามถึงสาเหตุว่า ทำไมถึงต้องปลอมแปลงลายเซ็นคนในครอบครัว ทนายชำนาญตอบว่า ไม่ทราบเหมือนกัน ส่วนในช่วงที่มีการปลอมแปลงลายเซ็นเป็นช่วงที่หย่าร้างกันไปแล้ว ส่วนกรณีนางจารุวรรณเดินทางไปต่างประเทศ เป็นช่วงระหว่างปี 61-67 มีการเดินทางอยู่ตลอด และเกิดอ้างว่ามีการกู้และค้ำจนถูกฟ้อง และตรวจสอบว่ามีสัญญาฉบับไหนบ้าง มองเห็นชัดเจนเลยว่า เป็นลายเซ็นปลอม ก่อนตรวจสอบเรื่องเวลาที่อ้างว่ามีการเซ็น และทั้ง 200 กว่าฉบับถูกปลอมทั้งหมด

เอาผิดหมอบุญปลอมลายเซ็น

ทนายชำนาญกล่าวอีกว่า นางจารุวรรณจะเอาผิดทั้งหมอบุญและทุกคนที่เกี่ยวข้อง ส่วนเรื่องการประกันตัวต้องอยู่ที่พนักงานสอบสวนจะอนุญาตหรือไม่

สอบมาราธอนยังไม่เสร็จ

ต่อมาเวลา 19.30 น. ที่ บช.น. พนักงานสอบสวน สน.ห้วยขวาง เจ้าของคดียังอยู่ระหว่างแยกสอบสวนนางจารุวรรณ วนาสิน อายุ 79 ปีอดีตภรรยา และ น.ส.นลิน วนาสิน อายุ 51 ปี ลูกสาวหมอบุญ ที่เข้ามอบตัวตั้งแต่ช่วงบ่าย เพิ่งเสร็จสิ้น แต่ในชั้นพนักงานสอบสวนไม่อนุญาตให้ประกันตัว นำผู้ต้องหาทั้ง 2 คนไปฝากคุมขังชั่วคราวที่ห้องควบคุม สน.พญาไท เพื่อส่งฝากขังศาลอาญาต่อไปวันพรุ่งนี้

เหยื่ออีก 12 คนแจ้ง ปอศ.

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ว่า เมื่อวันที่ 22 พ.ย. พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. สั่งการให้ พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบช.ปอศ. พร้อมด้วยพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปอศ. ส่งสำนวนการสอบสวนคดีการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ นพ.บุญ วนาสิน อายุ 86 ปี ผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลธนบุรี กับพวกในคดีเกี่ยวกับการหลอกลวงชักชวนให้ลงทุน ให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ กระทรวงยุติธรรม ส่งมอบสำนวนดังกล่าวไปเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 22 พ.ย. หลังพบว่ามีมูลค่าทรัพย์สินความเสียหายเข้าข่ายเป็นคดีพิเศษ

ให้ผลประโยชน์ 8.5 เปอร์เซ็นต์

คดีนี้เป็นการดำเนินคดีกลุ่มผู้ต้องหาเป็นคดีที่สองหลังจากเมื่อวันที่ 22 พ.ย. กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ออกหมายจับ นพ.บุญกับพวกไปแล้ว คดีในส่วนของ บก.ปอศ.สืบเนื่องจาก วันที่ 1 พ.ย.ผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์พนักงานสอบสวน กก 4 บก.ปอศ.ให้ดำเนินคดี นพ.บุญ กับพวก หลังจากเมื่อต้นปี 2565 นพ.บุญทำสัญญากู้ยืมเงินเพื่อให้ตัวแทนนำไปติดต่อกับผู้เสียหายจำนวนหลายรายจนหลงเชื่อตามคำชักชวน เนื่องจากเห็นว่าการลงทุนดังกล่าวจะได้ดอกเบี้ยจาก นพ.บุญ ร้อยละ 8.5 ต่อปี รวมทั้งจะได้หุ้น THG เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ด้วย

ความเสียหาย 1,970 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังรวมถึงโครงการต่างๆ ที่จะนำเงินไปลงทุน เพื่อให้ได้ผลกำไรมาจ่ายผลตอบแทน เช่น โครงการ จินเวลล์ บีอิ้ง โครงการคอนโดที่พระราม 3 ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โรงงานถุงมือยาง ตึกสหไทย รพ.ธนบุรีบำรุงเมือง การลงทุนดังกล่าวมีหลักทรัพย์เป็นหุ้น THG ค้ำประกันเงินกู้ยืม หลังจากเข้าร่วมลงทุนทำให้ทราบว่า นพ.บุญปกปิดข้อเท็จจริงอันมีลักษณะเป็นการฉ้อโกง ผู้เสียหายมาแจ้งความร้องทุกข์ที่ กก.4 บก.ปอศ. มีผู้เสียหายมาร้องทุกข์จำนวน 12 ราย รวมมูลค่าความเสียหายเป็นจำนวนเงินประมาณ 1,970 ล้านบาท

ส่งสำนวนให้ดีเอสไอ

ต่อมา บช.ก.ดำเนินการสอบปากคำผู้เสียหาย รวมทั้งพยานและตรวจสอบเอกสาร พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีดังกล่าวมีผู้เสียหายมาร้องทุกข์จำนวนหลายรายมูลค่าความเสียหายเกือบ 2,000 ล้านบาท เข้าหลักเกณฑ์ตามประกาศ กคพ. (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2565 เรื่องกำหนดรายละเอียดลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษตามมาตรา 23 วรรคหนึ่ง 1 แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ 2547 ข้อ 1 คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนที่มีหรือมีมูลน่าเชื่อว่ามีจำนวนผู้เสียหายตั้งแต่สามร้อยคนขึ้นไป หรือมีจำนวนเงินที่กู้ยืมรวมกันตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไปเข้าหลักเกณฑ์ที่อยู่ในบังคับที่ต้องสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ และเป็นไปตามข้อกฎหมายรวมทั้งระเบียบที่เกี่ยวข้อง ส่งสำนวนไปตามขั้นตอนของกฎหมาย

คิงส์ฟอร์ดฯ แถลงไม่เกี่ยวข้อง

ตามที่มีข่าวเกี่ยวกับพนักงานบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) คิงส์ฟอร์ด เข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกรรมการกู้ยืมเงินของ นพ.บุญ วนาสิน นั้น บริษัทขอเรียนชี้แจงว่า บริษัทดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้วและสั่งให้พนักงานบริษัทยุติการปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวจนกว่า ข้อเท็จจริงต่างๆในประเด็นนี้จะปรากฏและดำเนินการ ชี้แจงต่อไป สำหรับประเด็นเรื่องการกู้ยืมเงินของ นพ.บุญ วนาสิน ผ่านโครงการลงทุนทางการแพทย์ต่างๆ 5 โครงการ ช่วงต้นปี 2566 เป็นต้นมาตามที่ปรากฏเป็นข่าว บล.คิงส์ฟอร์ดขอเรียนชี้แจงว่า ไม่เคยเกี่ยวข้อง รวมถึงไม่เคยทำสัญญาใดๆ หรือการเป็นที่ปรึกษาโครงการ รวมถึงไม่เคยให้พนักงานบริษัทไปแนะนำหรือชักชวนนักลงทุนมาร่วมลงทุนโครงการดังกล่าว