ปัญหา “สุขภาพจิต” ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในสังคมไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สะท้อนข้อมูลภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง (2567) จาก “กรมสุขภาพจิต” ระบุว่า มีผู้ป่วยจิตเวชเข้ารับบริการเพิ่มขึ้น
…จาก 1.3 ล้านคน ในปี 2558 เป็น 2.9 ล้านคน ในปี 2566
หากพิจารณาในรายละเอียดจะพบประเด็นที่มีความน่ากังวล ดังนี้ หนึ่ง…แม้ว่าประเทศไทยจะมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา 2.9 ล้านคน แต่ผู้มีปัญหาอาจมากถึง 10 ล้านคน ทำให้สัดส่วนผู้มีปัญหาสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับโลก และสะท้อนให้เห็นว่ายังมีผู้ที่ไม่ได้เข้ารับการรักษาเป็นจำนวนมาก
สอง…ผู้มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตมีสัดส่วนสูงเช่นกัน ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2566–22 เมษายน 2567 พบผู้มีความเครียดสูงถึงร้อยละ 15.48 เสี่ยงซึมเศร้าร้อยละ 17.20 และเสี่ยงฆ่าตัวตายร้อยละ 10.63 ซึ่งแย่ลงกว่าในช่วงปีที่ผ่านมา
สาม…ปัญหาสุขภาพจิตไม่เพียงกระทบต่อตนเอง แต่ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจมากกว่าที่คาดคิด องค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลของประชากรทั่วโลก ทำให้วันทำงานหายไปประมาณ 12 พันล้านวัน สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สี่…เกือบ 1 ใน 5 ของผู้มีปัญหาสุขภาพจิตไม่สามารถดูแลตนเองได้ ทำให้ครัวเรือนต้องจัดหาผู้ดูแลและเป็นการสูญเสียทรัพยากรบุคคลเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมี “ผู้ป่วยจิตเวช” ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) ไม่ถึง 1 ใน 4 ที่ได้รับการติดตามดูแลและเฝ้าระวังตามแนวทางที่กำหนด
ห้า…สภาพทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีความกดดันส่งผลให้คนไทยเป็นโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลมากขึ้น ในปีงบ ประมาณ พ.ศ. 2566 พบสัดส่วนผู้ป่วยกลุ่มโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้าสูงเป็น 2 อันดับแรก…สูงกว่าผู้ป่วยติดยาบ้า และยาเสพติดอื่นๆรวมกัน
หก…การฆ่าตัวตายสูงใกล้เคียงกับช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ในปี งบประมาณ พ.ศ.2566 พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 7.94 ต่อประชากรแสนคน ใกล้เคียงช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง (8.59 ต่อประชากรแสนคน)
เจ็ด…ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตภายใน จากการศึกษาในประเทศอังกฤษ พบว่า มลพิษทางอากาศส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้าในเยาวชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.0 ซึ่งไทยต้องเฝ้าระวังเนื่องจากกำลังประสบปัญหา “ฝุ่น PM2.5” สูงเป็นอันดับต้นๆของโลก
ถึงตรงนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “ความเครียด” ของคนไทยยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อ “สุขภาพจิต” และ “สุขภาพกาย” โดยมีปัจจัยหลายประการที่ทำให้ระดับความเครียดของคนไทยเพิ่มสูงขึ้น ทั้งในด้าน…เศรษฐกิจ สังคม การเมือง เทคโนโลยี
น่าสนใจว่า…ปัจจัยที่ส่งผลต่อความเครียดของคนไทย อันดับต้นๆมีผลมาจาก…เศรษฐกิจและปัญหาค่าครองชีพ…“ภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นทำให้คนไทยรู้สึกเครียดจากการต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าที่อยู่อาศัย ค่าอาหาร ค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายพื้นฐานในชีวิตประจำวัน”
นับรวมไปถึง “หนี้ครัวเรือน” ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง กดดันให้หลายคนต้องทำงานหนักขึ้น หรือหันไปทำงานเสริม ส่งผลให้มีเวลาพักผ่อนน้อยลงและเกิดความเครียดสะสม
ถัดมา…การแข่งขันในตลาดแรงงานและการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและการเพิ่มขึ้นของงานในรูปแบบใหม่ๆ ทำให้หลายคนต้องปรับตัวกับทักษะและเทคโนโลยีใหม่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดความกดดันในที่ทำงาน
“คนรุ่นใหม่ที่กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงานต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงและข้อกำหนดทักษะที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคง…ความเครียดเกี่ยวกับอนาคตของตนเอง”
ปัจจัยที่สาม…ปัญหาสุขภาพและคุณภาพชีวิต
ต้องยอมรับความจริงที่ว่า…การที่คนไทยต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่น PM2.5 มลพิษทางอากาศโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ทำให้สุขภาพกายได้รับผลกระทบ เป็นปัจจัยสร้างความวิตกกังวลเรื่องสุขภาพในระยะยาว
อีกทั้งปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวล ที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นจากความเครียดสะสมในชีวิตประจำวัน และการขาดการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตที่เพียงพอจากภาครัฐ
ปัจจัยที่สี่…การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมือง ความไม่แน่นอนทางการเมืองในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้คนไทยหลายคนเกิดความไม่มั่นคงในอนาคตของประเทศ นำมาสู่ความรู้สึกเครียด…วิตกกังวล
“ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างรวดเร็ว รวมถึงประเด็นเรื่องการเมืองและวัฒนธรรมที่มีการพูดถึงมากขึ้นในสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้หลายคนต้องรับข้อมูลจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดความเครียดและอาจเกิดการขัดแย้งทางความคิดกับผู้คนรอบข้าง”
สุดท้าย…สื่อสังคมออนไลน์และการรับข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง ข้อนี้สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ด้วยว่า…การรับข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์อย่างต่อเนื่องทำให้เกิด “ภาวะอิ่มตัว” หรือความเครียดจากการต้องรับข้อมูลตลอดเวลา ทั้งข่าวสารที่กระตุ้นความวิตกกังวล หรือข่าวร้ายที่ส่งผลต่ออารมณ์…จิตใจ
“การเปรียบเทียบชีวิตกับคนอื่นในสื่อออนไลน์ ส่งผลให้เกิดความกดดันและความรู้สึกไม่พึงพอใจในตนเอง”
“ความเครียด” สะสมส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพจิต เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องได้รับการดูแล หมั่นตรวจเช็กสุขภาพใจ… ประเมินสุขภาพจิต และต้องสร้างความตระหนักรู้ หาทางแก้ไขอย่างรอบด้าน “คนไทย”…ต้องสามารถจัดการความเครียดได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ