มมร หรือมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย คนส่วนใหญ่คงรู้จักว่าเป็นหนึ่งในสถาบันอุดมศึกษา แต่หลายคนยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า มมร เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่เปิดสอนเฉพาะพระภิกษุและสามเณรเท่านั้น
ย้อนกลับไปนับตั้งแต่มีการก่อตั้ง มมร ถือเป็น สถาบันอุดมศึกษาที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น เฉพาะตัว เป็นศูนย์กลางแห่งการศึกษาพระพุทธศาสนาและการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม ควบคู่ไปกับความรู้ทางวิชาการ โดยผสมผสานหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเข้ากับการเรียนการสอน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2436 ให้ตั้งขึ้นตามพระดำริแห่ง สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมชั้นสูงของพระภิกษุสามเณร ต่อมาในปี พ.ศ.2488 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงโปรดให้จัดการศึกษาในรูปแบบมหา วิทยาลัยพระพุทธศาสนาเรียกชื่อว่า “สภาการศึกษามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย”
ต่อมาในปี พ.ศ.2540 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งเป็น มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นเรียกว่า พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ.2540 เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ จัดการศึกษาที่กว้างกว่าเดิม คือ ให้การศึกษา วิจัย ส่งเสริมและให้บริการทางวิชาการพระพุทธศาสนาแก่พระภิกษุสามเณร และคฤหัสถ์ ผลิตบัณฑิตให้มีความเป็นเลิศทางวิชาการตามแนวพระพุทธศาสนา ชี้นำและแก้ไขปัญหาสังคมด้วยหลักพุทธธรรมทั้งในระดับชาติและนานาชาติ
“ปัจจุบัน มมร ได้ขยายการศึกษาไปสู่ภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ มีอยู่ 7 วิทยาเขต 3 วิทยาลัย เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาเล่าเรียนในสาขาวิชาต่างๆ โดยมี 5 คณะวิชา ได้แก่ คณะศาสนาและปรัชญา, คณะมนุษยศาสตร์, คณะสังคมศาสตร์, คณะศึกษาศาสตร์ และบัณฑิตวิทยาลัย” พระครูปลัดสุวัฒนสัจจคุณ, ดร. รองอธิการบดี ด้านสื่อสารองค์กรและบริการวิชาการ มมร ได้เล่าถึงบทบาทหน้าที่เพื่อให้สังคมได้เห็นภาพการจัดการศึกษาอุดมศึกษาของ มมร ในปัจจุบันที่มีทั้งบรรพชิต –คฤหัสถ์ ซึ่งถึงปัจจุบันมีบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาไปแล้วรวมกว่า 100,000 รูป/คน
ทุกวันนี้ มมร เปิดสอนทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก แต่ละหลักสูตรได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ และเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรอุดมศึกษาโดยเน้นพัฒนาการเรียนรู้ในสาขาวิชาที่เรียนและเรียนรู้ภาษาอังกฤษให้สามารถใช้ในการติดต่อประสานงานและใช้ในการทำงานได้ พร้อมทั้งให้รู้จักประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศให้เกิดประโยชน์ ในการศึกษาเล่าเรียน
พระครูปลัดสุวัฒนสัจจคุณ กล่าวด้วยว่า จุดเด่นของ มมร เน้นการพัฒนาปัญญาและ คุณธรรม สอดคล้องกับคติประจำมหาวิทยาลัยที่ว่า “วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโฐเทวมานุเส” หรือ “ผู้สมบูรณ์ด้วยความรู้และความประพฤติ เป็นผู้ประเสริฐในหมู่เทพและมนุษย์” เปิดโอกาสให้ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ศึกษาได้เข้ามาเรียน หลักสูตรที่ผสมผสานคุณธรรมและความรู้ทางวิชาชีพ กิจกรรมเสริมสร้างสุขภาวะและการพัฒนาจิตใจ ส่งเสริมสภาพสิ่งแวดล้อมทางการศึกษาที่สงบร่มเย็น ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์และความสำคัญในพระพุทธศาสนา ปัจจุบันมี พระธรรมวชิรจินดาภรณ์, รศ.ดร. เป็นอธิการบดี
รองอธิการบดี ด้านสื่อสารองค์กรและบริการวิชาการ มมร กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตามเพื่อให้สังคมมีความเข้าใจ มมร มากยิ่งขึ้น มหาวิทยาลัยจึงเตรียมจัดงานเปิดบ้าน มมร ขึ้นเป็นครั้งแรก ภายใต้ชื่อ “MBU Open House 2567” ในวันอังคารที่ 3 ธ.ค.2567 ที่ มมร ศาลายา จังหวัดนครปฐม ภายในงานมีการเสวนาพิเศษ เรื่อง “พัฒนาปัญญา นำพาสู่อนาคต” เพื่อต้อนรับนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ และผู้ปกครอง สู่โลกแห่งการศึกษา ปัญญาและคุณธรรม ภายใต้แนวคิด “Wisdom of the Future : พัฒนาปัญญา นำพาสู่อนาคต” นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมพิเศษหลากหลาย พร้อมโอกาสพิเศษในการสมัครเรียน และสิทธิประโยชน์ทางการศึกษาเฉพาะผู้สมัครภายในงานเท่านั้น รวมถึงแจกของที่ระลึกสำหรับผู้ร่วมงาน ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง เว็บไซต์ : www.mbu.ac.th
ทีมการศึกษา มองว่า มมร น่าจะเป็นอีกหนึ่งสถาบันอุดมศึกษา ที่เป็นทางเลือกซึ่งน่าสนใจในยุคปัจจุบันที่ตอบโจทย์สังคมด้วยการบ่มเพาะบัณฑิต เพื่อเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ถึงพร้อมทั้งทางโลกและทางธรรม.
ทีมการศึกษา
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ