ปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บ. ส่งท้ายปี 4 จังหวัด 1 อำเภอ นักวิชาการมอง เป็นการปรับตามนโยบายการเมือง ตั้งข้อสังเกตฉะเชิงเทรา ค่าแรงก้าวกระโดด เจ้าของกิจการขนาดเล็กอาจย้ายฐานการผลิต ชี้ปีหน้าเศรษฐกิจชะลอตัว การปรับค่าแรงขั้นต่ำไม่ใช่ทางออก

1 ม.ค.2568 บอร์ดค่าจ้าง มีมติเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทุกจังหวัด 17 กลุ่ม ในอัตรา 7-55 บาท โดยมี 4 จังหวัด 1 อำเภอ ปรับขึ้นสูงสุด 400 บาท เฉลี่ยร้อยละ 2.9 ประกอบด้วย ภูเก็ต ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และพื้นที่ อ.เกาะสมุย ได้เพิ่มสูงสุด 55 บาท ส่วน อ.เมืองเชียงใหม่ และหาดใหญ่ 380 บาท ขณะที่ กทม.และปริมณฑล ปรับขึ้นเป็น 372 บาท

การปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ส่งท้ายปี 4 จังหวัด 1 อำเภอ “รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ” คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ศึกษาด้านแรงงาน มองว่า การขึ้นค่าแรงรอบนี้ไม่ผิดคาดอย่างที่คาดไว้ ซึ่งเป็นไปตามกระแสของการเมือง ทั้งที่จริงการจ้างงานในพื้นที่ดังกล่าว มีการจ้างค่าแรงในหลายธุรกิจที่เกินค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท อยู่เดิมแล้ว

การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในพื้นที่ 4 จังหวัด 1 อำเภอ จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการหนักมาก เนื่องจากมีการจ้างงานค่าแรงขั้นต่ำสูงอยู่แล้ว แต่การปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ไม่ได้ทั่วประเทศ ก็สะท้อนถึงการหาเสียงของนักการเมือง ที่ต้องการทำเพื่อหาเสียง ทั้งที่จริงแล้วไม่ได้ทั่วถึงอย่างที่เคยให้สัญญาไว้

น่าสนใจว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบนี้ จ.ฉะเชิงเทรา มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดด ถ้าเทียบกับ จ.สมุทรปราการ ที่มีพื้นที่อยู่ชายเมือง ค่าแรงขั้นต่ำของ จ.ฉะเชิงเทรา กลับได้ค่าแรงขั้นต่ำมากกว่า จึงเป็นข้อสงสัยต่อบอร์ดที่พิจารณาการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ทั้งที่จริง 2 จังหวัดนี้ค่าแรงขั้นต่ำไม่ควรห่างกันมากอย่างที่เป็นอยู่

“การปรับค่าแรงขั้นต่ำในรอบนี้ อาจมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อยที่อยู่ในจังหวัดดังกล่าว เช่น ผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่ฉะเชิงเทรา ที่อัตราค่าจ้างพุ่งสูงขึ้นมาก อาจต้องย้ายฐานการผลิตไปพื้นที่อื่น หรือปรับมาตรการในการจ้างงาน เพื่อไม่ให้ตัวเองต้องแบกต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้นอย่างที่เป็นอยู่”

ปีหน้า การเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวกว่าปีนี้ การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ย่อมส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน และมีแนวโน้มว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำที่สูงขึ้น ไม่ใช่การแก้ปัญหาให้กับแรงงานอย่างตรงจุด สุดท้ายภาระจะตกอยู่ที่แรงงานและนายจ้าง

สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ การลงไปแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้าง เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวมให้ดีขึ้น ถึงจะสามารถปรับค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศได้ 400 บาท อย่างทั่วถึงอย่างที่ได้สัญญาเอาไว้

เกณฑ์ปรับค่าแรงขั้นต่ำใหม่

การปรับค่าแรงขั้นต่ำ ล่าสุดส่งท้ายปี 2567 บอร์ดพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำใน 17 กลุ่มจังหวัด โดยมี 4 จังหวัด 1 อำเภอ ปรับขึ้นค่าจ้างสูงสุด 400 บาท คือ ภูเก็ต ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี

และปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 380 บาท ในเขตพื้นที่ อ.เมืองเชียงใหม่ อ.หาดใหญ่ ส่วนกรุงเทพฯ ปริมณฑล 6 จังหวัด ปรับขึ้นเป็น 372 บาท โดยกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอีก 67 จังหวัด ให้ปรับค่าจ้างขึ้นร้อยละ 2.0 โดยเสนอเข้า คณะรัฐมนตรีให้ทันในวันที่ 24 ธ.ค. เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2568

สำหรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2568 จำนวน 17 อัตรา ประกอบด้วย 400 บาท 4 จังหวัด 1 อำเภอ คือ ภูเก็ต ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี

ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 380 บาท ได้แก่ อ.เมืองเชียงใหม่ อ.หาดใหญ่

ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 372 บาท ได้แก่ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร

ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 359 บาท ได้แก่ นครราชสีมา

ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 358 บาท ได้แก่ สมุทรสงคราม

ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 357 บาท ได้แก่ ขอนแก่น เชียงใหม่ (ยกเว้นอำเภอเมืองเชียงใหม่) ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี

ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 356 บาท ได้แก่ ลพบุรี

ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 355 บาท ได้แก่ นครนายก สุพรรณบุรี หนองคาย

ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 354 บาท ได้แก่ กระบี่ ตราด

ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 352 บาท ได้แก่ กาญจนบุรี จันทบุรี เชียงราย ตาก นครพนม บุรีรัมย์ประจวบคีรีขันธ์ พังงา พิษณุโลก มุกดาหาร สกลนคร สงขลา (ยกเว้นอำเภอหาดใหญ่) สระแก้ว สุราษฎร์ธานี (ยกเว้นอำเภอเกาะสมุย) อุบลราชธานี

ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 351 บาท ได้แก่ ชุมพร เพชรบุรี สุรินทร์

ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 350 บาท ได้แก่ นครสวรรค์ ยโสธร ลำพูน

ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 349 บาท ได้แก่ กาฬสินธุ์ นครศรีธรรมราช บึงกาฬ เพชรบูรณ์ ร้อยเอ็ด

ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 348 บาท ได้แก่ ชัยนาท ชัยภูมิ พัทลุง สิงห์บุรี อ่างทอง

ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 347 บาท ได้แก่ กำแพงเพชร พิจิตร มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ระนอง ราชบุรี ลำปาง เลย ศรีสะเกษ สตูล สุโขทัยหนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุตรดิตถ์ อุทัยธานี

ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 345 บาท ได้แก่ ตรัง น่าน พะเยา แพร่

ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 337 บาท ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา.

.