ปปง.แจงยิบ ยึดอายัดทรัพย์ดิ ไอคอน กรุ๊ป แล้ว มูลค่าประมาณ 320 ล้านบาท แต่จะพอกับความเสียหายหรือไม่ต้องมาดูกันอีกทีส่วนกรณีบอสพอลเอาเงินไปทำบุญต้องดูว่าทางผู้รับเงิน รู้หรือไม่ว่าเงินดังกล่าวได้มาจากการกระทำความผิด ถ้าไม่รู้ก็จบ ด้าน รรท.อธิบดีดีเอสไอ เผยเร่งดำเนินการ ทางเอกสารเพื่อเข้าไปแจ้งข้อหาแชร์ลูกโซ่และ พ.ร.บ.ขายตรงกับ 18 บอส เพราะสำนวนการสอบสวนมีถึง 2 แสนแผ่น ส่วนประเด็นทนายบอสพอลขู่ดำเนินคดี ม.157 ถ้าไม่สอบพยานทั้งหมดกว่า 2 พันคนของฝ่ายผู้ต้องหา ยันเป็นอำนาจและดุลพินิจของพนักงานสอบสวน

การสืบสวนคลี่คลายบริษัท ดิ ไอคอน กรุ๊ป จำกัด ดำเนินธุรกิจขายตรงเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ กล่าวหาหลอก ให้ลงทุนและหาลูกข่ายมาเป็นสมาชิก สร้างความน่าเชื่อถือด้วยการนำดารานักแสดงชื่อดังมาร่วมโปรโมต หลังกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) เดินเครื่องสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน ขออำนาจศาลอาญาออกหมายจับผู้ต้องหา 18 คน ตั้งแต่นายวรัตน์พล หรือบอสพอล วรัทย์วรกุล เจ้าของบริษัท ดิ ไอคอน กรุ๊ป จำกัด นายยุรนันท์ หรือบอสแซม ภมรมนตรี น.ส.พีชญา หรือบอสมิน วัฒนามนตรี และนายกันต์ หรือบอสกัน กันตถาวร รวมถึงแม่ข่าย และผู้เกี่ยวข้องคุมตัวฝากขังเข้าเรือนจำไปแล้วทั้ง 18 คน ต่อมาโอนสำนวนให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินการพิจารณาแจ้งข้อหากู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน หรือแชร์ลูกโซ่ ตามที่เสนอ ข่าวไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 7 พ.ย. พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รรท.อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายวิทยา นีติธรรม ผอ.กองกฎหมาย ฐานะโฆษก สำนักงาน ปปง. เผยความคืบหน้าคดีพิเศษ ที่ 119/2567 กรณีการดำเนินคดีอาญาบริษัท ดิ ไอคอนกรุ๊ป จำกัด กับพวก นายวิทยา นีติธรรมกล่าวว่า ความคืบหน้าการออกคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินในส่วนของ ปปง. ดำเนินการยึดและอายัดทรัพย์สินผู้ต้องหาและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไปแล้วรวม 320 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นพวกบัญชีเงินฝากที่เก็บเงินจากการซื้อขายหลักทรัพย์ เป็นการยึดและอายัดทรัพย์โดยอำนาจของเลขาธิการ ปปง. ที่เชื่อว่ามีเหตุในการจะถูก ยักย้าย ถ่ายเท อาทิ การจะทำธุรกรรมถอนเงิน แต่ถ้า การยึดและอายัดทรัพย์ตามปกติ จำเป็นต้องรอสำนวน การสอบสวนทางคดีอาญาก่อน คาดว่าในสัปดาห์หน้า จะมีความชัดเจนเป็นลำดับ

“ขณะนี้ ปปง.อยู่ระหว่างประสานงานกับดีเอสไอ เพราะการทำงานของ ปปง.ต้องคู่ขนานไปกับ สำนวนคดีอาญาของพนักงานสอบสวน เพื่อเกิดความ รอบคอบและนำไปต่อยอด โดยเฉพาะเครือข่ายผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์ ปปง.ต้องดูจากสำนวนเป็นหลักด้วย เนื่องจากใช้เป็นฐานดำเนินการตามกฎหมาย ของ ปปง. สำหรับบุคคลที่นอกเหนือจากผู้ต้องหา 18 คน หากมีเส้นทางการเงินเชื่อมโยงไปถึงตามกฎหมายฟอกเงิน เราสามารถตามยึดตัวทรัพย์สิน หากเป็นทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิด แม้ว่า คนที่รับโอนหรือครอบครองไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด ในคดี เราก็ตามไปอายัดได้ เพียงแต่ว่าการรับโอน ของเขามันสุจริตหรือไม่ หากสุจริตมีการเสียค่าตอบแทน อาจได้รับการคุ้มครอง แต่ถ้าเขารู้ว่ามันคือ ทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิด ต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย ปปง.” โฆษก ปปง.กล่าว

นายวิทยากล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา ปปง.เฝ้าระวัง การยักย้าย ถ่ายเท แปลงสภาพทรัพย์สินในคดี ดิ ไอคอน มาตั้งแต่แรก หากมีเหตุน่าเชื่อ เลขาธิการ ปปง.จะใช้อำนาจยึดและอายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราว สำหรับประเด็นพบกระแสเงินในคดี ดิ ไอคอน ไหลออกนอก ราชอาณาจักรบ้างหรือไม่ หรือถูกเปลี่ยนให้อยู่ในสกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซีหรือไม่ ขอเรียนว่ายังไม่มี ข้อยุติในส่วนนี้ เพราะเรื่องมันเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 61-63 แต่ตอนนี้ปี 67 การทำธุรกรรมทางการเงินถือเป็นเรื่องปกติ แต่การที่ ปปง.จะใช้อำนาจ ต้องมีพื้นฐานในคดีอาญาชัดเจนด้วย และกระบวนการตรวจสอบผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์ยิ่งต้องใช้หลักฐานเยอะ เพราะบางครั้งบุคคลเหล่านี้ไม่ได้มาร่วมกระทำความผิด แต่เราต้องมีความชัดเจนว่า ทรัพย์สินดังกล่าวมันตั้งต้น มาจากเรื่องนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ปปง.จะตามยึดและอายัดทรัพย์สินได้เทียบเท่ากับมูลค่าความเสียหายหรือไม่ เพราะ ปปง.ยึดไปแล้ว 320 ล้านบาท แต่มวลรวม ความเสียหายในปัจจุบันมีกว่าพันล้านบาท นายวิทยา กล่าวว่า ทรัพย์สินในคดีที่มีการยึดและอายัด นอกจาก ปปง.แล้ว ยังมีตำรวจและดีเอสไอยึดอสังหาริมทรัพย์ไว้ ท้ายสุดต้องถูกส่งมาที่ ปปง. ย้ำว่าพยายามทำเรื่องนี้ ให้ดีที่สุด ไม่อยากบอกว่าจะได้ครบหรือไม่ เพราะเวลามันทิ้งช่วงมาหลายปี ทรัพย์ถูกจำหน่าย จ่าย โอน และมันยากในเรื่องการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของ ปปง. เนื่องจากบางรายจ่ายเงิน 250,000 บาท ได้สินค้าไปเท่าไร หรือขายจริงแล้ว ได้เงิน หรือนำไปบริจาค หรือนำไปให้สุนัขกิน จะคิด ค่าเสียหายกันอย่างไร พยายามเคลียร์เรื่องทรัพย์สินให้นิ่งก่อน แล้วขยับมาเรื่องคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย

“การประกาศคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายต้องเกิดขึ้นหลังจากดีเอสไอสรุปสำนวนสั่งฟ้องต่ออัยการเท่านั้น เพราะกฎหมาย ปปง.คือยึดทรัพย์ก่อนแล้วนำมาคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย ดังนั้นการคุ้มครองสิทธิฯต้องอาศัยหลักฐานในคดีอาญาของพนักงานสอบสวนว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นปีไหน แล้วใครมาเกี่ยวข้องสัมพันธ์ อยู่ในข่ายที่ ปปง.ต้องเข้าไปดู สรุปคือการทำเรื่องทรัพย์สินของ ปปง.ต้องชัดเจน ไม่ใช่ไปฟอกขาวให้เขา แต่เราต้องให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่ายด้วย ส่วนเรื่องเงินทำบุญ หรือเส้นทางเงินที่อ้างว่าเป็นเงินโอนสำหรับทำบุญ กรณีเงินทำบุญวัดที่รับทำบุญสามารถต่อสู้เรื่องของความสุจริตตามธรรมจรรยา กล่าวคือ ตอนที่วัดรับโอนเงิน วัดรู้หรือไม่ว่าเงินนั้นเป็นเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิด ถ้าไม่รู้คือจบ และตามศีลธรรมจรรยาปกติแล้ววัดรับบริจาคลักษณะแบบนี้ใช่หรือไม่ ทั้งหลักสิบบาท หลักร้อยบาท หลักร้อยล้านบาท เคยรับไหม ต้องดูประกอบหลายๆอย่าง” โฆษก ปปง.กล่าว

นายวิทยากล่าวด้วยว่า ส่วนถ้าเงินโอนเข้าแล้วอ้างว่าเป็นเงินทำบุญ แต่เงินกลับถูกโอนออกไปอีกบัญชี ทันที อันนี้ต้องไปดูข้อเท็จจริง แล้วแต่องค์ประกอบ ต้องดูความสุจริตว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาก่อนหรือไม่ รวมทั้งใบอนุโมทนาบุญต้องดูประกอบเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เราต้องดูลึกมากกว่านั้นเพื่อพิสูจน์ความสุจริตของเขา ส่วนกรณีที่ดินของนายกันต์ กันตถาวร เป็นที่ดินที่อยู่ติดกับวัดคีรีเขต ทอดยาวไปถึงลำน้ำแม่ท่าช้าง ต.บ้านปง อ.หางดง มีทั้งหมด 7 ไร่ 70 ตร.ว.อยู่ระหว่างการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ ดังนั้นเรื่องที่ดินเราไม่ค่อยห่วง แต่เพื่อความรอบคอบต้องมีชัดเจนเพียงพอว่า มันเป็นทรัพย์ที่เขาได้มาครอบครองในช่วงเวลาใด เพื่อให้ความเป็นธรรมกับเขาด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า สังคมสนใจห้วงปี 62-64 ที่ธุรกิจดิ ไอคอนได้รับความนิยม เป็นไปได้หรือไม่ว่ารายการทรัพย์สินต่างๆที่เหล่า 18 บอสได้มาครอบครอง จะได้มาด้วยเงินที่มาจากการทำธุรกิจดิไอคอนฯ นายวิทยากล่าวว่า ปปง. มีความจำเป็นต้องรอดูสำนวนของพนักงานสอบสวนหรือคดีอาญาก่อนว่า พฤติการณ์การกระทำความผิดถูกขีดเส้นตั้งแต่ช่วงใด เพื่อให้เป็นขอบเขตในการดำเนินการตามกฎหมายฟอกเงิน ต้องขอเวลาให้เจ้าหน้าที่ทำงานสักระยะ สำหรับการประชุมของคณะกรรมการธุรกรรม มีประชุมทุกเดือน แต่เราไม่อยากไปกำหนดเวลาการทำงานของพนักงานสอบสวน เพราะพนักงานสอบสวนต้องรอบคอบ ถ้าทันสามารถเสนอได้ อีกทั้งแล้วแต่ข้อเท็จจริงด้วย แต่ยืนยันว่าจะทำให้เร็วเพราะมีผู้เสียหายจำนวนมากที่ยังรอความหวัง

ด้าน พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รรท.อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า ขณะนี้ดีเอสไออยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อเข้าไปแจ้ง 2 ข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับผู้ต้องหา ส่วนจะทันวันที่ 8 พ.ย.หรือไม่ อยู่ระหว่างตรวจเอกสารบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา หากพรุ่งนี้ทันจะดำเนินการเลย และต้องนัดพร้อมทนายความของผู้ต้องหาให้เรียบร้อยด้วย อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ตนยังไม่ได้รับการยืนยันจากพนักงานสอบสวน แต่ให้ความมั่นใจว่าเร็วๆ นี้

“ส่วนกรณีผู้ต้องหากลุ่มที่ 2 ผมต้องย้ำว่า ตอนนี้เราเร่งดำเนินการกับกลุ่มแรกก่อน เพราะมันมีระยะเวลาควบคุม เพราะในฐานความผิดแรกที่เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งไว้คือ ฉ้อโกงประชาชน และพ.ร.บ.คอมพ์ สามารถฝากขังได้ 48 วัน แต่เมื่อดีเอสไอแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมคือ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินฯ จะขยายเวลาควบคุมได้ถึง 84 วัน แต่หลักฐานเอกสารในสำนวนปัจจุบันนี้มีกว่า 200,000 แผ่น พนักงานสอบสวนต้องเรียบเรียงและรวบรวมเพื่อสรุปสำนวนคดีให้ทัน ทั้งนี้ ในกรณีผู้ต้องหากลุ่ม 2 ที่ดีเอสไอต้องขยายผลต่อนั้น มันจะยังอยู่ในระยะเวลา ย้ำว่าจะเร่งทำให้รวดเร็ว” รรท.อธิบดีดีเอสไอกล่าว

พ.ต.ต.ยุทธนากล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีทนายวิฑูรย์ เก่งงาน ทนายความของบอสพอลแจ้งว่า หากดีเอสไอไม่สอบปากคำพยานของบริษัทดิไอคอนฯให้ครบ 2,000 ปาก หรือพยายามจะตัดจำนวนพยานนั้น จะขอความเป็นธรรม และอาจถึงขั้นดำเนินคดีตามมาตรา 157 ต่อพนักงานสอบสวนนั้น ตนแจ้งให้ทางทนายความไปจัดทำบัญชีรายชื่อพยาน ระบุความเกี่ยวข้องและประเด็นที่ทั้ง 2,000 คนประสงค์ให้ข้อมูล ต้องมาดูว่าเป็นประเด็นเดียวกัน ซ้ำกันหรือไม่ ทุกอย่างเป็นอำนาจและดุลพินิจของพนักงานสอบสวน หากพนักงานสอบสวนได้รับฟังประเด็นและการชี้แจงข้อเท็จจริงต่างๆแล้ว ต้องให้พนักงานสอบสวนพิจารณา เท่าที่จำเป็น