แพทย์จุฬา ธรรมศาสตร์ สาธารณสุข จับมือครั้งสำคัญ ร่วมลงนามยกระดับดูแลสุขภาพจิตผ่านนวัตกรรมดิจิทัล Mindful Hub
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกระทรวงสาธารณสุข จัดงานแถลงข่าวลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการยกระดับการดูแลสุขภาพจิตผ่านการนำนวัตกรรมดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ Mindful Hub มาใช้เป็นแนวทางในการดูแลนิสิตนักศึกษาแพทย์
ภายในงานดังกล่าว ได้รับเกียรติอย่างสูงจาก รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.ดร.สุรัฐ ขวัญเมือง รองคณบดีฝ่ายบริหาร รักษาการแทนคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษาและนิติการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายแพทย์ศักดา อัลภาชน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้เดินทางมาร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในครั้งนี้ พร้อมกับร่วมรับฟังเสวนาเกี่ยวกับ “ปัญหาสุขภาพจิตกับแนวทางการดูแลนิสิตนักศึกษา”
รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า ในยุคดิจิทัลที่โลกหมุนเร็วขึ้น ความกดดันก็มากขึ้น นิสิตแพทย์คือกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงเป็นพิเศษ ดังนั้นการดูแลสุขภาพจิตจึงมิใช่เพียงเรื่องของการรักษา แต่เป็นเรื่องของการป้องกันและการสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จึงร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ในการพัฒนา Mindful Hub ขึ้นมา โดยผสานจุดแข็งของทั้งสององค์กรด้วยการนำความเชี่ยวชาญทางการแพทย์มาพัฒนาร่วมกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อสร้างช่องทางการเข้าถึงบริการด้านการดูแลสุขภาพจิตให้กับนิสิตนักศึกษารุ่นใหม่ จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า แม้ 1 ใน 3 ของนักศึกษาทั่วโลกจะประสบปัญหาสุขภาพจิต แต่มีเพียงร้อยละ 40 ที่กล้าเข้าถึงบริการ โดยอุปสรรคสำคัญคือความกลัวการถูกตีตราจากสังคม
ดังนั้นการลงนามความร่วมมือฯ ครั้งนี้ จึงเป็นการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันว่า “การดูแลสุขภาพจิตของนิสิตนักศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการใส่ใจอย่างจริงจัง” รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ กล่าว
ผศ.ดร.สุรัฐ ขวัญเมือง รองคณบดีฝ่ายบริหารรักษาการแทนคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวเสริมถึงการเข้าร่วมงานบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อยกระดับการดูแลสุขภาพจิตผ่านการนำนวัตกรรมดิจิทัล Mindful Hub ว่า เนื่องจากสุขภาพจิตกำลังเป็นประเด็นที่ทวีความสำคัญเป็นอย่างมากในสังคมที่เกิดขึ้นกับคนทุกช่วงวัย
ที่ผ่านมา ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์จึงได้ร่วมมือกับทางคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการจัดทำโครงการศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์เพื่อการแพทย์ด้านจิตเวช หรือ AIMET เพื่อใช้ในการสนับสนุนบริการทางการแพทย์ในด้านจิตเวช ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์
ขณะที่ Mindful Hub จะเป็นระบบช่วยดูแลให้นิสิต นักศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักศึกษาแพทย์ ได้เข้าถึงบริการและความช่วยเหลือต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตอย่างเป็นความลับ ปัจจุบัน Mindful Hub ได้เริ่มทดลองใช้กับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นรุ่นแรก และมีการขยายผลการใช้งานไปยังนักศึกษาแพทย์ของโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (สบพช.) ในกลางปี 2568 นี้
อาจารย์นายแพทย์อติคุณ ธนกิจ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ มีนโยบายดูแลสุขภาพจิตของนิสิตแพทย์ตลอดระยะเวลาการศึกษา เพื่อให้นิสิตได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม และสามารถผ่านการศึกษาในหลักสูตรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาจารย์ 1 คน ดูแลนิสิต 6 คน
ส่วนด้านสุขภาพจิต ภายใต้โครงการ “MDCU Let’s Talk” ฝ่ายกิจการนิสิตได้พัฒนาช่องทางสื่อสารออนไลน์ คือ Line OA ขึ้นมา เพื่อให้นิสิตสามารถเข้าถึงระบบการนัดหมายปรึกษากับนักจิตวิทยาได้อย่างสะดวกสบาย รวดเร็ว และปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของนิสิต พร้อมทั้งมีระบบและช่องทางการประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่างๆ ให้กับนิสิต
ผศ.บุรชัย อัศวทวีบุญ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ให้นักศึกษาทุกคนเข้าถึงช่องทางในการรับบริการ ผ่านการประเมินภาวะสุขภาพจิต อย่างน้อยคนละครั้งต่อภาคการศึกษา รวมถึงการขอรับบริการปรึกษาทางจิตใจ มีการนำระบบคัดกรองของ Dmind ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่นำมาผนวกเข้ากับระบบให้บริการสุขภาพจิตของมหาวิทยาลัย และได้พัฒนาระบบให้สามารถขอรับบริการผ่านแอปพลิเคชันของนักศึกษาที่ชื่อว่า TU greats ด้วยวิธีการนำแอปพลิเคชัน TU wellness ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. มาเชื่อมแบบ single sign-on และนำ Dmind เข้าไปเป็นระบบคัดกรองด้านสุขภาพจิต ร่วมกับระบบอื่น ๆ เช่น การจองคิวเพื่อขอรับบริการ และประชาสัมพันธ์กิจกรรมด้านสุขภาพจิตต่าง ๆ
ขณะที่ นายกิตติพศ แสงสาย ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันแพลตฟอร์ม Mindful Hub กล่าวถึงแนวคิดและความตั้งใจของการนำนวัตกรรมดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ Mindful Hub มาใช้เป็นแนวทางในการดูแลนิสิตนักศึกษาในครั้งนี้ ว่าอยากมีส่วนเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องสุขภาพจิตให้กับนักเรียนแพทย์ ซึ่งต้องเจอกับสภาพแรงกดดันจากงานที่เต็มไปด้วยความรับผิดชอบที่สูงมาก รวมถึงต้องเผชิญกับความคาดหวังทั้งจากคนไข้ อาจารย์ และคนรอบข้าง
ดังนั้นการที่ได้เข้ามาทำงานตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ผมเข้าใจถึงความต้องการของนักเรียนแพทย์ว่าเทคโนโลยีดิจิทัลแพลตฟอร์มอย่างนวัตกรรมดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ Mindful Hub สามารถช่วยให้บริการด้านสุขภาพจิตของน้อง ๆ นักเรียน นิสิต นักศึกษา เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น.
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ