ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ตนได้มีการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยตนได้ขอเสนอให้มีการทบทวนเกณฑ์การย้ายข้าราชการครู ตำแหน่งครูผู้สอน เนื่องจากพบว่า เกณฑ์การย้ายครูในปัจจุบันไม่ได้กำหนดสัดส่วนครูที่ขอย้ายกับเด็กใหม่หรือครูที่เพิ่งจบใหม่และผ่านการคัดเลือกสอบบรรจุขึ้นบัญชีไว้ ส่งผลให้หลายเขตพื้นที่รับย้ายเกือบ 100% และทำให้เด็กใหม่ที่สอบขึ้นบัญชีครูผู้ช่วยไว้ขาดโอกาสในการบรรจุ ซึ่งขณะนี้ตนได้ทำหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) แล้ว เพื่อขอให้มีการปรับหลักเกณฑ์การย้ายครูใหม่ โดยอยากให้ ก.ค.ศ.ได้กำหนดสัดส่วนการย้ายครูในรูปแบบที่เหมาะสม เช่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) มีตำแหน่งครูว่างอยู่จำนวน 100 ตำแหน่ง ก็ควรจะกำหนดสัดส่วนให้ชัดเจนว่าในจำนวนตำแหน่งว่างดังกล่าวจะใช้บัญชีของผู้ที่สอบขึ้นบัญชีได้จำนวนเท่าไหร่ และรับย้ายอีกจำนวนเท่าไหร่ เป็นต้น

“สำหรับการปรับสัดส่วนการย้ายครู เพื่อให้เกิดความเหมาะสมนั้น เนื่องจาก สพฐ.ได้รับการร้องเรียนจากบัณฑิตครูที่เพิ่งจบการศึกษาใหม่ถึงประเด็นการย้ายครู เพราะกลุ่มเด็กจบใหม่มองว่าเมื่อตัวเองสอบแข่งขันเพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในตำแหน่งครูผู้ช่วยของเขตพื้นที่นั้นๆแล้วก็อยากจะมีโอกาสได้รับการเรียกบรรจุบ้าง เพราะเมื่อมีตำแหน่งครูว่างกลับพบว่า บางเขตพื้นที่การศึกษากำหนดการรับย้ายครูในระบบเกือบ 100% ทำให้กลุ่มผู้สอบขึ้นบัญชีได้เหล่านี้ที่ต้องรอเรียกบรรจุจนบางครั้งบัญชีที่สอบขึ้นก็หมดอายุ ดังนั้น เราจึงต้องการเปิดโอกาสให้เด็กจบใหม่ได้รับการบรรจุเป็นครูบ้างด้วยการกำหนดสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อโรงเรียนได้มีทั้งครูเก่าและครูใหม่ได้ย้ายและได้บรรจุอย่างเท่าเทียม ซึ่ง ก.ค.ศ.อาจกำหนดสัดส่วนที่เหมาะสม เช่น รับย้ายกลับ จำนวน 40 คน และเรียกบรรจุอีก 60 คน เป็นต้น โดยถือเป็นการถ่ายเลือดใหม่ให้โรงเรียนได้ครูรุ่นใหม่เข้ามาช่วยบูรณาการการจัดการศึกษาได้อย่างหลากหลายมากขึ้น” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว.