MIT Sloan School of Management สถาบันบริหารธุรกิจเอ็มไอทีสโลน เป็นสถาบันการศึกษาระดับโลก สังกัด MIT (Massachusetts Institute of Technology) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลกเช่นเดียวกัน ได้มาเปิด สำนักงาน MIT Sloan ที่กรุงเทพฯ เมื่อต้นเดือนนี้จากการชักนำของ คุณชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ศิษย์เก่าเอ็มไอที ก่อนหน้านี้ธนาคารกรุงเทพเคยร่วมกับเอ็มไอทีจัดประชุมระดับภูมิภาคเรื่อง การพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน และ การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ มาแล้ว

นายเดวิด คาโพดิลูโป ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายโปรแกรมระดับโลก สถาบันบริหารธุรกิจเอ็มไอทีสโลน เปิดเผยว่า สำนักงานบริหารธุรกิจเอ็มไอทีสโลนแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งตั้งที่ กรุงเทพ มหานคร นับเป็น สำนักงานแห่งที่ 2 นอกสหรัฐฯของเอ็มไอที ประเทศไทยจึงควรได้ประโยชน์จากการตั้งสำนักงานในไทยของ MIT มากที่สุดในอาเซียน

ผมเพิ่งอ่าน วารสารการเงินธนาคาร ฉบับพฤศจิกายน ซึ่งไป สัมภาษณ์ ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดคุยถึง อนาคตของจุฬาฯ มหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของไทย อันดับ 57 ของเอเชีย อันดับ 229 ของโลก ก็ได้ฟังคำตอบที่น่าทึ่งว่า “หลังจากที่ MIT เข้ามาจัดตั้งออฟฟิศในไทยแล้ว จะมีการประกาศ Sister University ซึ่งคงจะเป็นจุฬาฯ โดยจะทำเป็นหลักสูตรปริญญาโทเกี่ยวกับนวัตกรรมที่ทำร่วมกันระหว่างคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ เมื่อเรียนจบปริญญาโทที่คณะบัญชีฯ หรือวิศวฯแล้ว ไปต่อประกาศนียบัตรที่ MIT ได้เลย นี่เป็นครั้งแรกที่เราได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ใน 5 ของโลก คาดหวังว่าจะเกิดขึ้นได้ในปี 2568” นี่คือ 1 ใน 4 ยุทธศาสตร์ “CU111” ของจุฬาฯ ในอีก 4 ปีข้างหน้า

และยังได้หารือกับ เอกอัครราชทูตจีน เพื่อให้จุฬาฯมีความร่วมมือ กับ มหาวิทยาลัยชิงหัว และ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่อันดับ 1 ใน 10 ของโลก

“เราต้องอาศัยความเป็นที่ 1 ของจุฬาฯ และเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ให้เป็นประโยชน์ คนจีนที่ไม่สามารถไปเรียนต่อที่สหรัฐฯได้เพราะความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เราก็จะยื่นมือไปที่ Oxford และ Cambridge ให้มา ร่วมมือกับเรา เพื่อรับนักเรียนต่างชาติที่เป็นระดับท็อปให้มาเรียนกับเรา”

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีนี้มีอายุ 107 ปีแล้ว ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นิสิตเก่าจุฬาฯ อดีตรองนายกฯ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ เพิ่งเข้ามาเป็นนายกสภาฯจุฬาฯ ได้เล่าถึง ยุทธศาสตร์ใหม่ของจุฬาฯ ในอีก 4 ปีข้างหน้า ซึ่งตั้งชื่อว่า CU111 ว่า มี 4 ยุทธศาสตร์ เพื่อนำพาจุฬาฯไปสู่มหาวิทยาลัยระดับสากล ไม่ใช่แค่ที่ 1 ในประเทศไทย

1.ยุทธศาสตร์ด้าน AI กำหนดให้จุฬาฯต้องเป็น AI University ปัจจุบันได้จัดตั้ง “สถาบัน AI” เรียบร้อยแล้ว เพื่อดึงทุกคณะมาใช้เอไอ และกำหนดให้บุคลากรของจุฬาฯต้องมี Human Ready AI หรือ ศักยภาพที่พร้อมสำหรับเอไอด้วย (MIT ที่จะร่วมกับจุฬาฯได้รับการจัดอันดับเป็น มหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของโลกด้าน AI Studies ปี 2024)

2.ยุทธศาสตร์ด้าน Internationalization การนำจุฬาฯ เข้าสู่สากล เชื่อมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก เช่น MIT Oxford Cambridge อย่างที่เล่าไปแล้ว

3.ยุทธศาสตร์ด้าน Sustainability หรือความยั่งยืน อยาก เห็นจุฬาฯมี Climate Education เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

4.ยุทธศาสตร์ด้าน Social Engagement หรืองานเพื่อสังคม เพื่อพัฒนาชุมชนให้ดีขึ้น เช่น การปิดสยามสแควร์เดือนละ 1 ครั้ง ให้ผู้พิการ นิสิตนำสินค้าไปออกร้าน ปิดถนนบรรทัดทอง ทำเป็น Walking Street ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และ อาคารนิมิบุตร จะทำเป็นที่แสดงคอนเสิร์ตและให้เยาวชนประชาชนมาจัดแสดงศิลปะดนตรี เป็นต้น

นี่คือ โฉมใหม่จุฬาฯใน 4 ปีข้างหน้า แบบย่อๆ แต่ล้ำหน้าอย่างชัดเจน.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม