23-24 พ.ย.นี้ ประชาชน 4 จังหวัด เตรียมใช้สิทธิเลือกตั้งนายก อบจ. จับตาอุดรธานี ศึกแห่งศักดิ์ศรี วัดพลังพรรคเพื่อไทย-พรรคประชาชน
วันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง กำหนดวันเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดในหลายพื้นที่รวม 4 จังหวัด ซึ่งในวันเสาร์ที่ 23 และวันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน 2567 โดยมีผู้สมัครของแต่ละพื้นที่ ดังนี้
วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2567
เลือกตั้งนายก อบจ.สุรินทร์ มีผู้สมัคร ประกอบด้วย
- หมายเลข 1 นางธัญพร มุ่งเจริญพร
- หมายเลข 2 นายพรชัย มุ่งเจริญพร
- หมายเลข 3 นางนัทธมน ศิริวัฒนวานิช
- หมายเลข 4 นายภัทรพล หงษ์สูง
- หมายเลข 5 นายฉลอง สัตตรัตนามัย
ทั้งนี้ นายพรชัย มุ่งเจริญพร ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งนายก อบจ.สุรินทร์ ก่อนครบวาระ และยังเป็นบ้านใหญ่สายตรง นายเนวิน ชิดชอบ ประธานบริหารสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่น่าแปลกคือ ตระกูลมุ่งเจริญพร มีผู้สมัคร 2 คน อีกคนคือ นางธัญพร มุ่งเจริญพร ซึ่งเป็นสะใภ้ของตระกูลลงชิงเก้าอี้นี้ด้วย คงต้องจับตาต่อไปว่า 5 ผู้สมัครใครจะเป็นผู้ชนะในตำแหน่งในครั้งนี้
วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน 2567
เลือกตั้งนายก อบจ.เพชรบุรี
- หมายเลข 1 นายชัยยะ อังกินันทน์ อดีตนายก อบจ.เพชรบุรี
- หมายเลข 2 นายกฤษณ์ แก้วอยู่ อดีต สส.เพชรบุรี
เลือกตั้งนายก อบจ.นครศรีธรรมราช
- หมายเลข 1 กนกพร เดชเดโช อดีตนายก อบจ.นครศรีธรรมราช ลงสมัครในนามกลุ่มพลังเมืองนคร โดยได้รับการสนับสนุนจาก นายชัยชนะ เดชเดโช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
- หมายเลข 2 วาริน ชิณวงศ์ นักธุรกิจด้านการเกษตร และอดีตประธานหอการค้าจังหวัดและคณะกรรมการหอการค้าแห่งประเทศไทย ปัจจุบันเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทย ลงสมัครในนามกลุ่มนครเข้มแข็ง
- หมายเลข 3 อาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ อดีต สส.นครศรีธรรมราช เขต 3 พรรคพลังประชารัฐ ลงสมัครในนามกลุ่มนครก้าวหน้า
- หมายเลข 4 สัณหพจน์ สุขศรีเมือง อดีต สส.นครศรีธรรมราช เขต 2 และอดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ลงสมัครในนามกลุ่มนครก้าวใหม่
เลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี
- หมายเลข 1 นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครในนามพรรคประชาชน อดีตประธานสภาทนายความจังหวัดอุดรธานี 2 สมัย และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จังหวัดหนองบัวลำภู
- หมายเลข 2 นายศราวุธ เพชรพนมพร อดีต สส.อุดรธานี 4 สมัย สังกัดพรรคเพื่อไทย
- หมายเลข 3 นายดนุช ตันเทอดทิตย์ หัวหน้าพรรครวมพลัง ลงสมัครในสังกัดกลุ่มวิถีใหม่
สำหรับพื้นที่ จ.อุดรธานี นายวิเชียร ขาวขำ ยื่นลาออกจากนายก อบจ.อุดรธานี ก่อนหมดวาระ เนื่องจากมีปัญหาสุขภาพ อีกทั้งเป็นพื้นที่ที่ถูกจับตาอย่างมากในการสู้ศึกของพรรคเพื่อไทย เนื่องจาก นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ปราศรัยขอคะแนนให้กับ นายศราวุธ ด้วยตัวเอง ในฐานะผู้ช่วยหาเสียง ขณะที่พรรคประชาชน ก็มีทั้ง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์, นายชัยธัช ตุลาธน อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล รวมถึง นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ช่วยหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งนี้เช่นกัน โดยในวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้ ต้องติดตามว่าผู้สมัครคนใดจะรับชัยชนะ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าการเลือกตั้งนายก อบจ. ทั้ง 4 จังหวัดนี้ จะเปิดหีบลงคะแนนตั้งแต่ 08.00-17.00 น. จากนั้นจึงจะเริ่มตรวจนับคะแนน โดยผลที่ออกมาจะเป็นคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งจะต้องรอคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรับรองอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
ขั้นตอนการลงคะแนนเลือกตั้ง
1. ตรวจสอบรายชื่อ และลำดับที่จากบัญชีรายชื่อ ที่ประกาศไว้หน้าที่เลือกตั้ง
2. ยื่นหลักฐานแสดงตน เช่น บัตรประจำตัวประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้) หรือ บัตรหรือหลักฐานที่ทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชน ต่อคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) พร้อมลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือในบัญชีรายชื่อ
3. รับบัตรเลือกตั้ง ลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือลงที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ได้แก่ บัตรเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด
4. เข้าคูหาลงคะแนนทำเครื่องหมายกากบาท (X) ลงในช่องทำเครื่องหมาย โดยบัตรเลือกตั้งนายก อบจ. เลือกผู้สมัครได้ 1 คน หากไม่ต้องการเลือกผู้สมัครผู้ใดให้กากบาทในช่องไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด
5. นำบัตรเลือกตั้งที่พับเรียบร้อยแล้วหย่อนใส่ลงในหีบบัตรเลือกตั้งด้วยตนเอง.
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ