ดราม่าแม่หยัว วางยาสลบแมว หมอชี้ อาการตัวกระตุก ชักเกร็ง เกิดจากภาวะขย้อนอาหาร มีโอกาสที่เศษอาหารจะอุดกั้นระบบหายใจ หากสัตว์มีภาวะแฝง “ตับ-ไต” อาจเสียชีวิตเฉียบพลัน ห่วงวงการบันเทิงไทยควรยกระดับ ไม่ให้เกิดการทารุณสัตว์อีก
กลายเป็นประเด็นดราม่า ละครเรื่อง แม่หยัว จน #แบนแม่หยัว ขึ้นติดเทรนด์ของ X ทันที ด้วยมีฉากหนึ่งที่มีแมวดำกินน้ำที่ผสมยาพิษ ชักกระตุกและนิ่งไป จนมีคนตั้งข้อสังเกตถึงผลกระทบที่สัตว์จะได้รับ หลังจากนั้นผู้กำกับได้ออกมาอธิบายบนโลกโซเชียล และได้ขอโทษว่า ได้วางยาสลบจริง แต่อยู่ในการดูแลของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ
แต่ชาวโซเชียลยังไม่หยุดตั้งข้อสังเกต ว่าแมวดำที่นำมาโชว์ว่า น้องยังมีชีวิตและสบายดี เป็นตัวเดียวกับที่นำมาเข้าฉากหรือไม่ ขณะเดียวกัน มีการเรียกร้องถึงสวัสดิภาพสัตว์ ที่นำมาเข้าฉาก และไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นอีก
ในมุมของการแพทย์ การวางยาสลบแมว เพื่อนำมาเข้าฉากในการถ่าย จะส่งผลกระทบต่อสัตว์หรือไม่ ทีมข่าวสอบถามไปยัง สพ.ญ.ภัทรนันท์ สัจจารมย์ สัตวแพทย์จากมูลนิธิวอชด็อก ไทยแลนด์ ให้ความเห็นว่า กรณีวางยาสลบแมวเพื่อเข้าฉาก เป็นเรื่องที่ประชาชนส่วนใหญ่เพิ่งรู้ เพราะเพิ่งมีการเปิดเผย ปกติแวดวงวิชาชีพสัตวแพทย์ จะไม่นิยมวางยาสลบสัตว์ และเป็นการผิดจรรยาบรรณในการวางยาสลบ เพื่อแสวงหาประโยชน์กับสัตว์
การยาวางสลบสัตว์ มีผลกระทบ ดังนี้
– ทำให้ความดันตก
– อัตราการเต้นหัวใจต่ำลง
– อุณหภูมิร่างกายจะตก
– สัตว์สายพันธุ์ที่หน้าสั้น โพรงจมูกแคบมีโอกาสเสี่ยง
– ยาสลบมีผลต่อการกดระบบทางเดินหายใจ ทำให้การหายใจช้าลง
ผลข้างเคียงจากการวางยาสลบแมว
– แมวชักกระตุก เกิดจากภาวะขย้อนอาหาร
– ยาสลบทำให้เกิดการบีบตัวของหลอดอาหาร
– การขย้อนของแมวในภาวะนั่งตะแคง เสี่ยงที่อาหารจะลงย้อนลงสู่ลำคอ จนอุดกั้นทางเดินหายใจเสียชีวิต
– อาการนี้เจอได้ในสัตว์ที่ถูกกลุ่มยานำสลบ
– ปกติใช้ยานำสลบก่อน เมื่อสัตว์มีอาการสงบก่อนให้ยาสลบ
การป้องกัน-ผลข้างเคียงระยะยาว
– ถ้าวางยาสลบ ต้องมีการให้น้ำเกลือไปยังเส้นเลือดดำไว้ก่อน ถ้าเกิดภาวะฉุกเฉินจะให้ยาได้ทันที
– หากให้ยาสลบ โดยไม่ได้ให้น้ำเกลือ ถ้าเกิดภาวะฉุกเฉิน การตอบสนองต่อยาจะต่ำ
– สัตว์ที่วางยาสลบ ถ้ามีค่าตับ-ไต ไม่ปกติแฝงในร่างกาย ต้องไปถ่ายเลือด มีโอกาสตายสูง
มองผลร้ายต่อสัตว์ หวังยกมาตรฐานการถ่ายทำ
“สพ.ญ.ภัทรนันท์” มองว่า แม้กองถ่ายมีการออกมาให้ความเห็นว่า มีการให้แมวอดอาหารก่อนให้ยาสลบ แต่ต้องมองไปที่ความจงใจ เพราะถ้าเป็นการให้ยาสลบเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากสัตว์ ถือว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์ แต่ประเด็นที่เกิดขึ้น ไม่ได้ทำเพื่อการรักษาสัตว์
การทารุณกรรมสัตว์ ไม่ได้มีผลกระทบกับร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่มีผลไปถึงสภาพจิตใจ ในทางกฎหมาย ผู้ที่ร่วมกระทำความผิดในการทารุณสัตว์ มีโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท จำคุกไม่เกิน 2 ปี กรณีที่ผู้กระทำไม่ได้มีวิชาชีพแพทย์ และใบประกอบโรคศิลป์ แต่ถ้ามีแพทย์รู้เห็น จะมีการลงโทษเกี่ยวกับจรรยาบรรณวิชาชีพ
ยื่นอธิบดีกรมปศุสัตว์ ตรวจสอบใช้สัตว์เพื่อการแสดง
ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) กล่าวว่า ได้รับข้อร้องเรียนจากประชาชนเป็นจำนวนมากถึง ซีรีส์ “แม่หยัว” ตอนที่ 5 กับฉาก แมวถูกวางยา โดยมีภาพปรากฏว่า “แมวมีอาการตัวกระตุก ชักเกร็ง มีอาการคล้ายขย้อนอาหาร แล้วก็นอนแน่นิ่ง” นำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์ตั้งคำถาม ในสังคมวงกว้าง ถึงกระบวนการถ่ายทำว่ามีการใช้ยาสลบกับแมว รวมทั้งมีสัตวแพทย์ดูแลควบคุมและปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการสัตวแพทย์ หรือไม่อย่างไร รวมทั้งสภาพปัจจุบันแมวตัวดังกล่าวเป็นอย่างไรบ้าง และกรณีนี้เข้าข่ายทารุณกรรมหรือการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่อย่างไร
เพื่อให้เกิดความกระจ่างและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย สมาคมฯและองค์กรเครือข่าย จึงขอความอนุเคราะห์จากท่านอธิบดีกรมปศุสัตว์ ช่วยดำเนินการ
1. ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีดังกล่าว ว่าเข้าข่ายการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์หรือไม่ พร้อมกับบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และแจ้งผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อสาธารณชนโดยเร่งด่วน
2. ประกาศกำหนดเรื่องการจัดสวัสดิภาพสัตว์เพื่อใช้เพื่อการแสดง ตามวัตถุประสงค์ ชนิด ลักษณะ สภาพและอายุของสัตว์ ตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ประกอบกับ ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขนส่งสัตว์ หรือการนำสัตว์ไปใช้งานหรือใช้ในการแสดง พ.ศ.2562 .
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ