หนังสือชีวประวัติพุทธอุบาสิกา (มูลนิธิพ่อนวล แม่พัว ทรงฤกษ์ พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ.2560) ช่วยฟื้นความจำมืดมัว สมัยเรียนพระธรรมบท (หลักสูตรเปรียญ) ของผมให้สว่างขึ้นอีกครั้ง

จำเนียร ทรงฤกษ์ ผู้เรียบเรียง เป็นพี่มหาที่เจ้าเณรเปี๊ยกรักนับถือมาก ตอนที่อยู่วัดดาวดึงษ์ บางยี่ขัน แปลเรื่องนางสามาวดี จากธรรมบทแบบรักษาต้นฉบับบาลีเดิม สำนวนภาษาไทยงามและง่าย…ได้ทั้งเนื้อหาสาระและสนุก

อยากบอก เรื่องนี้เป็นนิยายน้ำเน่าระดับมหากาพย์ สมัยพุทธกาลที่หาอ่านยาก

นางสามาวดี เป็นหนึ่งในสามอัครมเหสีพระเจ้าอุเทน กรุงโกสัมดี องค์ที่พระทัยดีนับถือพระพุทธเจ้าแน่นแฟ้นมั่นคง ขณะนางมาคันทิยา อัครมเหสีอีกองค์รับบทนางอิจฉา เคยมีเรื่องแค้นฝังใจกับพระพุทธองค์ มาก่อน

แค้นของหญิงงามใดไหนจะเท่าแค้นที่ถูกดูแคลน พระธรรมบทเล่าว่า พราหมณ์พ่อหลงรูปงามของลูกสาวนักหนา ไม่ยอมยกเธอให้หนุ่มใดเพราะเห็นว่าไม่คู่ควร แต่เมื่อพ่อขอยกให้พระพุทธเจ้า

ทรงปฏิเสธด้วยเหตุผล ความงามของนางมาคันทิยา ในสายตาพระองค์ เหมือนขี้เหมือนเยี่ยว

นับแต่นั้น นางมาคันทิยาก็ผูกอาฆาต เมื่อวาสนาชะตาขึ้นเป็นอัครมเหสีพระเจ้าอุเทน ได้คิว 7 วันจากพระองค์เท่าอัครมเหสีด้วยกัน นางมาคันทิยาพยายามใช้เล่ห์กลมารยาสารพัน ใส่ร้ายนางสามาวดี

แต่ตอนแรกๆ บุญยังรักษา รอดมาได้เพราะพระเจ้าอุเทนไม่เชื่อ

สุดท้าย นางมาคันทิยาใช้ไม้ตาย ขอเศรษฐีผู้เป็นอา เผาวังฆ่าหมู่นางสามาวดีตายพร้อมบริวาร 500

พระเจ้าอุเทน ซึ่งเล่นบทเหรอหราตามประสาพระเอก พลิกบทฉลาดซ่อนเล่ห์ ยิ้มหานางมาคันทิยา ขอบพระทัยที่ช่วยฆ่านางสามาวดี แก้ความขัดข้องพระทัย…

ประกาศชักชวนเอาคนวางแผนรวมเหล่าญาติมารับรางวัล งานนี้มีคนติดสินบนขอรับรางวัลด้วยหลายคน

และรางวัลนั้น ก็คือ จับทุกคนลงหลุมครึ่งเอว ปูฟางคลุมหัว ตัวนางร้ายมาคันทิยา เจอหนักกว่า ถูกเชือดเนื้อย่างไฟให้ตัวเองกิน ก่อนถูกเผาทั้งเป็นพร้อมบริวารร่วมการร้าย

เรื่องนางสามาวดี ในพระธรรมบท เหมือนหนังยาว ผมย่อพอเป็นเค้า เพราะตั้งใจย้ำตอนท้าย ธรรมเนียมเรื่องในพระธรรมบท จบลงด้วยการประชุมชาดก…เรื่องในชาตินี้ ที่เห็นๆกัน มีเหตุจากเรื่องในชาติที่แล้ว…ยังไง?

ชาติที่แล้ว กัปกัลป์พุทธันธรที่แล้ว สมัยพระเจ้าพรหมทัต กรุงพาราณสี นิมนต์ 8 พระปัจเจกพุทธเจ้าจากป่าหิมพานต์มาถวายอาหาร จบกิจนิมนต์พระ 7 องค์กลับหิมพานต์ เหลือองค์เดียว นั่งสมาบัติอยู่ในป่าริมแม่น้ำ

พระมเหสีกับบริวาร 500 ไปอาบน้ำ อาบแล้วบ่นว่าหนาว สั่งบริวารจุดไฟเผาป่าผิงเอาไอร้อน พอไฟมอดก็ตกใจ เห็นร่างพระปัจเจกโพธินั่งโด่…คิดว่าท่านตาย กลัวความผิดเข้าตัว

จึงช่วยกันหาไม้มาสุมไฟ ตั้งใจเผาให้ตายจริงๆ เพื่อกลบหลักฐาน

พระมเหสีกับบริวารกลับแล้ว ถึงเวลาพระปัจเจกพุทธเจ้า ท่านมีฤทธิ์คุ้มตัว แค่อุ่นๆเท่านั้น ก็เลิกสมาบัติเหาะกลับป่าหิมพานต์ แต่ผลกรรมจากความตั้งใจเผาจริง ทำให้พระมเหสีไปตกนรกหมกไหม้นานแสนนาน

กว่าจะกลับมาเป็นพระนางสามาวดี ใช้กรรมถูกเผาจริง ในชาติสุดท้าย

แต่จะคุ้มกับตำแหน่ง อัครมหาอุบาสิกา ที่ยอดเยี่ยมทางความเมตตา…แบบที่ชาวพุทธปลื้มกันแค่ไหน อย่างไร คิดกันเอาเองก็แล้วกัน

ชาวพุทธทั่วไป ถูกสอนให้เชื่อว่ากรรมตามไล่ล่าแบบไม่ลดละ นางสามาวดีใช้กรรมมาหลายชาติ จนถึงชาติหลัง นางมาคันทิยา ใช้กรรมแบบทันตาในชาตินี้

ข้อดีของความเชื่อแบบนี้ อย่างน้อยก็ช่วยผ่อนความห่อเหี่ยว ความเศร้า จากหนักเป็นเบาลงได้บ้าง อย่าตีโพยตีพายกันเกินเลยไป กลัวกันถึงขั้น ห้ามเด็กนั่งรถไปทัศนศึกษา เป็นเรื่องโง่

ผมว่านะ สอนแบบให้เด็กโง่จนตาย น่ากลัวกว่ายอมให้เด็กตายก่อนรู้ว่าโง่.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม