“เขื่อนเจ้าพระยา” จำเป็นต้องปรับการระบายเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นขั้นบันได แตะ 2,200 ลบ.ม ขณะที่มวลน้ำทางภาคเหนือที่เพิ่มสูงขึ้นรายชั่วโมง ท่วมบ้านเรือนประชาชนกว่า 20 หลังคาเรือน
วันที่ 6 ต.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาน้ำสูงขึ้น เนื่องจากฝนที่ตกลงมาทั่วทุกพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคกลางตอนบน ทำให้เขื่อนเจ้าพระยามีจำเป็นต้องปรับการระบายเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นขั้นบันได เพื่อลดระดับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนสำหรับรองรับปริมาณน้ำจากแม่น้ำน่านและแม่น้ำยมให้ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาได้โดยเร็วที่สุดและได้มีการทยอยระบายน้ำออกจากทุ่งลุ่มต่ำต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเพาะปลูกในช่วงเดือน พ.ย. 2567 ด้วย
สำหรับปัจจุบันที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ที่ 2,383 ลบ.ม./วินาที ที่เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท มีปริมาณน้ำทางด้านเหนือเขื่อนอยู่ที่ 17.32 เมตร/รทก. เพิ่มขึ้นต่อเนื่องรายชั่วโมง มีปริมาณน้ำทางด้านท้ายเขื่อนอยู่ที่ 14.97 เมตร/รทก. เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 15-30 เซนติเมตร ซึ่งระดับน้ำห่างจากตลิ่งอยู่ 1.37 เมตร/รทก. เท่านั้น และเขื่อนเจ้าพระยามีอัตราการระบายน้ำผ่านเขื่อนอยู่ที่ 2,150 ลบ.ม./วินาที การระบายดังกล่าว ส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เพิ่มสูงขึ้น 10-30 ซม. ในบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ ดังนี้
1. คลองโผงเผง จ.อ่างทอง
2. คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา
3. ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย)
4. วัดสิงห์ อ.อินทร์บุรี และ อ.เมือง อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี
5. วัดไชโย อ.ไชโย จ.อ่างทอง ขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ จากมวลน้ำทางภาคเหนือที่เพิ่มสูงขึ้นรายชั่วโมง ส่งผลให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้คันดินกั้นน้ำบริเวณ ม.4 ต.ธรรมามูล มีน้ำเอ่อไหลทะลักคันดินเริ่มเข้าบ้านเรือนประชาชนแล้วกว่า 20 หลังคาเรือน แต่ระดับน้ำไม่สูงมากนัก สูงประมาณ 30-100 ซม. แล้วแต่พื้นที่ ทางชาวบ้านเร่งขนเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องมือทำมาหากินขึ้นชั้น 2 เพื่อความปลอดภัยลดความเสียหาย
ทางด้าน เทศบาลตำบลธรรมามูล ได้สั่งการให้ทางกองช่างนำรถแบ็คโฮขุดลอก เพื่อนำดินมาถมตรงคันดินเพิ่มในส่วนที่สามารถซ่อมแซมและยังสามารถกั้นน้ำได้ พร้อมเตรียมช่วยเหลือประชาชนหากเกิดน้ำท่วม ซึ่งไม่เพียงแต่คนเท่านั้นที่ขนของหนีน้ำท่วมและได้รับผลกระทบ ไส้เดือนเองก็ลำบากเช่นกัน เนื่องจากน้ำที่ไหลบ่าเข้ามาอย่างรวดเร็วจนไม่มีที่อยู่ ไส้เดือนเป็นร้อยๆ ตัวต้องหนีตายมาอยู่ที่ลานใต้ถุนบ้าน
ขณะที่ นายอ่อน ธรรมา อายุ 78 ปี เผยว่า รอบนี้น้ำมาเร็ว แต่ไม่แรง เพราะคันดินแถบบ้านตนนั้นต่ำ ส่วนบ้านคันดินสูงยังไม่เอ่อเข้าท่วม ซึ่งพอเขื่อนต้องระบายเกิน 2,000 ลบ.ม./วินาที ครั้งไหนก็ท่วมชุมชนหมู่ 4 ต.ธรรมามูล อยู่แล้ว เพราะน้ำเหนือมาเยอะทุกครั้ง ทางนี้ต้องรับน้ำก่อนส่งต่อไปเขื่อนเจ้าพระยา ส่วนไส้เดือนก็เป็นภาพที่เห็นจนชินตา ไม่ได้ไล่ไม่ได้ฆ่าเพราะมันไม่มีพิษภัยอะไร อยู่ร่วมกันไปตามธรรมชาติ.
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ