สั่งฟันวินัย-อาญา 7 ตำรวจจราจร ทำร้ายผิดคน เล็งเข้าข่าย พ.ร.บ. อุ้มหาย อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานส่ง ป.ป.ช. รรท.ผบช.น.สั่ง บก.จร. งดตั้งจุดตรวจทั้งหมดไปก่อน

วันที่ 12 กรณี 7 ตำรวจจราจร สังกัดกองกำกับ 1 บก.จร. ก่อเหตุร่วมกันทำร้ายร่างกายคนขับรถมาสด้าสีแดง นายธนานพ อายุ 33 ปี ลูกชาย พ.ต.ท.ธนชัย อายุ 61 ปี อดีต สว.กก.2 บก.ปทส. เกษียณอายุราชการ ได้รับบาดเจ็บสาหัส เหตุเกิดเมื่อช่วงดึก วันที่ 4 ธ.ค. ที่ผ่านมา บริเวณใกล้ด่านตรวจบริเวณซอยประเสริฐมนูกิจ 21 แขวงเสนานิคม เขตจตุจักร กทม. เจ้าหน้าที่เข้าใจผิดว่า นายธนานพ เป็นคนขับรถมาสด้าสีแดงแหกด่านตรวจ แต่ปรากฏว่าเป็นการจับกุมผิดตัวนั้น

ความคืบหน้าที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 12 ธ.ค. 67 พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รองผบช.น. เปิดเผยว่า พล.ต.ท.สยาม บุญสม รรท.ผบช.น. สั่งการให้มีการตรวจสอบกรณีดังกล่าวอย่างละเอียดไปยังผู้บังคับบัญชาของตำรวจทั้ง 7 นายว่ามีการตั้งด่านถูกต้องหรือมีส่วนสั่งการในเรื่องดังกล่าวหรือไม่ หากพบการกระทำความผิดให้ดำเนินการทั้งทางวินัยและทางอาญาทันที

ล่าสุดกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) บก.จร. ได้ลงนามคำสั่งกองบังคับการตำรวจจราจรที่มีคำสั่งที่ 584/2567 ลง 4 ธ.ค.67 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อดำเนินการทางวินัยอย่างร้ายแรงกับ ร.ต.อ.ทวีพงษ์ อืดทุม กับพวกรวม 7 นาย และมีคำสั่งที่ 587/2567 ลง 6 ธ.ค.67 ให้ ร.ต.อ.ทวีพงษ์ฯ กับพวกรวม 7 นาย ออกจากราชการไว้ก่อน

สำหรับการดำเนินการทางอาญานั้นพนักงานสอบสวน สน.บางเขน ได้รับคำร้องทุกข์ไว้เป็นคดีอาญาที่ 2295/2567 โดยบก.น.2 ได้มีคำสั่งที่ 288/2567 แต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนเพื่อรับผิดชอบทำการสอบสวนคดีดังกล่าว เบื้องต้นมีการสอบปากคำผู้บาดเจ็บ พยานบิดา มารดา และน้องสาว รวม 4 ปาก และสอบปากคำ สว.ผู้ควบคุมจุดตรวจ และตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ รวม 2 ปาก

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ที่ผ่านมา ตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ ตำรวจทั้ง 7 นาย ทราบว่ากระทำความผิดฐาน “เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ” ตำรวจทั้ง 7 นาย ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

อย่างไรก็ตามในส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ (พ.ร.บ.อุ้มหาย) ได้มีหนังสือแจ้งพนักงานอัยการเพื่อทราบและพิจารณาข้อเท็จจริงว่าเป็นความผิดหรือไม่ ขณะนี้พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้น และได้ส่งสำนวนการสอบสวนไปให้สำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการตามกฎหมายแล้วเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.67

สำหรับการดำเนินคดีกับนายธนายุทธ ผู้ขับรถยนต์เก๋ง มาสด้า 2 สีแดง ที่ฝ่าจุดตรวจในวันเกิดเหตุนั้น ทางศาลแขวงพระนครเหนือ พิพากษาจำคุก 2 เดือน ปรับ 15,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี และให้พักใบอนุญาตขับขี่ 6 เดือน

พล.ต.ต.นพศิลป์ กล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินการกับผู้บังคับบัญชาของตำรวจทั้ง 7 นาย ทางบก.จร.ได้มีคำสั่งที่ 584/2567 ลง 4 ธ.ค.67 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อดำเนินการทางวินัยอย่างร้ายแรงกับ ร.ต.อ.ทวีพงษ์ อืดทุม กับพวกรวม 7 นาย ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวจะต้องทำการสอบสวนว่าผู้บังคับบัญชาตามคำสั่ง ตร. ที่ 1212/2537 ได้มีการปล่อยปละละเลยหรือไม่อย่างไร

สำหรับผู้ควบคุมการตั้งจุดตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติทุกนาย รวมทั้งกรณี ร.ต.อ.ทวีพงษ์ อืดทุม ซึ่งอยู่ระหว่างเข้ารับการอบรมหลักสูตรสารวัตร แต่มาปฏิบัติหน้าที่ตั้งจุดตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในวันเกิดเหตุ ทาง บก.จร. ได้มีคำสั่งที่ 592/2567 ลง 12 ธ.ค.67 แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงในส่วนของการตั้งจุดตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาปฏิบัติหน้าที่ ณ จุดตรวจถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายหรือไม่

รวมถึงกรณีมีการร้องเรียนว่าจุดตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์มีการเรียกรับผลประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย รรท.ผบช.น. ได้เรียกตำรวจจราจรทั้ง 88 สน. และ บก.จร. มากำชับการปฏิบัติเกี่ยวกับการตั้งจุดตรวจในพื้นที่ กทม. ให้เป็นไปตามแนวทางที่ ตร. กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

สำหรับ บก.จร. ได้สั่งให้งดการตั้งจุดตรวจทั้งหมดไปก่อน โดยให้กลับไปทบทวนยุทธวิธีในการปฏิบัติให้ถูกต้อง หากผู้ใดพบเห็นให้แจ้งเบาะแสมายัง บช.น. ผ่านศูนย์วิทยุ 191 และได้ทุกช่องทาง ผู้บังคับบัญชาจะดำเนินการทางวินัยอย่างเด็ดขาด.