45 องค์กรจี้ กมธ.สันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ ตาม 7 จำเลยคดีตากใบ มาดำเนินคดี ขณะที่ “ภูมิธรรม” ติดภารกิจ ไม่มาแจง ให้ มทภ.4 แจงแทน ยอมรับห่วงมือที่สาม สวมรอยซ้ำสร้างสถานการณ์ ด้าน “จาตุรนต์” ชี้อาจจะไม่สามารถดำเนินคดีกับใครได้เลย แต่จะหาทางสร้างสันติภาพ
วันที่ 24 ต.ค. 2567 ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 10.00 น. มีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษา และเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพ เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กมธ.สันติภาพ จชต.) ที่มีนายจาตุรนต์ ฉายแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธาน กมธ. ที่ได้เชิญนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมที่กำกับดูแลหน่วยงานด้านความมั่นคง, นายฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ, ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า) เพื่อพิจารณาศึกษา และวิเคราะห์กรณีคดีตากใบกับการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพ และการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้
ก่อนการประชุมตัวแทนเครือข่าย 45 องค์กรยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงเรียกร้อง 1.ขอให้นายกฯ ช่วยกำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจับกุมจำเลยทั้ง 7 คนในคดีตากใบและส่งตัวจำเลยขึ้นสู่ศาลนราธิวาส 2.ขอให้ รมว.มหาดไทยกำชับพนักงานปกครอง ให้จับกุมจำเลยทั้ง 7 คนตามหมายศาลโดยเร่งด่วน และส่งตัวจำเลยขึ้นศาลนราธิวาส 3.ขอให้ ผบ.ตร.กำชับตำรวจทั่วประเทศจับกุมจำเลยทั้ง 7 คนส่งศาลนราธิวาส ให้ทันวันที่ 25 ต.ค. นี้ 4.ขอให้ กมธ.ศึกษากรณีที่เกิดขึ้น และเสนอแนวทางสร้างสันติภาพ ไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาตากใบและปัญหาอื่นๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 5.หากรัฐล้มเหลวในการนำตัวจำเลยขึ้นสู่ศาล จะเป็นตราบาปแต่รัฐบาลยังสามารถทำต่อด้วยกลไกอื่นเช่น ขอให้ ครม.แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความจริง มีอำนาจหน้าที่คล้ายกับคณะกรรมการ Truth and Reconciliation ของแอฟริกาใต้ เพราะสามารถเชิญจำเลยทั้ง 7 และผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่เป็นอดีตข้าราชการมาให้ความจริงแก่คณะกรรมการฯ ว่ามีบทบาทอย่างไรในกรณีตากใบ หากยอมรับว่าได้ทำความผิด ก็สามารถขอโทษและชดเชยต่อผู้ถูกกระทำหรือต่อญาติผู้ถูกกระทำได้
ส่วนกรณีที่จำเลยใดไม่ให้ความร่วมมือแก่คณะกรรมการอิสระฯ ให้ ครม.งดเงินบำนาญ หรือถอดยศจำเลยนั้นได้ และขอให้ ครม.มีมติให้หน่วยราชการในพื้นที่ให้ความร่วมมือกับญาติของผู้เสียชีวิตในกรณีตากใบ จัดพิธีรำลึกเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นประจำทุกปี รวมถึงพิธีละหมาดฮายัดเพื่อขอพรและขอสันติสุข ทั้งนี้ สามารถปรึกษาหารือกับผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในการจัดหาสถานที่ และการจัดให้มีสัญลักษณ์ที่เหมาะสมด้วย
“ภูมิธรรม” ติดภารกิจ ไม่มาแจง ให้ มทภ.4 แจงแทน
จากนั้นเริ่มการประชุม นายจาตุรนต์ ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า นายภูมิธรรม ติดภารกิจด่วน ได้มอบหมายให้ พล.ต.ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาค 4 เข้ามาชี้แจงแทน และ พล.ท.ไพศาล มีภารกิจต่อจึงขอชี้แจงเป็นคนแรก นอกจากนี้ยังเชิญ เลขาฯ สมช. ซึ่งท่านก็มาด้วยตนเอง และยังมีตัวแทนจาก กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้ามาด้วย
“พล.ท.ไพศาล” เผย “รมว.กห.” ย้ำป้องกันเหตุไฟใต้
พล.ท.ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาค 4 ให้สัมภาษณ์ภายหลังชี้แจงในการประชุม กมธ. ว่า ส่วนใหญ่ในที่ประชุมไม่ได้สงสัยคดีตากใบ แต่ถามถึงแนวทางการรับมือ หากคดีหมดอายุความ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการประท้วง หรือความรุนแรงในพื้นที่ ซึ่งตนก็ได้เรียนให้ทราบว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้เน้นย้ำว่า ให้ดูแลในพื้นที่ไม่ให้เกิดเหตุ และในส่วนการกระทำต่างๆ ขอให้อยู่ในกรอบของกฎหมายที่สามารถจะทำได้ ทั้งนี้ กมธ. ห่วงว่า หากคดีหมดอายุความในวันที่ 25 ต.ค.นี้ แนวโน้มจะเกิดเหตุการณ์ต่างๆ สิ่งที่ห่วงใยคือ อาจมือที่สามจะมาสวมรอย ตนชี้แจงว่า ได้ขอความร่วมมือจากผู้นำท้องถิ่น และหน่วยงานความมั่นคง และได้มีการควบคุมพื้นที่ไม่ให้เกิดเหตุ สำหรับการดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ทั่วไปทำอยู่แล้ว แต่อาจจะยกระดับความปลอดภัยให้สูงขึ้น
ยอมรับห่วงมือที่สาม สวมรอยซ้ำสร้างสถานการณ์
เมื่อถามถึงการประเมินสถานการณ์ในพื้นที่ของกลุ่มเคลื่อนไหวก่อความไม่สงบในพื้นที่อย่างไร พล.ท.ไพศาล กล่าวว่า ขบวนการเหล่านี้ได้มีการสร้างสถานการณ์ หล่อเลี้ยงสถานการณ์กันไว้แล้ว ที่เหลือเป็นการขับเคลื่อนของมวลชน และประชาชนในพื้นที่ ส่วนในลำดับต่อไปหวังว่าการขับเคลื่อนต่างๆ ให้อยู่ในกรอบกฎหมายที่สามารถทำได้ เพราะห่วงเรื่องมือที่สาม ที่จะมาก่อเหตุร่วมกับสถานการณ์นี้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีสถานการณ์อะไรที่น่าวิตกกังวล
“กมธ.สันติภาพสภาฯ” เรียก “มทภ.4” แจง ยอมรับผิดพลาด
ต่อมาเมื่อเวลา 14.30 น. นายจาตุรนต์ แถลงหลังการประชุมกมธ.ฯ ถึงกรณีคดีตากใบที่จะหมดอายุความในวันที่ 25 ต.ค. นี้ ว่า เราได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการช่วยติดตามแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดจากคดีตากใบกำลังจะหมดอายุความ และอาจจะไม่สามารถดำเนินคดีกับใครได้เลย แต่จะหาทางสร้างสันติภาพ และแก้ไขปัญหาความขัดแย้งจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป โดยแม่ทัพภาคที่ 4 ชี้แจงยอมรับว่า เหตุการณ์ตากใบเป็นความผิดพลาดในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น โดยฝ่ายตรงข้ามใช้ความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ในการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐ จึงต้องการใช้กระบวนการยุติธรรมเปิดเผยความจริง นอกจากนี้ได้กำชับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามกฎหมาย ขณะนี้มีเจ้าหน้าที่ 2 รายในคดีที่ยังอยู่ในราชการ กำลังพยายามติดตามตัวให้มาต่อสู้คดีในศาล
กำชับสั่ง ทพ.48 หยุดคุกคามผู้ยื่นฟ้องคดีฯ
นอกจากนี้ กมธ.ยังกังวลกรณีหน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 48 ไปเยี่ยมเยียนประชาชนที่เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีตากใบในคดีนี้บางคน ใน อ.สุไหงปาดี และ อ.เจาะไอร้อง ทำให้ชาวบ้านรู้สึกถูกคุกคาม จึงขอความร่วมมือจากกองทัพภาคที่ 4 รับรองความปลอดภัย และยุติปฏิบัติการเหล่านั้น ซึ่งรักษาการราชการแทนเลขาฯ สมช. ได้รับปากไปสื่อสารไม่ให้เกิดขึ้นอีก ทางกมธ.ฯ สอบถามกองทัพภาคที่ 4 ถึงการเตรียมรับมือควบคุมประชาชนที่ชุมนุมโดยสันติ เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียผิดพลาดในอนาคต พล.ท.ไพศาล ชี้แจงว่า หน้าที่หลักในการควบคุมประชาชนในที่ชุมนุม เป็นของตำรวจ ที่ได้รับการอบรมเรื่องนี้ ซึ่งตนให้ข้อสังเกตว่า เมื่อมีการสนธิกำลังหลายส่วน จะมีปัญหาเรื่องความรับผิดชอบว่า ใครเป็นผู้คุมสถานการณ์หลัก และใครเป็นผู้รับผิดชอบ หรือใครจะชี้แจงกับสาธารณะเพื่อให้ประชาชนเชื่อถือในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ ฝากแม่ทัพภาคที่ 4 ไปพิจารณาปรับปรุงเรื่องนี้เพื่อให้การใช้กระบวนการยุติธรรมเกิดความยุติธรรม
รมว.กห.ฝากกำชับรับมือ 4 ข้อหลัง 25 ต.ค.
ส่วนทางเลขาฯ สมช. ชี้แจงว่า รัฐบาลในอดีตได้กล่าวคำขอโทษ และเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บในเหตุการณ์ตากใบแล้ว ส่วนตำรวจก็พยายามติดตามตัวจำเลยอย่างเต็มที่ กระบวนการยุติธรรมเดินหน้าไประดับหนึ่ง ทั้งนี้นายภูมิธรรม มีข้อสั่งการให้เฝ้าระวังการก่อเหตุ ติดตามตัวผู้กระทำผิด และยกระดับการเตรียมการเพื่อรับมือการชุมนุมโดยเคารพสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบรักษาความปลอดภัย และป้องกันมือที่สาม และเตรียมมาตรการ 4 ด้าน หลังวันที่ 25 ต.ค.เป็นต้นไป คือ 1.สถานการณ์น่าจะมีการก่อเหตุรุนแรงมากขึ้น ต้องเฝ้าระวังพื้นที่เข้มข้นมากขึ้น 2.กำชับหน่วยปฏิบัติให้มีการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 เคร่งครัด ห้ามซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัย 3.เยียวยาทางจิตใจผู้ได้รับผลกระทบในเหตุการณ์ตากใบนอกเหนือจากที่เคยดำเนินการมาก่อนหน้านี้ 4.รัฐจะเดินหน้าขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยและการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ชงฟื้นคุยสันติภาพพ่วงลดใช้กฎหมายพิเศษใน จชต.
นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า ส่วนกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ทางสมช.จะเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะพูดคุยสันติสุขตามกรอบของรัฐธรรมนูญ ภาครัฐยินดีเปิดพื้นที่แสดงออกทางการเมืองอย่างสร้างสรรค์ นอกจากนี้ทางผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยฝ่ายมาเลเซีย มีความจริงจังอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในรอบหลายปีที่ผ่านมา ขณะที่ฝ่ายไทยกำลังพิจารณาลดการใช้กฎหมายพิเศษ และอาจใช้กฎหมายอื่นแทน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีการแยกกลุ่มผู้เห็นต่างเพื่อหามาตรการที่เหมาะสมตามลักษณะที่แตกต่างกัน กมธ.ฯ จึงฝากว่า ควรต้องรีบสรุปประเด็นจากเหตุการณ์ตากใบ ตั้งแต่ขั้นตอนการควบคุมการชุมนุม หรือการดูแลผู้ชุมนุม การดำเนินคดีให้เกิดความยุติธรรม เพราะผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบ เป็นบาดแผลสำคัญของสังคมไทยมากยิ่งขึ้น และอาจไม่สามารถดำเนินคดีใครได้เลย ก่อนที่คดีจะหมดอายุความ ที่สำคัญต้องทำให้กระบวนการยุติธรรมสามารถให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะประชาชน เพื่อฟื้นความไว้วางใจต่อกระบวนการยุติธรรมกลับมา
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ