สังคมยุคใหม่อยู่ยากขึ้นทุกวันโดย เฉพาะเยาวชนไทยต้องถูกล้อมรอบด้วยหลุมดำล่อลวงให้ติดกับอบายมุขมอมเมาทั้งบุหรี่สุรายาเสพติด การพนัน กัดกร่อนต้นทุนชีวิตให้สูญเสียอนาคตอย่างช้าๆ

กลายเป็นว่า “เยาวชนยุคใหม่” ต้องใช้ชีวิตเผชิญสิ่งยั่วยุที่อาจถลำตัวเดินไปในทางที่ผิดได้ง่าย ผศ.ดร.ศรีรัช ลาภใหญ่ คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล วิเคราะห์กลยุทธ์การตลาด และผลิตภัณฑ์ 4 ปัจจัยเสี่ยงว่า

โลกกำลังเปลี่ยนไปเร็ว “เด็กไทยต้องเผชิญกับความเสี่ยงใหม่ๆ” เสมือนเป็นกับดักอันตรายใกล้ตัวหากผู้ใหญ่ละเลยเมินเฉยกับ 4 หลุมพรางในสังคมไทยนี้ “เยาวชนไทยก็อาจตุยก่อนโต” ไม่มีวันเติบโตทั้งทางร่างกาย และจิตใจได้อย่างสมบูรณ์แบบ หากไม่สามารถก้าวข้ามพ้นกับดัก 4 หลุมดำในสังคมเหล่านี้ไปได้

สำหรับหลุมดำแรก…“บุหรี่ไฟฟ้าประเภทใช้แล้วทิ้ง” ที่ถูกออกแบบให้ตอบโจทย์เด็กเยาวชนด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่เลียนแบบดูแล้วน่ารัก เช่น เลียนแบบตุ๊กตา ของเล่น ขนม นมกล่อง ขวดน้ำอัดลม กล่องน้ำผลไม้ ไอศกรีมแท่ง โมเดล หรือการเลียนแบบของสะสม ตัวการ์ตูนดังๆ
มาผลิตเป็นเคสใส่บุหรี่ไฟฟ้าเกิดขึ้นในสังคมมากมาย

ตัวอย่างบุหรี่ไฟฟ้าประเภทซอลนิคถอดแบบได้เหมือน “เครื่องดื่มน้ำอัดลม” ที่ปรากฏพบการวางขายในทุกแพลตฟอร์มบนออนไลน์กว่า 459 ร้านค้า และวางจำหน่วยในตลาดโจ๋งครึ่ม 15 แห่งทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล

แถมขาย 99-159 บาท อันเป็นราคาเด็กเยาวชนจับต้องซื้อง่ายใช้งานได้อย่างน้อย 3 เดือน สิ่งนี้อันตรายมากมีส่วนผสมสารนิโคติน 5% ที่มาพร้อมกับรสชาติ กลิ่นหอม สีสันสวยงามยั่วยวนใจชวนให้เยาวชนอยากลองมากขึ้น

ทั้งยังมีบุหรี่ไฟฟ้า TOYPOD เลียนแบบตุ๊กตา ของเล่น ตัวการ์ตูนที่เรียกว่า “การ์ตูนตัวร้าย” ทำเหมือนกล่องขนม ขวดน้ำผลไม้เลียนแบบสมจริงทั้งรูปร่างหน้าตา ขนาด สีสัน แต่มีนิโคตินสูงกระทบสมองเด็กวัยเรียนรุนแรง

ล่าสุดปรากฏข่าวว่า “เด็กอายุ 7–9 ขวบเริ่มใช้บุหรี่ไฟฟ้า” เพราะกลยุทธ์การตลาดของธุรกิจบุหรี่ไม่ได้ขายเป็นแบบมวนอีกต่อไปแต่ถูกออกแบบให้กลมกลืนตัวตุ๊กตาจนไม่รู้ว่า “เป็นบุหรี่ไฟฟ้า” อันมีเป้าหมายเจาะจงเด็กเยาวชนโดยตรง ดังนั้นพ่อแม่ และโรงเรียนต้องคอยเฝ้าระวังบุหรี่ไฟฟ้าแปลงร่างเหล่านี้ที่เป็นอันตรายต่อเด็กด้วย

หลุมดำที่สอง…“กัญชาเสรี” นับวันยิ่งจะปรากฏพบผ่านบนช่องทางออนไลน์ในการแข่งขันการตลาด จัดโปรโมชันไม่ว่าจะเป็นกัญชาพันลำ หรือกัญชามวนสำเร็จรูป ราคาถูกมีให้เลือกหลากหลาย ส่งฟรี เก็บเงินปลายทาง ช็อปออนไลน์ 24 ชม. อย่างกรณีทวิตเตอร์หนึ่งจัดโปรเปิดร้านใหม่ขาย 10 ตัว ราคา 300 บาท

นอกจากนี้ยังวางขายทั่วไป “ในตลาดบางแห่งเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล” แล้วก็ส่งเสริมการขายกัญชา ลด แลก แจก แถม 10 มวน แถม 2 พันลำ พร้อมขายพร้อมส่ง 24 ชม. ทั้งทาง Grab และขนส่งเอกชนด้วยซ้ำ

หลุมดำที่สาม “การพนัน” ปัจจุบันรูปแบบการพนันมุ่งเป้าเด็กเยาวชนด้วยการส่งเสริมการตลาดเน้นยิงโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ “เลือกเล่นเดิมพันได้ตั้งแต่ 5 บาท” สามารถค้นหาบนออนไลน์ที่จะปรากฏขึ้นมามากมาย

ข้อสังเกต “ธุรกิจพนันออนไลน์” มีการปรับเปลี่ยนวาทกรรมคำว่า “การลงทุน” แล้วใช้กลยุทธ์การตลาดภาพการ์ตูนมาเป็นตัวหลอกล่อหากดูผิวเผินจะเหมือน “เกมออนไลน์ธรรมดา” แต่ความจริงเป็นการสร้างรูปแบบพนันสล็อตให้เหมือนกับการเล่นเกมการ์ตูน “เพื่อดึงดูดใจเด็ก” แถมยังให้ทดลองเล่นฟรีก่อนด้วย

อย่างเช่น “สล็อตชูก้าป็อบ (Sugar Pop)” ที่กำลังนิยมในเด็กเยาวชน “พ่อแม่” ควรต้องระมัดระวังสอดส่องดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด “เวลาเล่นโทรศัพท์มือถือ” เพื่อไม่ให้หลุดตกเป็นเหยื่อการพนันเหล่านี้

กับดักหลุมดำสุดท้ายคือ “เหล้ากระป๋อง” ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์รูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “ค็อกเทลกระป๋อง” ถูกออกแบบให้มีสีชมพูน่ารักสีสันมุ้งมิ้งกินง่ายแถมขายแค่ 20 บาท อันเป็นราคาที่เยาวชนซื้อได้ง่ายตามร้านค้าสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้าทั่วไป แต่ท่ามกลางความสวยนี้กลับมีส่วนผสมแอลกอฮอล์สูง 4-5%

ทำให้เห็นว่า “ธุรกิจบาปใช้รูปการ์ตูนแทรกเข้าทุกมหันตภัย” จนเกิดคำถามจะทำอย่างไรไม่ให้เด็กตกหลุมพรางเหล่านี้ ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย ศูนย์พัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ บอกว่า

ตามข้อมูล 4 หลุมดำที่เด็กเยาวชนไทยมักตกหลุมพรางอย่าง “บุหรี่ไฟฟ้า” มีเด็กอายุ 13-15 ปี สูบกันถึงร้อยละ 17.6 แล้วอายุต่ำสุด 1 ขวบ 7 เดือน “เหล้า” จากผลสำรวจเด็กอายุ 15-19 ปี ดื่มเหล้าร้อยละ 10 หรือ 387,986 ราย ในจำนวนนี้ 25% เป็นนักดื่มประจำแล้วดื่มครั้งแรกอายุ 10-15 ปีมากที่สุด และเริ่มดื่มอายุต่ำสุด 8 ขวบ

กลายเป็นกระทบต่อสมองนำไปสู่โรคซึมเศร้าตามมามากมาย “การพนัน” เด็กอายุ 15-18 ปี เข้าถึงการพนันมากกว่า 10 ล้านคนจำนวนนี้ติดพนัน 1 แสนคน และอายุต่ำสุด 6 ขวบ “กัญชา” เริ่มพบเด็กมัธยมฯใช้กัญชา 12% โดยเฉพาะกลุ่มนอกระบบการศึกษา47.6%และนักศึกษา ป.ตรี 17.1% เมื่อเป็นแบบนี้ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร

ถ้าเจาะลงมาดู “อำนาจในการเสพติด” ไม่ว่าจะเป็นนิโคติน แอลกอฮอล์ กัญชา หรือยาบ้า ในช่วงอายุ 15-24 ปี จะมีระดับการเสพใกล้เคียงกันอยู่ที่ 10-25% แต่เมื่อระดับอายุมากอำนาจจำนวนการเสพติดก็ค่อยๆลดน้อย ยกเว้นนิโคตินยังคงมีระดับการเสพติดสูงต่อเนื่อง แม้จะอยู่ในช่วงอายุ 45-54 ปี ก็ยังมีจำนวนผู้เสพถึง 30-35%

ทำให้นิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าเทียบเท่ากับสารเสพติดชนิดหนึ่งแล้ว “มีเด็กไทย 7 ใน 10 เสพติดนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าจนเลิกไม่ได้ไปตลอดชีวิต” เพราะสมองเด็กเรียนรู้เร็วกว่าผู้ใหญ่จึงเสี่ยงเสพติดได้ง่าย

ไม่เท่านั้น “การสูบบุหรี่ยังมีพฤติกรรมเสี่ยงอื่นร่วม” อย่างเยาวชนสูบบุหรี่ 100 คน คาดว่า 88 คนจะกินเหล้า 66 คนเที่ยวกลางคืน 67 คนเคยมีเพศสัมพันธ์ 10 คนใช้สารเสพติด และ 40 คนเล่นพนัน เมื่อเทียบกับเด็กไม่สูบบุหรี่ 25 คนจะกินเหล้า 21 คนชอบเที่ยวกลางคืน 18 คนเคยมีเพศสัมพันธ์ 0.6 คนใช้สารเสพติด 12 คนเล่นการพนัน

“เกิดคำถามต่อว่าหลุมดำนี้ใครจะเป็นคนขุดแล้วใครจะเป็นคนกลบ ไม่ว่าจะเป็น สส.ในสภาฯผู้ออกกฎหมาย ครม.ผู้มีอำนาจแก้ปัญหาอย่างบูรณาการให้เป็นระบบ พ่อแม่-ครูที่จะคอยตักเตือนสอนสั่งเฝ้าดูแลด้วยความห่วงใย หรือที่สุดแล้วเด็กเยาวชนจะต้องวนเวียนอยู่ในหลุมดำทรมานเป็นทุกข์ระทมไปตลอดชีวิต” ผศ.ดร.ลักขณาว่า

ฉะนั้นในวันเยาวชนแห่งชาติปี 2567 สสส.และภาคีเครือข่าย จึงจัดเวทีเสวนา 4 หลุมดำที่เด็กเยาวชนไทยอาจจะตกหลุม (พราง) เร่งสานพลังภาคีทำงานเชิงรุกร่วมกันทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมในการสร้างเกราะป้องกันเยาวชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อหลุมดำอบายมุขเหล่านี้…

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม